แจงเป็นเพียงข้อเสนอให้คนรวยที่ไม่ได้มีความจำเป็น นำมาช่วยเหลือคนจนจริง ๆ ภาคประชาชนนัดเคลื่อนไหว 9 ส.ค.66 หวั่นสร้างความสับสน ตกหล่นจากระบบคัดกรอง ไม่ตอบโจทย์รัฐสวัสดิการ
วันนี้ (8 ส.ค.2566) พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวถึงกรณีมีการเผยแพร่ข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ ว่า กระทรวงการคลังเตรียมเสนอตัดสิทธิเบี้ยยังชีพของประชาชนนั้น ขอยืนยันว่ากระทรวงการคลังไม่ได้มีแนวคิดที่จะตัดสิทธิดังกล่าว เพราะจะส่งผลกระทบและเป็นการซ้ำเติมประชาชนรายย่อย
“ข่าวที่เกิดขึ้นอาจจะเกิดจากการตีความคลาดเคลื่อน ในการเสนอให้ทบทวนผู้ได้รับสิทธิเบี้ยคนชราผู้มีฐานะร่ำรวย และไม่ได้มีความจำเป็นต้องพึ่งพาเบี้ยคนชราในการดำรงชีพ เพื่อนำเงินส่วนต่างมาช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยนั้น เป็นเพียงข้อเสนอในเชิงวิชาการเท่านั้น จึงต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม ดูแลความเป็นอยู่ของกลุ่มผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย”
พรชัย ฐีระเวช
นอกจากนี้ ในส่วนของการดูแลกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ล่าสุดกระทรวงการคลังยังได้มีการขยายสิทธิการใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มขึ้นจากเดิม ที่สามารถใช้ได้เพียง ขสมก. บขส. BTS/MRT และรถไฟโดยเพิ่มให้สามารถใช้สิทธิโดยสารรถเอกชนร่วม ขสมก. รถเอกชน และส่วนราชการกรุงเทพมหานคร รถเอกชนร่วมบขส. และรถเอกชน รถสองแถวรับจ้าง และเรือโดยสารสาธารณะ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดให้ผู้ประกอบการระบบขนส่งสาธารณะแต่ละประเภทมาสมัครเข้าร่วมเป็นผู้ให้บริการแก่ผู้มีสิทธิตามโครงการฯ และหากผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะดำเนินการแล้วเสร็จตามขั้นตอน จะสามารถเปิดให้บริการรับชำระเงินจากผู้มีสิทธิตามโครงการฯ ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป
ภาคประชาชน นัดยื่นหนังสือค้านถึงปลัดกระทรวงการคลัง พรุ่งนี้ ( 9 ส.ค.66)
ในวันเดียวกัน เครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่าย ปชช.เพื่อรัฐสวัสดิการ เครือข่าย We Fair ประกาศ นัดเดินทางไปยื่นหนังสือถึงปลัดกระทรวงการคลัง ที่หน้ากระทรวงการคลัง ฝั่งถนนพระรามที่ 6 เวลา 9.30 น. โดยระบุว่า กรณีที่มีกระแสข่าวเรื่องกระทรวงการคลังเตรียมเสนอให้รัฐบาลใหม่ตัดงบประมาณเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุถ้วนหน้า 600-1000 บาท เป็นการให้เฉพาะผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุถูกตัดสิทธิ์กว่า 6 ล้านคน โดยในปัจจุบันผู้สูงอายุมี 12 ล้านคน เป็นข้าราชการ 9 แสนคน ผู้ได้รับเบี้ยยังชีพ 11 ล้านคน ในจำนวน 11ล้านคน มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 5ล้านคน ดังนั้น ถ้าเป็นไปตามแนวคิดกระทรวงการคลัง จะมีผู้สูงอายุถูกตัดสิทธิ์กว่า 6ล้านคน
ซึ่งก่อนหน้านี้ We Fair ได้ให้ความเห็นว่า สวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุในปัจจุบัน ที่กระทรวงการคลังกล่าวว่ามีอยู่หลายมีอยู่หลายโครงการ และมีความซ้ำซ้อนกัน แต่สวัสดิการที่มีอยู่มีเงื่อนไขที่ต่างกัน ไม่ได้ครอบคลุมผู้สูงอายุทุกคนและมีผู้สูงอายุที่เข้าไม่ถึงโอกาสในการได้รับสวัสดิการ มีเพียงเบี้ยผู้สูงอายุแบบขั้นบันไดเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่เข้าถึงผู้สูงอายุส่วนใหญ่ ขณะเดียวกันเบี้ยผู้สูงอายุนับว่าเป็นแหล่งรายได้หลักอันดับต้น ๆ ของผู้สูงอายุในวัยชราที่ทำให้สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้ แม้ว่าปริมาณเงินจะน้อยกว่าเส้นความยากจนก็ตาม การปรับลดรายจ่ายและจำกัดสวัสดิการเบี้ยผู้สูงอายุเฉพาะคนมีรายได้น้อย จึงเป็นการปิดโอกาสทางรายได้และสิทธิสวัสดิการขั้นพื้นฐานของผู้สูงอายุจำนวนมาก
“การปรับลดรายจ่ายและจำกัดสวัสดิการเบี้ยผู้สูงอายุเฉพาะคนมีรายได้น้อยจึงนำไปสู่ระบบสวัสดิการแบบสงเคราะห์คัดกรองความยากจน นั่นหมายความว่างบประมาณบางส่วน ถูกนำใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูญเปล่า ถูกใช้ในการตรวจสอบคัดกรองความยากจน ตีตรา ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งหลายครั้งได้มีการพิสูจน์แล้วว่า ระบบสวัสดิการแบบสงเคราะห์เฉพาะคนมีรายได้น้อย ได้สร้างความซับซ้อน ความยากลำบาก ในการเข้าถึงสวัสดิการของประชาชน รวมไปถึงการสร้างภาระของหน่วยงานที่รับผิดชอบในการตรวจสอบสิทธิสวัสดิการด้วย”
อย่างไรก็ตาม We Fair กล่าวว่าการที่กระทรวงการคลัง ระบุ การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุถ้วนหน้ารายละ 3,000 บาท (ตามนโยบายพรรคการเมืองที่หาเสียงในปัจจุบัน) ทำให้รัฐจะมีภาระรายจ่ายต่อปีเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว แต่กลับไม่ได้มองว่าการมีระบบสวัสดิการถ้วนหน้าจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้คนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทำให้ประชาชนในสังคมมีความมั่งคงในชีวิตและเป็นประโยชน์ต่อการสร้างรายได้ในสังคมได้ในระยะยาว
การลดภาระทางการคลังจึงไม่ควรพิจารณาเฉพาะนโยบายรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า เงินสวัสดิการผู้สูงอายุถ้วนหน้า 3,000 บาท แต่ควรพิจารณาถึงงบประมาณด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นงบทางการทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ สวัสดิการสำหรับอภิสิทธิ์ชน ที่ไม่ใช่แค่สร้างภาระให้กับรัฐ แต่อาจสร้างภาระให้กับประชาชนได้ในระยะยาว