บอร์ดชุดใหญ่ดิจิทัลวอลเล็ต เคาะไม่ใช้เงิน ธ.ก.ส. เลี่ยงปัญหา พ.ร.บ.วินัยการคลัง

คณะกรรมการโครงการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ เห็นชอบวงเงินโครงการ 4.5 แสนล้านบาท ไม่ใช้เงินกู้จาก ธ.ก.ส. เลี่ยงข้อครหา ผิด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง นายกฯเตรียมแถลงใหญ่ 24 ก.ค. ยันเปิดลงทะเบียน 1 ส.ค.นี้

เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet หรือ โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ครั้งที่ 4 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบในแหล่งที่มาของเงินใหม่ โดยได้ดำเนินการตามข้อเสนอของหน่วยงานตรวจสอบและไปดูแหล่งที่มาและกรอบวงเงินที่ตัวเลข 4.5 แสนล้านบาท และไม่มีการปรับขนาดโครงการ ซึ่งยังเป็น 50 ล้านคน หากมีคนลงทะเบียนน้อยกว่าหรือมากกว่าจะใช้กลไกในการบริหารงบประมาณ เพื่อให้มีเงินเพียงพอในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตัวเงินที่เตรียมไว้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในแหล่งที่มาของเงินใหม่ คือไม่มี มาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ โดยงบประมาณที่ใช้ประกอบด้วยงบประมาณปี 2567 และ ปี 2568 ซึ่งเพียงพอและสามารถดำเนินการได้ภายในกรอบของงบประมาณ โดยแหล่งเงินจากงบประมาณปี 2567 และ ปี 2568 ดังนี้

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet หรือ โครงการดิจิทัลวอลเล็ต

1. การบริหารการคลังและการบริหารจัดการเงินงบประมาณร่ายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 165,000 ล้านบาท ประกอบด้วย แหล่งเงินจากงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 122,000 ล้านบาท และที่เหลืออีก 43,000 ล้านบาท เป็นการบริหารการคลังและบริหารจัดการเงินงบประมาณตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ

2. การบริหารการคลังและการบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 วงเงิน 285,000 ล้านบาท ประกอบด้วย งบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2568 ที่ตั้งไว้แล้ว 152,700 ล้านบาท และการบริหารการคลังและบริหารจัดการเงินงบประมาณตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ วงเงิน 132,300 ล้านบาท


กรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีความเห็นเรื่องระบบการโอนเงินว่าจะต้องปลอดภัยและมั่นคงนั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำเสนอในที่ประชุมซึ่งเป็นไปตามมาตรฐาน และอยู่ในกรอบความมั่นคงปลอดภัยสูงสุด ยืนยันว่า ไทม์ไลน์โครงการยังอยู่ในกรอบเดิม คือเงินถึงมือประชาชนในไตรมาส 4 ปี 2568 โดยความชัดเจนทั้งหมดนายกรัฐมนตรีจะมีการแถลงในวันที่ 24 ก.ค.นี้ และจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป
 
สำหรับสินค้าที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการฯ (Negative List) ที่ประชุมได้เห็นชอบตามมติคณะอนุกรรมการกำกับฯ เสนอ แต่มีข้อสังเกตในที่ประชุมเปิดความยืดหยุ่นให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาตามความจำเป็น เหมาะสม เช่น สินค้าอาวุธยุทโธปกรณ์ อาทิ ปืน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลุ่มพิจารณา ที่ให้กระทรวงพาณิชย์ไปพิจารณาว่าเหมาะสมร่วมโครงการหรือไม่ นอกจากนี้มีข้อเสนอให้ตัดสิทธิกลุ่มที่เคยทำผิดเงื่อนไขโครงการรัฐในอดีต เช่น มีการถูกเรียกเงินคืน ทั้งในส่วนร้านค้า และประชาชนออกไป

ล่าสุด นายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ดิจิทัลวอลเล็ตพร้อม เปิดลงทะเบียน 1 ส.ค. นี้ โดยการประชุมวันนี้ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดลงทะเบียน และการดำเนินการในภาพรวมที่จะรองรับการใช้งานของประชาชนและร้านค้า โดยมีการมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ รวมไปถึงการลงรายละเอียดเงื่อนไขของการรับสิทธิ์ และมาตรการป้องกันการทุจริต การเรียกเงินคืนให้ชัดเจนขึ้น

โครงการดิจิทัลวอลเล็ต คือ โครงการใหญ่ของภาครัฐที่จะเติมเงินกระเป๋าพี่น้องประชาชน ผู้ประกอบการ และระบบเศรษฐกิจในภาพรวม เพื่อความละเอียดรอบคอบทั้งทางกฎหมาย และทางเทคนิค โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยของผู้ใช้งาน ทำให้ใช้เวลาดำเนินการมากหน่อย แต่พี่น้องไม่ต้องคอยเก้อแน่นอนครับ

ก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลัง เตรียมใช้งบประมาณในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตวงเงิน 5 แสนล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท และเงินกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 172,300 ล้านบาท

ซึ่งการกู้เงินจาก ธ.ก.ส. นั้นจะใช้ผ่านกฎหมายมาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง แต่ต่อมากลายเป็นที่ถกเถียงทั้งฝ่ายการเมือง และนักวิชาการ ว่าการที่รัฐบาลนำเงินก้อนดังกล่าวมาใช้นั้นจะเข้าข่ายกฎหมายมาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง หรือไม่ เพราะกฎหมายดังกล่าวระบุไว้ชัดเจนว่า ให้ใช้เพื่อฟื้นหรือกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพหรือยกระดับคุณภาพชีวิตของ ประชาชน หรือเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยหรือการก่อวินาศกรรม ซึ่งทำให้รัฐบาลจะต้องยื่นคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อขอความเห็นในประเด็นข้อกฎหมายนี้ก่อน


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active