เดินหน้ากิจกรรม “ทวงคืนน้ำพริกปลาทู“ รณรงค์หยุดจับสัตว์น้ำวัยอ่อน

เครือข่ายประมงพื้นบ้านล่องเรือ จากหาดปะนาแระ จ.ปัตตานี ถึง เจ้าพระยา  หวังสร้างการรับรู้ทุกภาคส่วน ดึงภาคนโยบายออกมาตรการหนุนเสริมหยุดการตัดวงจรชีวิตสัตว์ทะเลให้ลดน้อยลง

วันนี้ ( 27 พ.ค.65 ) ที่หาดปะนาเระ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี สมาคมรักษ์ทะเลไทย, สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมรณรงค์ “ทวงคืนน้ำพริกปลาทู- หยุดจับ หยุดซื้อ หยุดขายสัตว์น้ำวัยอ่อน” เพื่อกระตุ้นทุกภาคส่วนได้หันมาใส่ใจและให้ความสำคัญต่อปัญหาการจับสัตว์น้ำวัยอ่อน

โดยได้ปล่อยขบวนเรือกอและ ติดป้ายรณรงค์ 5 ลำ จากหาดปานะเระ จ.ปัตตานี เป็นตัวแทนชาวประมงพื้นบ้าน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ในฝั่งอ่าวไทย ล่องเรือส่งไม้ต่อไปยังจังหวัดต่างๆ  ขณะที่ฝั่งอันดามัน และตะวันออก  ก็เตรียมปล่อยขบวนเรือรณรงค์  โดยมีเป้าหมายไปจนถึงแม่น้ำเจ้าพระยา หวังสร้างการรับรู้ความตระหนักทุกภาคส่วน ตั้งแต่ต้นทางคือชาวประมงซึ่งเป็นผู้ผลิต ,ตลาดผู้ประกอบการหรือผู้ขาย และผู้บริโภคในฐานะผู้ซื้อรวมถึงภาคนโยบายออกมาตรการหนุนเสริม

วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย บอกว่า มีข้อมูลสถิติงานวิชาการยืนยันชัดเจนว่า ปริมาณการจับสัตว์น้ำทะเลในปี 2564 ประมาณ 1,300,000 แสนตัน เกือบครึ่งถูกนำไปทำอาหารสัตว์ หรือปลาเป็ด และนำไปขายเป็นผลผลิตราคาต่ำในตลาดผู้บริโภค ซึ่งในจำนวนนี้ 60 % คือสัตว์น้ำวัยอ่อน 

โดย “ปลาทู” เป็นหนึ่งในตัวอย่างอาหารทะเลไทยที่กำลังหายไปอย่างน่าตกใจ จากที่เคยเป็นเมนูอาหารที่ผู้บริโภคเข้าถึงง่าย  อยู่คู่ครัวไทย ยอดฮิตอย่าง “น้ำพริกปลาทู” โดยมีผลผลิตการจับ “ปลาทูเต็มวัย” ในปีพ.ศ.2557 จับปลาทูได้ 128,835 ตัน และปริมาณ “ปลาทู” ลดลงอย่างต่อเนื่อง ในปี 2558 ลดลงเหลือ 48,522 ตัน, ในปี 2561 จับได้ 11,290 ตัน, ในปี 2562 จับได้ 24,374 ,และในปี 2561 จับได้เหลือเพียง 18,436 ตัน เท่านั้น

นอกจากปลาทูตัวเล็กแล้ว ยังพบสัตว์ทะเลวัยอ่อนอื่นๆ ถูกจับนำมาวางขายเป็นผลผลิตคุณภาพต่ำ ราคาถูก ในรูปแบบและชื่อเรียก ต่างๆ เช่น “ปลาทูแก้ว” (ตัวอ่อนของปลาทู ), “หมึกกะตอย (ตัวอ่อนของหมึกกล้วยปะปนอยู่มาก), “ปลากรอบทั้งตัว” (ตัวอ่อนของปลาอินทรี,จารเม็ด,หลังเขียว,ข้างเหลือง,สีกุน ฯลฯ) หรือที่มีราคาสูงอย่าง “ปลาข้าวสาร” (ตัวอ่อนของกะตัก), โดยที่ผู้บริโภคไม่มีโอกาสได้ตระหนักรู้ว่า แท้จริงเป็นการบริโภคอาหารทะเลที่มีผลกระทบต่อระบบโครงสร้างอาหารทะเลโดยตรง  ซึ่งส่งผลกระทบการเข้าถึงผลผลิตอาหารทะเลคุณภาพ และมูลค่าทางเศรษฐกิจ

“ลองคิดดู ถ้าเราขาย เราซื้อสัตว์น้ำวัยอ่อน 100 ตัว 1,000ตัว ต่อ 1 กิโลกรัม ได้ขายได้ซื้อกันราคาถูกจริง แต่ได้กินโปรตีนน้อยลง และตัดวงจรแทนที่จะได้เติบโตไปเป็นแม่พัน เป็นปลาตัวใหญ่ ขนาด 10 ตัวต่อกิโลกรัม อย่างปลาอินทรีย์ ตัวโตเต็มวัย ขายได้ราคาเป็นพัน ในขณะที่ผู้บริโภคได้กินอาหารมีคุณภาพ มีคุณค่าทางอาหารและโปรตีนมากขึ้น และมีความยั่งยืน“   

วิโชคศักดิ์  รณรงค์ไพรี  นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย 
วิโชคศักดิ์  รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย 

ด้าน สะมะแอ เจ๊ะมูดอ อดีตนายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย กล่าวว่า  ได้ขับเคลื่อนการเดินหน้าเพื่อการทำประมงยั่งยืนมากว่า 30 ปี แม้ทางด้านมาตรการกฎหมายและนโยบายภาครัฐมีการกำหนดควบคุม บุคคลที่จะมีสิทธิจับสัตว์น้ำ, มีการควบคุมเรือประมง, วิธีการทำการประมง, เครื่องมือประมง, เขตการประมง, งดการจับแม่พันธ์ฤดูวางไข่, และอื่นๆมากมาย แต่สถานการณ์ไม่ดีขึ้น กลับยิ่งแย่ลงเรื่อยๆ เนื่องจาก ยังไม่มีมาตรการทางกฎหมาย “ประกาศกำหนด” ขนาดของพันธ์สัตว์น้ำทะเลและสัดส่วนที่เหมาะควรในการทำการประมง กล่าวคือ รัฐ คือยังอนุญาตให้จับตัวอ่อนสัตว์น้ำได้อย่างถูกกฎหมาย

“ ประมงพื้นบ้านในหลายพื้นที่ รวมถึงประมงพื้นบ้านปานาเระ จ.ปัตตานี มีการทำประมงเพื่อการอนุรักษ์  มีโรงเรียนชาวเลทำการอนุรักษ์สัตว์น้ำวัยอ่อน เช่นธนาคารปู  มีข้อตกลงการทำประมง ทั้งเครื่องมือประมงที่ไม่ทำลายล้าง การกำหนดขนาดสัตว์น้ำที่เหมาะสมแก่การจับ แต่สิ่งที่ทำไปอาจได้ไม่เต็มร้อย  ยกตัวอย่างเราปล่อยลูกปูไป แต่ไม่มีมาตรการมาควบคุมห้ามจับสัตว์น้ำวัยอ่อน ก็อาจรอดจนโตเต็มวัยได้แค่ 50 % “ 

สะมะแอ เจ๊ะมูดอ อดีตนายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย
สะมะแอ เจ๊ะมูดอ อดีตนายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย

เครือข่ายประมงที่รณรงค์ในครั้งนี้ จึงคาดหวังว่า หากสามารถทำให้ ผู้จับ มีความตระหนัก และลดการจับตัวอ่อนสัตว์น้ำลง  ผู้ซื้อขาย (ตลาด) มีความตระหนักโดยช่วยมีนโยบายและลดการซื้อผลิตจากการประมงตัวอ่อนสัตว์น้ำลง   ผู้บริโภคมีความตระหนักและลดการบริโภคลง และประการสำคัญ “ภาครัฐ” ผู้กำหนดนโยบายและเป็นผู้นำในการสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเข้มแข็ง ตระหนักถึงปัญหาแล้วประกาศมาตรการควบคุม “การจับการซื้อขายตัวอ่อนสัตว์น้ำ” 

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหา จนสามารถเพิ่มปริมาณอาหารทะเลคุณภาพให้มากขึ้น ราคาอาหารทะเลลดลงระดับที่เหมาะสมผู้บริโภคทั่วไปเข้าถึงได้มากขึ้น, ผู้ผลิต มีรายได้เหมาะสมกับการลงแรง , ในระดับประเทศ จะมีรายได้เพิ่มขึ้น, ลดความยากจน บนหลักการการพัฒนาที่ยั่งยืน

ทั้งนี้จะมีการจัดกิจกรรมรณรงค์ “ ทวงคืนน้ำพริกปลาทู หยุดจับสัตว์น้ำวัยอ่อน ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค. – 5 มิถุนายน2565 โดยรณรงค์ล่องเรือ พร้อมทั้งมีกิจกรรมรณรงค์แต่ละพื้นที่ต่อเนื่องทั้งฝั่งอันดามัน อ่าวไทย ตะวันออกจนถึงแม่น้ำเจ้าพระยา 

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ