PM2.5 วิกฤต เครือข่ายอากาศสะอาด เร่งสร้างเครือข่ายพลเมืองฯ แก้ปัญหาระยะยาว

“เครือข่ายอากาศสะอาด” ย้ำ ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 เข้าขั้นวิกฤต เร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด วาระ 2 พร้อมสร้างเครือข่ายพลเมืองฯ แก้ปัญหาระยะยาว ชี้ เป็นทั้งหน้าที่ของรัฐและประชาชน

วันนี้ (23 ม.ค. 2567) ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ กรมควบคุมมลพิษ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศประจำวัน เมื่อเวลา 07.00 น. พบภาพรวมปริมาณ PM2.5 ในประเทศเกินค่ามาตรฐาน 37 จังหวัด โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ 56 พื้นที่ เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ตรวจวัดได้ 28.6 – 56.8 มคก./ลบ.ม. หนักสุด เขตคลองสามวา

ขณะเดียวกัน เครือข่ายอากาศสะอาด (Thailand Clean Air Network) จัดอบรมและปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างพลเมืองตื่นรู้ด้านอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพครั้งที่ 1 หวังสร้างความตระหนักรู้ ให้ข้อมูลทั้งมิติทางสิทธิ กฎหมาย และเศรษฐศาสตร์เพื่อสร้างเครือข่ายพลเมืองที่เข้มแข็ง

เครือข่ายอากาศสะอาด

รศ.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายอากาศสะอาด ชี้ให้เห็นถึงอันตรายร้ายแรงของ ฝุ่น PM2.5 ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ อิงจากประกาศขององค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประเมินแล้วว่าฝุ่นพิษเป็นสาเหตุหนึ่งของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากร (Premature mortality) ทุกภาคส่วนควรเร่งแก้ไข เพราะการได้รับอากาศที่สะอาดเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ไม่ควรมีใครพรากไปจากเราได้

“สิทธิในสิ่งแวดล้อมอาจแยกย่อยออกไปถึงการมีน้ำและอากาศที่สะอาด หากเราดูแลตัวเองอย่างดี ออกกำลังกายทุกวันแต่กลับต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีแต่ฝุ่นพิษ นั่นหมายถึงเรากำลังถูกลิดรอนสิทธิไป และจะส่งผลกระทบต่อสิทธิในสุขภาพและสิทธิอื่น ๆ ตามมาด้วยเหมือนเกมโดมิโน”

รศ.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม

“ฉะนั้นแล้ว เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะช่วยให้ประชาชนได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างครบถ้วนตั้งแต่ต้นทาง ไม่ควรต้องให้ประชาชนถวิลหาสิทธิการรักษาพยาบาลจาก สปสช. ยามป่วยไข้ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ”

รศ.คนึงนิจ กล่าวอีกว่า อย่ามองว่าปัญหาดังกล่าวเป็นเพียงหน้าที่ของฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น แต่ตัวประชาชนเองควรตระหนักถึงบทบาทและหน้าที่ของตนเองในการช่วยกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วย

“สิทธิกับหน้าที่เป็นสิ่งที่อยู่คู่กันเสมอ เราอาจเคยได้ยินว่าประชาชนมีสิทธิ แต่ต้องไม่ลืมว่าประชาชนต้องมีหน้าที่เช่นกัน ถ้าเราเป็นประชาชนที่เอาแต่รับ (take) แต่ไม่ให้ (give) เลย แบบนี้เราจะเป็นแค่ประชาชนทั่วไปที่ผลักภาระออกไป ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นพลเมืองเต็มขั้นหรือ Active Citizen

“เพราะเราอยากให้คำว่า Active Citizen หมายถึง ประชาชนที่ไม่นิ่งเฉย ไม่ยอมจำนน หรือโยนภาระให้รัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องมีสำนึกของความเป็นพลเมือง คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้งไม่ใช่แค่ส่วนตัวแต่เพียงอย่างเดียว”

พรเพ็ญ วงศ์กิจมโนชัย ตัวแทนผู้จัดกิจกรรม เน้นย้ำว่าปัญหาฝุ่นพิษเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง รัฐควรเร่งแก้ปัญหานี้อย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้นทางมากกว่าการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ การสร้างเครือข่ายภาคประชาชนในครั้งนี้จึงเป็นเหมือนอีกหนึ่งก้าวแรกในการสร้างความตระหนักและความเข้าใจในกฎหมายและสิทธิขั้นพื้นฐานให้แก่ประชาชน

“ตอนนี้ในบ้านเรายังมีองค์ความรู้เรื่องฝุ่นกระจัดกระจาย ประชาชนมีข้อมูลมากมายแต่ไม่รู้ว่าอันไหนจริง-ไม่จริง แม้ตอนนี้ทางเครือข่ายจะมีข้อมูลทางวิชาการอยู่มากพอสมควร แต่อยากให้ภาคประชาชนเข้ามาเป็นอีกหนึ่งเสียงในการเข้าใจและผลักดันกฎหมาย รวมถึงนำไปใช้งานในพื้นที่ของเขาไปด้วยกัน”

พรเพ็ญ บอกอีกว่า ฝุ่นพิษเป็นปัญหาระดับโครงสร้าง เกี่ยวข้องกับหลายระบบ ทั้งเรื่องผังเมือง เกษตรกรรม ขนส่ง รวมถึงฝุ่นพิษจากประเทศเพื่อนบ้าน รัฐควรมีมาตรการบริหารจัดการ ไปพร้อม ๆ กัน ไม่ใช่ทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือต่างคนต่างทำ การแก้ปัญหาปลายเหตุเช่น จุดไหนมีฝุ่นให้เอาน้ำไปฉีด หรือให้ประชาชนใส่หน้ากากอนามัย เปิดเครื่องฟอกอากาศ ล้วนเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุที่ไม่ยั่งยืน สำหรับร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ได้ถูกรับหลักการอย่างเป็นเอกฉันท์แล้วทั้ง 7 ฉบับ จากสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 17 ม.ค. ที่ผ่านมา ด้วยความเห็นชอบ 443 เสียง ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างวาระที่ 2 เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของกรรมาธิการวิสามัญเพื่อผ่านเป็นกฎหมาย ซึ่งนี่จะเป็นช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ที่กำลังจะชี้ชะตาอนาคตของประชาชนไทยต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active