เด็กไทยกินไข่ต้มครึ่งซีก ข้าวคลุกน้ำปลา ไม่ใช่แค่ในบทเรียน!

‘มูลนิธิชีววิถี’ เผย ชีวิตจริงเด็กกว่า 1 ล้านคน ได้รับอาหารไม่เพียงพอ เตี้ย แคระแกร็น ชี้ ไม่ใช่ภาวะจำยอม แก้แค่หลักสูตรในกระทรวงศึกษาฯ ไม่พอ แต่ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องต้องแก้ไขจริงจัง

จากกรณีที่ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ ตั้งคำถามต่อเนื้อหาในหนังสือเรียน “ภาษาพาที” ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ในหลายประเด็น โดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์ต่อเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับโภชนาการที่เหมาะสมสำหรับเด็ก เช่น วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลตั้งคำถามต่อเนื้อหาในหนังสือฯ ว่า “เราควรปล่อยให้เด็กไทยยอมรับสภาพ การกินข้าวเปล่าคลุกน้ำปลาบี้ไข่ จริงๆ หรือ?” โดยระบุว่าโภชนาการที่ไม่เพียงพอต่อการเสริมสร้างพัฒนาการให้กับเด็ก ๆ อาจสัมพันธ์กับผลการประเมินศักยภาพทางการศึกษาของเด็กไทยที่ตกต่ำลง รวมถึงมีข้อเสนอในการจัดการงบประมาณให้เหมาะสม นั้น

เช่นเดียวกับ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี ที่ชี้ว่า เด็กไทยกินไข่ต้มครึ่งซีก ข้าวคลุกน้ำปลา ไม่ใช่แค่ในบทเรียน แต่ชีวิตจริงพบเด็กไทยกว่า 1 ล้านคน ได้รับอาหารไม่เพียงพอ

วิฑูรย์ เปิดเผยเรื่องนี้กับ The Active โดยระบุว่ามูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว ได้ช่วยกันคำนวณจำนวนของเด็กไทยที่ได้รับอาหารไม่เพียงพอ จากการใช้ตัวเลขการประเมินของ “รายงานผลการประเมินแผนปฏิบัติการด้านโภชนาการระดับชาติ 5 ปี พ.ศ.2562-2566 ระยะครึ่งแผน” จัดทำโดยสำนักโภชนาการ กรมอนามัย เมื่อปี 2564 และใช้ฐานข้อมูลประชากรในแต่ละช่วงวัยของ สำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า มีเด็กไทยอายุ 0-5 ปี จำนวน 420,811 คน ที่อยู่ในสภาวะเตี้ย แคระแกร็น จากการได้รับอาหารไม่เพียงพอ

ขณะที่เด็กอายุ 6-14 ปี จำนวน 665,362 คน ประสบปัญหาแบบเดียวกัน และเมื่อรวมจำนวนเด็กไทยอายุ 0-14 ปี ประสบภาวะเตี้ยและแคระแกร็นประมาณ 1,086,173 คน นี่จึงถือเป็นมุมมืดของประเทศที่เรียกตัวเองว่าเป็น “ครัวของโลก” ส่งออกอาหารปีละมากกว่า 1.1 ล้านล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น แต่เด็กไทยจำนวนมากกลับไม่ได้รับอาหารที่ดี และไม่เพียงพอ

“เรื่องนี้ปัญหาใหญ่ระดับชาติ เราเรียกตัวเองว่าเป็นครัวของโลก แต่เด็กไทยอายุต่ำกว่า 14 ปี มากกว่า 1 ล้านคน เตี้ย แคระแกร็น โดยเฉพาะเด็ก 0-5 ปี ที่เป็นเด็กที่อยู่ในช่วงที่มีการเจริญเติบโต ทั้งทางร่างกาย สมองสติปัญญา จำนวนหลายแสนคนอยู่ในภาวะเตี้ย แคระแกร็น นี่จึงเป็นเรื่องใหญ่ มีปัญหามากต่อประเทศในระยะยาวแน่ ๆ และเป็นปัญหาระดับชาติ ไม่ใช่แค่กระทรวงศึกษาธิการ แต่หมายถึงกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงมหาดไทย จะต้องมาร่วมมือก้นที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ และยกเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องใหญ่ ที่จะต้องก้าวข้ามไปด้วยกัน“

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี

วิฑูรย์ ยังชี้ว่า ในหลายประเทศที่พลเมืองขาดแคลนอาหาร ถือเป็นเรื่องใหญ่ หลายประเทศกำหนดไว้เลยว่าสิทธิในเรื่องอาหาร เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองทุกคน ในรัฐธรรมนูญของไทยปี 2560 ได้พูดถึงและระบุไว้เลยว่าเด็กก่อนเข้าถึงระบบการศึกษาจะต้องมีการพัฒนากายและสติปัญญา หมายความว่าเรื่องนี้บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ แม้ว่าอาจจะยังไม่ครอบคลุมมากนัก แต่มันชี้ว่าเรื่องนี้ควรจะเป็นวาระและสาระหลักในการพัฒนาประเทศ

“การพัฒนาต้องพุ่งเป้าไปที่เด็กและเยาวชนเหล่านี้ ที่ผ่านมาเรามีโครงการอาหารกลางวัน แต่ว่าครอบคลุมเฉพาะเด็กปฐมวัย สนับสนุนเด็กได้แค่มื้อเดียวจาก 3 มื้อ ตรงนี้เป็นไปได้ไหมที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นโดยการสนับสนุนของรัฐ ซึ่งเรามีโครงการอาหารกลางวันอยู่แล้ว จะขยายให้ครอบคลุมเด็กทุกคนมากกว่าปฐมวัย หรือครอบคลุมถึงวัย 14 ปี ซึ่งเป็นวัยเจริญเติบโตให้ได้อาหารที่เพียงพอ“

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี

ที่จริงเราสามารถทำเรื่องนี้ได้ไม่ยาก ถ้าดูงบประมาณที่ต้องใช้ให้องค์กรท้องถิ่นมีส่วนร่วม รวมถึงการผลักดันให้การจัดการปัญหา ท้องถิ่นสามารถจัดการอาหารได้เองระดับท้องถิ่น ด้านหนึ่งเป็นการสร้างอาชีพด้วย รับซื้อผลผลิตอาหารจากท้องถิ่นเพื่อป้อนให้กับระบบโรงเรียน สถาบันการศึกษา ศูนย์เด็กเล็กจะเป็นการขยายฐานเศรษฐกิจในประเทศของท้องถิ่นไปด้วย ดังนั้น การลงทุนนี้จะเป็นการลงทุนคุ้มค่ามาก ทั้งการพัฒนากาย สติปัญญาเด็ก กระตุ้นให้เกิดเศรษฐกิจท้องถิ่น ตรงนี้เป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามาก

“มูลนิธิชีววิถีเคยจัดทำข้อมูลข้อเสนอไว้ หากเปลี่ยนอาหารโรงเรียนให้เป็นอาหารปลอดภัย จะสามารถเปลี่ยนประเทศได้ ช่วยเด็กไทยประมาณเกือบ 6 ล้านคนปลอดภัย ลดค่าใช้จ่ายสารเคมีเกษตร 7,000 ล้านบาท ลดค่าใช้จ่ายผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมประมาณ 3,500 ล้านบาท ที่สำคัญ เพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ จากที่มีอยู่ถึงกว่า 2 เท่า“

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active