แจกเงิน ดิจิทัลวอลเล็ต ให้คนมีสภาพคล่องต่ำ อาจกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีกว่า

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ แนะ รัฐเดินหน้านโยบาย ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ควรคำนึงหลักเศรษฐศาสตร์ ชี้ ไม่ควรเร่งแจกเงิน แต่ควรกำหนดเกณฑ์จ่ายให้รอบคอบ ห่วง คนชั้นกลางจ่ายภาษีแต่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากนโยบายตามที่หาเสียง

วันนี้ (27 ต.ค. 2566) ภายหลังที่ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ได้ข้อสรุปหลักเกณฑ์แจกเงิน 3 แนวทาง เสนอให้คณะกรรมการชุดใหญ่ โดยตัดสิทธิ์ผู้มีรายได้เกิน 25,000 บาทต่อเดือน และเงินในบัญชีเกิน 1 แสนบาท หรือรายได้เกิน 50,000 บาทต่อเดือนและมีเงินในบัญชีเกิน 5 แสนบาท หรือให้เฉพาะผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ นั้น

รศ.อธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับ The Active ว่า หากคำนึงถึงหลักเศรษฐศาสตร์ในการใช้นโยบายแจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จะพบว่าหากมีการแจกเงินให้กับกลุ่มผู้ที่มีสภาพคล่องทางการเงินต่ำ จะทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจประสบผลสำเร็จมากกว่า ขณะเดียวกัน การกำหนดเกณฑ์การแจกเงินควรมีความรอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกไม่เป็นธรรมกับประชาชนกลุ่มอื่น ๆ โดยเฉพาะกลุ่มมนุษย์เงินเดือนคนชั้นกลางที่อยู่ในระบบภาษี

แนะ เลือกกลุ่มเป้าหมายให้ตรง ใช้งบฯ ไม่มาก แต่กระตุ้นเศรษฐกิจได้ผลดี

เมื่อวัตถุประสงค์ของการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการให้เงินหรือสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนออกไปซื้อสินค้า คือความคาดหวังว่าประชาชนจะซื้อสินค้าแล้วส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ และทำให้รัฐเก็บภาษีคืนมาได้มากขึ้น รศ.อธิภัทร ยกตัวอย่าง หากรัฐแจกเงิน 10,000 บาท ก็คาดหวังให้ประชาชนนำเงินไปซื้อสินค้าในช่วงเวลาที่รัฐต้องการ ขณะเดียวกัน หากการใช้จ่ายนั้นมี local content หรือส่วนประกอบของสินค้าที่ผลิตภายในประเทศเยอะ ประเทศก็มีแนวโน้มจะได้เงินมากขึ้นตามไปด้วย รวมถึงโอกาสในธุรกิจที่มากขึ้น เช่น เป็นที่รู้จัก การขยายขนาดของธุรกิจและการจ้างงาน ซึ่งจะช่วยส่งผลให้เศรษฐกิจโดยภาพรวมเติบโตมากขึ้น

โดยสิ่งที่รัฐจะได้กลับคืน คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ส่วนระยะยาว รัฐจะได้ทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคล จากกำไรของร้านค้า และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากการจ้างงานต่าง ๆ ที่เป็นผลพวงตามมา ดังนั้น จึงมีเงื่อนไขสำคัญว่าหากต้องการให้การกระตุ้นเศรษฐกิจประสบความสำเร็จ ต้องทำให้การใช้จ่ายเงินเหล่านี้นำไปสู่การลงทุนในระยะยาวของภาคธุรกิจ รัฐต้องหาวิธีการว่าทำอย่างไรที่จะกำหนดเงื่อนไขของการใช้เงินให้เป็นการซื้อสินค้าที่เป็น local content เยอะ ๆ ให้เม็ดเงินลงไปที่ร้านค้าฐานราก แทนที่จะไปตกอยู่ที่ร้านค้าที่เป็นเครือข่ายของบริษัทยักษ์ใหญ่ ที่แทบจะไม่มีผลกับการกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะนี้

นอกจากนี้ ปัจจัยที่รัฐควรนำมาพิจารณาในการกำหนดเกณฑ์แจกเงิน คือ Marginal Propensity to Consume (MPC) นั่นคือ การดูว่าแนวโน้มการบริโภคมีเท่าไหร่ ประชาชนนำเงินที่ได้รับไปใช้เพื่อบริโภคหรือนำไปออมมากกว่า เมื่อรัฐแจกเงินแล้วทำอย่างไรให้ MPC เยอะ เมื่อดูมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศอื่น ๆ จึงมุ่งไปที่กลุ่มคนที่สภาพคล่องทางการเงินต่ำ กำลังเดือดร้อนทางการเงินในขณะนั้น การได้รับเงินมาก็มีแนวโน้มนำไปใช้จ่ายทันที หนึ่งในวิธีการที่ใช้ดูสภาพคล่อง คือ รายได้และสินทรัพย์

“ถ้ารัฐต้องการทำให้งบประมาณไม่มากเกินไป และกระตุ้นเศรษฐกิจได้ผลดีด้วย ต้องมาที่การเลือกกลุ่มเป้าหมายในการให้ ซึ่งกุญแจสำคัญ คือการพิสูจนให้ได้ว่าใครคือคนรวยที่ต้องกันออกไป ซึ่งต้องดูรายได้ ที่ไม่ใช่แค่รายได้ในระบบที่รัฐมีอยู่ในเวลานี้”

รศ.อธิภัทร ขยายความว่า เวลานี้เงื่อนไขสำคัญคือ รัฐบาลแทบไม่รู้รายได้ของคนที่ไม่ใช่มนุษย์เงินเดือน เพราะทุกอย่างไปผูกอยู่กับ ฐานข้อมูลการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ที่พบว่าประชาชนที่มีรายได้เกิน 25,000 – 50,000 บาท มีไม่มาก เพราะนำไปผูกกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งอิงกับมนุษย์เงินเดือนเท่านั้น เงื่อนไขตรงนี้ ควรนำไปสู่ความพยายามในการขยายขอบเขตการรับรู้รายได้ของรัฐให้มากขึ้น ซึ่งอาจโยงไปสู่เงื่อนไขว่าถ้าคุณจะได้รับเงินตัวนี้ ที่ผ่านมาคุณเคยได้รายได้เท่าไหร่ ในด้านสินทรัพย์ รัฐจะต้องขยายตัวกรองออกไป ไม่ใช่แค่บัญชีธนาคารเท่านั้น แต่อย่างน้อยควรรวมถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุน (Financial Access) หุ้น กองทุน ฯลฯ และพยายามนำข้อมูลเกี่ยวกับหนี้มาหักลบด้วย จึงจะได้ข้อมูลที่แท้จริง ซึ่งสะท้อนฐานะของกลุ่มเป้าหมายได้ดีกว่า ซึ่งเชื่อว่ารัฐทำได้ แต่ต้องใช้เวลามากขึ้น ในการผสมผสาน (Integrate) ข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ใช่การเร่งแจกเงินให้ได้ภายใน 3-4 เดือน ซึ่งอาจเป็นการให้น้ำหนักไปที่การทำตามนโยบายทางการเมืองที่หาเสียงไว้มากกว่า

ห่วงความรู้สึกมนุษย์เงินเดือน แนะรัฐ เร่งขยายฐาน สร้างความเป็นธรรมในระบบภาษี

นอกจากนี้ รศ.อธิภัทร ยังระบุถึงกรณี มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าหากการแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่มีการกำหนดเกณฑ์ผู้มีรายได้เกิน 25,000 บาทต่อเดือน และเงินในบัญชีเกิน 1 แสนบาท หรือรายได้เกิน 50,000 บาทต่อเดือนและมีเงินในบัญชีเกิน 5 แสนบาท หรือให้เฉพาะผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ นั้น อาจไม่เข้าข่ายกลุ่มเป้าหมายของนโยบายนี้ ว่าอาจกระทบกับความรู้สึกของผู้มีเงินได้ที่ยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่จะกลายเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้รับประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว และอาจกระทบต่อหลักเต็มใจจ่ายของผู้มีเงินได้และมีศักยภาพในการจ่ายภาษีกลุ่มอื่น ๆ

“คนที่จ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีเพียง 10% ของกำลังแรงงาน หรือ 4 ล้านคน จากทั้งหมดเกือบ 40 ล้านคน เมื่อรัฐมีนโยบายแจกเงิน พวกเขากลับเป็นคนกลุ่มที่รัฐรับรู้รายได้อยู่แค่กลุ่มเดียวของประเทศ ทำให้หลุดจากสิทธิประโยชน์จากนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต แต่ก็ยังเป็นคนที่ต้องจ่ายภาษีเงินได้ฯ ในทุก ๆ ปี”

รศ.อธิภัทร เสนอว่า ทางออกที่แม้จะแก้ไม่ได้ในระยะสั้น แต่ในระยะยาว คือ ทำอย่างไรให้รัฐสามารถขยายฐานของคนจ่ายภาษีกลุ่มนี้ให้กว้างขึ้น เพราะในอนาคตหากรัฐจะทำนโยบายเหล่านี้ จะสามารถคัดกรองกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมองว่า หากรัฐบาลต้องการให้ประชาชนยินดีจ่ายภาษีมากขึ้น รัฐบาลควรเริ่มต้นจากการเร่งสร้างความเชื่อมั่นผ่านการพิจารณาใช้จ่ายเงินงบประมาณที่มาจากภาษีประชาชนอย่างรับผิดชอบ ทำอย่างไรให้ประชาชนเห็นว่ารัฐจริงจังกับการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน จัดสรรงบประมาณอย่างระมัดระวัง รวมไปถึงการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแต่ละครั้ง ที่คำนึงถึงความสมเหตุสมผลทางเศรษฐศาสตร์ เพราะในการลดหย่อนแต่ละครั้งหมายถึงเม็ดเงินภาษีที่หายไป ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะนำมาสู่ความจำเป็นในการจัดเก็บภาษีที่มากขึ้นในอนาคต เพื่อมาทดแทนรายได้ที่หายไป

สำหรับสาเหตุที่คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฯ ดิจิทัลวอลเล็ต กำหนดเป้าหมาย 3 กลุ่ม ในการแจกเงินนั้น จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ยื่นข้อเสนอให้ดูเฉพาะกลุ่มคนเปราะบาง ซึ่งมีอยู่ประมาณ 15-16 ล้านคน เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจและการบริโภคเริ่มฟื้นตัว ขณะที่ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฯ ดิจิทัลวอลเล็ต ยังมีความเห็นต่าง เนื่องจากมองว่าประชาชนยังเดือดร้อนและรัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพใหญ่ หากใช้เม็ดเงินลงไปเพียง 1.5 แสนล้านบาท อาจทำไม่ได้ตามเป้าหมาย พร้อมกับยืนยันว่าโครงการฯ จะเกิดขึ้นแน่นอน 100% โดยนายจุลพันธ์ ได้รายงานผลประชุมให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รับทราบ โดยไม่ได้ติดใจเรื่องการกำหนดเป้าหมายตัดสิทธิคนรวย อย่างไรก็ตาม จะต้องรอคณะกรรมการชุดใหญ่เห็นชอบอีกครั้ง


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active