ยกเครื่องร่างกฎหมายประมง ฟื้นฟูทะเลไทย รักษาทรัพยากรให้ลูกหลาน

วงเสวนา เห็นพ้องร่างแก้​ กม.ประมงฉบับใหม่ ​เน้นกอบโกยทรัพยากรในทะเลไทย ไม่คุ้มครองเรือประมงขนาดเล็ก​ แนะรัฐบาลแก้ร่าง​ กม. มุ่งเน้นฟื้นฟูทะเลไทย เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ให้บรรลุเป้าหหมายการทำประมงที่ยั่งยืน

งานเสวนา “อนาคตประมงพื้นบ้านไทย ภายใต้เงากฎหมายใหม่” ที่จัดขึ้นโดยนักข่าวพลเมือง Thai PBSมีการแสดงความคิดเห็นถึงการแก้ไขกฎหมายประมง ผ่านร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ทั้ง 8 ฉบับที่เสนอโดยคณะรัฐมนตนรี (ครม.) และอีก 7 พรรคการเมือง หลังผ่านการรับรองจากรัฐสภา และอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ

ทั้งนี้วงเสวนามองว่า สาเหตุที่พรรคฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านเห็นพ้องร่วมกันที่จะแก้กฎหมายประมง เป็นเพราะสัตว์น้ำในทะเลปัจจุบันลดลงจำนานมากจากในอดีตที่เคยมีมากถึง 1.5 ล้านตัน ซึ่งยังหาสาเหตุไม่ได้ว่าเกิดจากอะไร อีกทั้งการแก้กฎหมายนี้ยังเป็นหนึ่งในนโยบายของพรรคการเมืองที่เคยหาเสียงไว้กับชาวบ้าน เพราะเชื่อว่าการทำประมงตามมาตรการไอยูยู (IUU) ของนานาชาตินั้น เป็นอุปสรรคของการทำประมงไทย และสร้างต้นทุนให้กับเอกชน

ร่างกฎหมายประมงฉบับใหม่ ปลดล็อกเครื่องมือทำลายล้างลดโทษปรับ

ขณะที่ร่างกฎหมายฉบับใหม่ยังมีการเปลี่ยนวัตถุประสงค์ ที่จากเดิมที่ระบุว่า เพื่อปกป้องประมงพื้นบ้าน และประมงท้องถิ่น เปลี่ยนเป็นปกป้องเรือประมงที่ถูกกฎหมายทุกชนิด ซึ่งรัฐบาลควรจะปกป้องเฉพาะเรืองประมงขนาดเล็ก รวมไปถึงการปลดล็อกเครื่องมือทำประมงทำลายล้างที่ไม่เคยมีการอนุญาตให้ใช้ในไทย คือ อวนล้อมจับปั่นไฟในเวลากลางคืน มีลักษณะรูตาข่ายขนาดเล็ก และมีความกว้างของการล้อมจับราว 500 เมตร ซึ่งสากลโลกไม่ยอมรับการทำประมงด้วยวีธีการนี้ อีกทั้งยังยกเลิกห้ามใช้อวนลากที่มาตาขนาดเล็ก

นอกจากนี้ยังมีบทลงโทษที่รุนแรงน้อยลง โดยในกฎหมายเดิมกำหนดบทลงโทษเรือประมงทำผิดกฎหมายต้องเสียค่าปรับ 5 เท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่กระทำความผิด แต่กฎหมายดังกล่าวไม่ได้เขียนด้วยความรัดกุม ทำให้เรือประมงชนิดอื่น ๆ ต้องรับบทลงโทษดังกล่าวด้วย ซึ่งในร่างกฎหมายฉบับใหม่จึงแก้บทลงโทษให้เบาลงเหลือปรับเงินไม่เกิน 3 เท่า แต่ก็ยังมีช่องโหว่เกิดขึ้น เพราะไม่ได้กำหนดว่าต้องจ่ายค่าปรับขั้นต่ำเท่าไหร่ ซึ่งอาจเอื้อให้มีการทำประมงแบบทำลายล้างกลับมาอีกครั้ง

การคุ้มครองสิทธิชาวประมงขนาดเล็ก จำเป็นต้องครอบคลุมไปถึงคนที่มีเรือประมงและไม่มีเรือประมง เพราะบางคนมีอาชีพเก็บสัตว์ทะเลตามชายหาดจึงไม่จำเป็นต้องมีเรือประมง แต่ร่างกฎหมายใหม่นี้นิยามเรือประมงขนาดเล็กว่า เป็นเรือที่ต้องทำประมง และมีขนาดไม่เกิน 10 ตันกรอส

ดึงประชาชนทุกภาคส่วนร่วมตัดสินใจ สร้างความมั่นคงให้ลูกหลานในอนาคต

ไทยควรทำตามกรอบข้อตกลงความร่วมมือระหว่างไทยกับสหประชาชาติด้านประมงขนาดเล็ก ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องดำเนินการ คือ การแก้ไขความยากจน ส่งเสริมการเข้าถึงการใช้ทรัพยากร ดึงทุกภาคส่วนให้เข้ามามีส่วนร่วมตัดสินใจ ให้ความสำคัญกับหลักธรรมาภิบาล มีมาตรการดูแลทุกคนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ให้ชาวประมงสร้างเข้าถึงข้อมูลที่ดี มีองค์ความรู้ และเข้าใจในระบบนิเวศ รวมถึงการเตรียมตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อบรรลุเป้าหมายความยั่งยืน ความมั่นคงด้านอาหาร ความมั่นคงทางอาชีพ อีกทั้งต้องส่งเสริมความเท่าเทียมให้กับเพศที่แตกต่าง

เรวดี ประเสริฐเจริญสุข ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ระบุว่า ​ภาพรวมในกฎหมายที่ทำ กับหลักการที่ไปตกลงไว้ในการทำการประมงที่รับผิดชอบ ในการที่จะทำงานบนหลักสิทธิมนุษยชน ในการที่จะต้องดู ทำงานแบบองค์รวม ร่วมคิดร่วมทำร่วมตัดสินใจ และไม่ใช่เพื่อสร้างเศรษฐกิจ ณ ปัจจุบัน แต่สร้างเศรษฐกิจปัจจุบันที่เป็นธรรม และเป็นฐานเฉพาะกับลูกหลานเราในอนาคต กฎหมายฉบับนี้ไม่มีเลย

แนะรื้อร่างกฎหมายประมง มุ่งฟื้นฟูทะเลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม ในทุกรัฐบาลมักมุ่งเน้นนำทรัพยากรไปขาย แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับทะเล ทำให้สัตว์น้ำลดจำนวนลงราว 10 เท่า ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา สะท้อนว่ามีการทำประมงที่รุนแรงมาตลอด ซึ่งไทยควรมุ่นเน้นการฟื้นฟูทรัพยากรทะเลตามพันธสัญญาที่ทำไว้การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 หรือ COP28 ที่กำหนดให้ทั่วโลกต้องฟื้นฟูทะเลให้ได้อย่างน้อย 30% ภายในปี 2573 แต่ร่างกฎหมายประมงฉบับใหม่กลับลดคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ ในขณะที่ไทยเป็นประเทศที่ทำล้ายสิ่งแวดล้อมอันดับต้น ๆ ของโลก ดังนั้นจำเป็นต้องรื้อกฎหมายฉบับนี้และออกแบบใหม่อีกครั้ง

วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวทิ้งท้ายว่า “ถ้าออกตามร่างที่เขียนกันอยู่ ประมงพื้นบ้านวิบัติแน่นอน เพราะทิศทางมันชัดเจนว่าทุกร่างตั้งแต่ของ ครม. ไปจนถึงพรรคการเมือง มุ่งแต่กอบโกยสัตว์น้ำขึ้นมา เพื่อแลกเป็นเงินเท่านั้น ไม่ได้เห็นชีวิตคน ไม่ได้เห็นว่าการจับสัตว์น้ำที่มันยั่งยืนทำแบบไหน คือ เหมือนหนังคนละม้วนเลย 8 ปีที่แล้วกับ 6 เดือนนี้ ใครที่พูดเรื่องประมงยั่งยืนกลายเป็นเรื่องเชยอีกแล้ว ทั้งที่หลังปี 58 หลังเราโดนใบเหลือง ใครไม่พูดประมงยั่งยืนเป็นเรื่องเชย ทุกคนต้องพูดเรื่องประมงยั่งยืน ต้องพูดเรื่องไอยูยู ว่าเราต้องพัฒนา ต้องดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมนะ ดูแลปลานะ ดูแลคนนะ ภายใน 6 เดือนเท่านั้นจากฝ่ามือเป็นหลังเท้าเลย”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active