หวั่นปีหน้า ‘ประมงไทย’ โดนใบเหลือง EU ซ้ำ!

กรรมการนโยบายการประมงฯ สับ มาตรการประมง หลังพ้นใบเหลือง ปี 2562 ยังไร้ควบคุมสัตว์น้ำวัยอ่อน เอื้อประมงพาณิชย์ ‘เครือข่ายประมงพื้นบ้าน’ ย้ำต้องประกาศคุ้มครองสัตว์วัยอ่อน ตาม ม.57 หลัง ‘กรมประมง’ อ้างผลรับฟังความเห็น ระบุชัด ยังไม่จำเป็นต้องควบคุม  

วันนี้ (25 พ.ย.65) สมาคมรักษ์ทะเลไทย, สมาคมสมายพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย และเครือข่ายประมงพื้นบ้าน จัดเวทีเสวนาสาธารณะ อภิปรายข้อเท็จจริง สถานการณ์ปลาทูไทย สัตว์น้ำวัยอ่อน ผลผลิต และตลาดสัตว์น้ำวัยอ่อน

โดยข้อมูลจากสมาคมรักษ์ทะเลไทย ซึ่งเปิดเผยอยู่ภายในงาน พบว่า ผลผลิตสัตว์น้ำทะเลไทย มวลรวม ปี 2563 อยู่ที่ประมาณ 1.4 ล้านตัน และในปี 2564 อยู่ที่กว่า 1.3 ล้านตัน แต่พบว่าผลผลิตที่เป็นอาหารให้กับผู้บริโภคได้จริงมีจำนวนลดลงเรื่อย ๆ โดยในปริมาณผลการจับทั้งหมดมีปลาเป็ด อัตราเฉลี่ย 25-30% ซึ่งเป็นสัตว์น้ำคุณภาพต่ำถูกส่งเข้าสู่โรงงานอาหารสัตว์ และในปริมาณปลาเป็ดนั้นพบการปนเปื้อนของสัตว์น้ำเศรษฐกิจสูงมากขึ้น



นอกจากนี้ยังพบการทำประมงแบบตั้งใจจับสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อน เพื่อนำมาแปรรูปวางขายตามท้องตลาด กลายเป็นผลผลิตที่จากสัตว์น้ำคุณภาพต่ำ ราคาถูก ส่งผลให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะหากคำนวณมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยต้องสูญเสียไปจากการจับสัตว์น้ำวัยอ่อน คาดว่ามีปริมาณการปนเปื้อนของสัตว์น้ำวัยอ่อน รวมกันไม่ต่ำกว่า 300,000 ตัน โดยมีมูลค่าเฉลี่ยแค่กิโลกรัมละ 5-10 บาท ตีเป็นมูลค่าประมาณ 1,500 ล้านบาท แต่หากสัตว์น้ำวัยอ่อนได้มีโอกาสโตเต็มวัย จะสร้างมูลค่าได้นับแสนล้านบาท ที่สำคัญคือทำให้ประชาชนได้บริโภคอาหารทะเลคุณภาพด้วย เช่นกันกับอีกตัวชี้วัด คือ ประมาณปลาทูที่ลดลงต่อเนื่อง จากที่เคยจับได้หลายแสนตันในช่วง ปี 2557 เหลือเพียง กี่หมื่นตันในปี 2563

จี้รัฐเดินหน้าควบคุมขนาดสัตว์น้ำวัยอ่อน

วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ยอมรับว่า หากสถานการณ์ของอาหารทะเลไทย ยังอยู่ในภาวะเช่นนี้ ผู้บริโภคยิ่งมีโอกาสเข้าถึงอาหารทะเลคุณภาพน้อยลง และแม้ตลอดช่วงหลายปีมานี้ ภายหลังจากไทยสามารถปลดใบเหลือง ได้ตั้งแต่ ปี 2562 พร้อมด้วยมาตรการควบคุมต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ไม่รายงานข้อมูล และไร้การควบคุม เช่น ควบคุมจำนวนเรือประมง, จัดการเรือประมงผิดกฎหมาย, ให้โควต้าจับสัตว์น้ำแบบจำนวนวัน, กำหนดปริมาณการจับ แต่ในทางกลับกันตัวเลขผลผลิตทางการประมงลดลงต่อเนื่อง และยิ่งน่ากังวลมากขึ้นเมื่อพบกรณีการจับปลาเป็ดในอัตราสูงต่อเนื่อง และเชื่อว่าสถานการณ์จะรุนแรงขึ้นหากรัฐบาล ยังไม่กำหนดมาตรการคุ้มครองสัตว์น้ำวัยอ่อน ตามมาตรา 57 พ.ร.บ.การประมง ปี 2558

“ไทยมีมาตรการทางกฎหมาย และมีนโยบายรัฐ เพื่อควบคุมการทำประมง หลายรูปแบบ ตั้งแต่การกำหนด ควบคุมเรือประมง วิธีทำประมง เครื่องทำประมง เขตการประมง กำหนดขนาดของอวน การปิดอ่าวในฤดูวางไข่ ซึ่งสถานการณ์จับสัตว์น้ำวัยอ่อน จะแย่ลงเรื่อย ๆ หากรัฐบาลยังปล่อยให้การจับสัตว์น้ำวัยอ่อนถูกกฎหมาย ไร้การควบคุม”

วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี
เพราลัย นุชหมอน รักษาการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการจัดการประมง กรมประมง

‘กรมประมง’ ชี้ผลรับฟังความเห็น ‘ไม่จำเป็น’ ต้องบังคับใช้ ม.57

ด้าน เพราลัย นุชหมอน รักษาการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการจัดการประมง กรมประมง เปิดเผยว่า การรับฟังความเห็น ใน 22 จังหวัดก่อนหน้านี้ ได้ข้อสรุปว่า ตัวแทนประมงพื้นบ้าน และประมงพาณิชย์ ไม่เห็นด้วยกับการประกาศควบคุมขนาดสัตว์น้ำวัยอ่อน ตามมาตรา 57 ส่วนใหญ่ให้เหตุผล ในประเด็นของ “ชนิดสัตว์น้ำ” ว่า เครื่องมือประมงส่วนใหญ่ไม่สามารถเลือกจับสัตว์น้ำได้ โดยมีข้อเสนอให้ควรใช้มาตรการนี้กับสัตว์น้ำที่ใกล้สูญพันธุ์ ประเด็น “ขนาดสัตว์น้ำ” ระบุว่า ปัจจุบันได้ควบคุมการจับสัตว์น้ำขนาดเล็ก โดยกำหนดขนาดตาอวนอยู่แล้ว จึงไม่เห็นความจำเป็นต้องบังคับใช้มาตรา 57 โดยเสนอให้ควรใช้มาตรการอื่นเพื่อควบคุมการจับสัตว์น้ำขนาดเล็ก เช่น กำหนดขนาด, ตาอวน, มาตรการปิดอ่าว, กำหนดเขตอนุรักษ์

ส่วนประเด็น “สัดส่วนของสัตว์น้ำขนาดเล็กที่ห้ามนำขึ้นเรือประมง” ระบุว่า การตรวจสอบไม่สามารถปฏิบัติได้จริง เนื่องจากมีปริมาณสัตว์น้ำที่ต้องสุ่มตรวจจำนวนมาก กำลังเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ เกิดความล่าช้า กรณีตรวจสัตว์น้ำหน้าท่า โดยมีข้อเสนอให้กำหนดสัดส่วนของปลาทู-ลัง แยกตามชนิดของเครื่องมือ

“ประมงที่ไม่เห็นด้วยกับการประกาศใช้มาตรา 57 ยังบอกว่าการบังคับใช้จะทำให้ยิ่งสูญเสียการใช้ประโยชน์จากการทิ้งสัตว์น้ำขนาดเล็ก การบังคับใช้ไม่สอดคล้องกับวิถีการทำประมง ในขณะที่ความผิดตามมาตรา 57 มีโทษหนัก รุนแรง จึงต้องคิดอย่างรอบคอบ”

เพราลัย นุชหมอน
รศ.ธนพร ศรียากูล กรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ


เชื่อ ‘ประมงไทย’ โดนใบเหลืองอีกรอบ

ขณะที่ รศ.ธนพร ศรียากูล กรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ยอมรับ ว่าสถานการณ์จับสัตว์น้ำวัยอ่อนในลักษณะการเลือกจับปลาเป็ด หรือที่เรียกว่าจับแบบล้างผลาญยังคงเกิดขึ้น ในขณะที่เครือข่ายประมงพื้นบ้าน พยายามเรียกร้องให้บังคับใช้กฎหมาย เพื่อควบคุมขนาดสัตว์น้ำวัยอ่อน ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าจะเป็นทางรอดให้กับการฟื้นคืนทรัพยากรในท้องทะเลไทย แต่กรมประมง ไม่เคยรับฟัง ตรงกันข้ามถ้าเป็นทางฝั่งของประมงพาณิชย์ กลับรับฟังเสียงสะท้อนต่าง ๆ เป็นอย่างดี

“ประมงพื้นบ้านอยู่นอกสายตาผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนี้ ไม่มีใครสนใจ ถ้าการควบคุมการทำประมง ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการปกป้องสัตว์ทะเล แต่กลับเห็นความสำคัญของธุรกิจ ประมงพาณิชย์ ผมมั่นใจเลยว่าในเดือนมิถุนายน ปี 2566 ที่ EU จะลงมาประเมินการทำประมงไทย จะทำให้เราโดนใบเหลืองอีกรอบล้านเปอร์เซ็นต์

รศ.ธนพร ศรียากูล

กรรมการนโยบายการประมงฯ ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า เพราะเหตุใด อธิบดีกรมประมงจึงยังไม่ลงนามในประกาศกรมประมง เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดทำวิธีการส่งรายงาน สมุดบันทึกการทำการประมงและวิธีส่งรายงานสมุดบันทึกการทำการประมงของเรือประมงพาณิชย์ พ.ศ.2565 ซึ่งสาระสำคัญของประกาศฉบับนี้ จะทำให้เรือประมงพาณิชย์ ต้องบันทึกน้ำหนักของสัตว์น้ำที่จับได้ และต้องคลาดเคลื่อนจากการชั่งน้ำหนักสัตว์น้ำหน้าท่าไม่เกิน 20-30% หากพบความคลาดเคลื่อนผิดจากเกณฑ์ที่กำหนด อาจเท่ากับการทำประมงอย่างไม่ตรงไปตรงมา

“ร่างประกาศฉบับนี้ จัดทำเสร็จมาตั้งแต่เดือนก่อน แต่อธิบดีกรมประมงยังไม่ลงนาม ทำให้เข้าใจได้ว่า ประกาศฉบับนี้อาจไปกระทบต่อประมงพาณิชย์ เพราะหมายความว่าจากนี้น้ำหนักของสัตว์น้ำที่จับได้ ต้องถูกบันทึก และต้องคลาดเคลื่อนจากการตรวจสอบน้ำหนักหน้าท่าให้น้อยที่สุด แต่ที่ผ่านมาพบ เรื่อประมงระบุน้ำหนักที่น้อยกว่าความเป็นจริง มากกว่า 30% ซึ่งน้ำหนักส่วนต่างที่คลาดเคลื่อนไป อาจมาจากการจับปลาที่ผิดจากวัตถุประสงค์ของเรือ ซึ่งหมายถึงปลาเป็ดที่จับมาแบบล้างผลาญ ดังนั้นหากร่างประกาศกรมประมง ฉบับนี้บังคับใช้ได้ อย่างน้อย ก็เป็นการเข้มงวดเรือประมง ให้ต้องเลือกจับสัตว์น้ำ หรือเปลี่ยนเครื่องมือจับสัตว์น้ำที่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้ได้สัตว์น้ำผิดจากเงื่อนไขที่ระบุ สิ่งนี้น่าจะช่วยลดความเสี่ยงการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนได้ ในช่วงที่เรายังไม่มีกฎหมายมาควบคุมขนาดสัตว์น้ำที่ห้ามจับ”

รศ.ธนพร ศรียากูล

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active