อีก 2 ทศวรรษ งบฯสูงวัยพุ่ง นักเศรษฐศาสตร์ ฝากรัฐบาลใหม่ปฏิรูปเร่งด่วน

World bank ชี้ สวัสดิการสูงวัยไทยซ้ำซ้อน แนะปรับเปลี่ยนระบบบำนาญทั้งหมด โดยมุ่งเน้นที่การลดความยากจนในผู้สูงอายุ ขณะที่คนจำนวนมากยังไร้โอกาส ​ไม่มีระบบรองรับทางสังคมด้านความยากจนในวัยชรา

วันนี้ (27 พ.ค.66) ครบรอบ 1 ปี การประชุมพิจารณาและเห็นชอบรายงานการศึกษา “แนวทางการเสนอกฎหมายบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ” โดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การสวัสดิการสังคม  แต่ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ของสังคมสูงวัยกลับรุนแรงมากขึ้น ผู้สูงอายุจนลงอย่างรวดเร็ว ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย นักเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กังวลว่า หากรัฐบาลใหม่ยังไม่เร่งแก้ปัญหาไทยอาจประสบปัญหาสถานะทางการคลัง 

“ผมกังวลว่า หากเราไม่ทำอะไรเลย งบประมาณผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ภายใน 20 ปีข้างหน้า โดยส่วนมากมาจากงบบำนาญข้าราชการ ซึ่งจะเพิ่มสูงขึ้นไปพร้อมกับงบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ”


ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย นักเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

World bank มองระบบสวัสดิการสูงอายุซ้ำซ้อนแก้ปัญหาไม่ได้จริง

อาจารย์ทีปกร ยังได้หยิบยกข้อมูลจาก รายงานธนาคารโลกเรื่อง “การลดปัญหาความยากจนของผู้สูงอายุในประเทศไทย : บทบาทของโครงการบำนาญและการช่วยเหลือทางสังคม” ปี 2555 พบว่า ไทยมีโครงการด้านผู้สูงอายุถึง 8 โครงการ ได้แก่ ประกันสังคม มาตรา 33 และ 39, กบข. และ บำนาญข้าราชการ, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ, เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ, กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.), และ ประกันสังคม มาตรา 40 

แต่ลักษณะสำคัญของบำนาญประเทศไทย คือ สิทธิประโยชน์ส่วนใหญ่จะตกอยู่กับผู้ที่ไม่ได้ยากจน มีเพียงระบบ “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” เท่านั้นที่มีความครอบคลุมผู้สูงอายุได้แบบถ้วนหน้า หลายโครงการมีข้อจำกัดด้านกรอบกฎหมายไว้ไม่เพียงพอ ไม่มีหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแล เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือทำหน้าที่กำกับดูแลด้านการเงินโดยรวม, และ ไม่มีนโยบายบำเหน็จบำนาญระดับชาติที่มีความเชื่อมโยงกัน

รายงานธนาคารโลก ระบุว่า “ประเทศไทยมีโครงการบำนาญมากเกินไป จึงควรพิจารณาบูรณาการแต่ละโครงการเข้าด้วยกัน และ มีการปรับเปลี่ยนระบบบำนาญทั้งหมด โดยมุ่งเน้นที่การลดความยากจนในผู้สูงอายุ, ตั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลโครงการบำนาญ, และ กำหนดความรับผิดชอบ (accountability) ที่ชัดเจนไว้ในนโยบายบำนาญรวม”

และเมื่อพิจารณาจากสภาพสังคมปัจจุบัน คนจำนวนมากยังไร้โอกาส เกิดมาในครอบครัวยากจน และไม่มีระบบรองรับทางสังคมด้านความยากจนในวัยชรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศไทยยังไม่มีระบบการออมที่สามารถครอบคลุมทุกคนในวัยทำงาน เหมือนหลายประเทศพัฒนาแล้วที่บังคับให้ทุกคนต้องอยู่ในระบบ และมีข้อน่ากังวลที่เบี้ยยังชีพขั้นพื้นฐานต่ำเกินไปจนไม่สามารถคุ้มครองความยากจนได้ และเป็นอัตราที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงตามภาวะเงินเฟ้อ 

ในช่วงเวลานี้ที่กำลังรอเห็นโฉมหน้ารัฐบาลใหม่ภายในอีก 2-3 เดือน คงจะชัดเจนมากขึ้นว่าพรรคการเมืองใดจะได้รับผิดชอบนโยบายที่ตัวเองหาเสียงเอาไว้ โดยเฉพาะเรื่อง สวัสดิการของผู้สูงวัย หรือ “นโยบายบำนาญ” จึงอยากเห็นการทำงานเท่าทันกับสถานการณ์ปัญหา และต้องไม่กระทบกับระบบการคลัง ซึ่งแน่นอนว่าเป็นโจทย์ท้าทายของรัฐบาลชุดนี้อย่างแน่นอน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active