บริหารจัดการน้ำเพื่อรับมือ ท่วม-แล้ง ต้องเน้น ‘ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วม’

ถอดบทเรียนบริหารจัดการน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2564/2565 ยังพบการเพาะปลูกเกินแผน ซึ่งมีความเสี่ยงต่อน้ำสำรองมาก สะท้อน ท้องถิ่นและรัฐ ยังสวนทางกัน ขณะที่นักวิชาการมองว่า การบริหารจัดการน้ำควรให้ระดับชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมมากกว่านี้ ตามเจตนารมณ์ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ

ศ.เกียรติคุณ สุวัฒนา จิตตลดากร ผู้ทรงคุณวุฒิ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ กล่าวว่า หลังถอดบทเรียนกับหน่วยงานด้านน้ำ พบในฤดูแล้ง ปี 2564/2565 มีปัญหาภัยแล้งไม่มาก แต่จะเห็นการทำงานของแต่ละหน่วยที่บริหารจัดการตามบทบาทของตัวเอง เมื่อตอนที่เคยมีส่วนร่วมร่างกฎหมาย ของพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ หรือ พ.ร.บ.น้ำ เจตนารมณ์ ตั้งใจอยากให้มีการบูรณาการน้ำแบบองค์รวมทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในเชิงพื้นที่ เพราะแต่ละท้องถิ่นมีปัญหาแตกต่างกัน บริบทไม่เหมือนกัน การที่หน่วยงานด้านน้ำ รายงานเฉพาะภาพรวมการจัดการน้ำ อาจไม่ตอบโจทย์ แต่หากเพิ่ม การศึกษารายกรณี (Case study) ศึกษาแบบเฉพาะ ลงลึกให้เข้าถึงท้องถิ่น จะสามารถส่งต่อไปสู่นโยบายแก้ปัญหา และเชื่อว่าการบริหารจากล่างขึ้นบน และจากบนลงล่าง หากทำ2 ด้านควบคู่กัน จะสามารถลดข้อจำกัดบางเรื่องได้

“ภาคผนวกที่เราใช้ คือยังเป็นกรรมการชุดเดิม เลยยังไม่ค่อยมีการทำแผนที่ mapping เท่าไหร่ แต่ถ้าจะดำเนินการต่อไป มันเป็นเรื่องของกรรมการลุ่มน้ำชุดใหม่ ที่เขาจะต้องลุกมาทำแผนทั้งภัยแล้งน้ำท่วม เพราะมันเป็นการจัดการเฉพาะถิ่นมันรวมไปถึงลุ่มน้ำสาขาด้วย เพราะลุ่มน้ำสาขามันมีความสำคัญเพราะคนที่จะสัมผัสเรื่องนี้ใกล้ชิดคือระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ซึ่งตรงนี้ต้องมีแผนในตัวของมันเอง ซึ่งการที่ตั้ง สทนช. ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ ผมมีส่วนร่าง จึงรู้เจตนารมณ์ คือการบริหารจากด้านบนอย่างเดียว มันจะไม่สะท้อนปัญหาจากพื้นที่ ต้องทำ 2 อย่างจาก บนลงล่าง และจากล่างขึ้นบน”

จัดการน้ำ

ผู้ทรงคุณวุฒิกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ยังบอกอีกว่า กรรมการลุ่มน้ำมีความสำคัญระดับต้น ๆ อาจต้องเร่งและสร้างเครื่องมือขึ้นมามาเพิ่ม ในเชิงเทคนิคยังทำตามสิ่งที่มีอยู่ เช่นการเปิดปิดประตูระบายน้ำแบบสั่งการ หรือการมีเขื่อนบริหารจัดการด้วยกรมใดกรมหนึ่ง เพียงอย่างเดียวอาจไม่พอ แต่เครื่องมือที่สำคัญอีกส่วนคือกฎระเบียบ เช่น การจะเอาน้ำผ่านเข้าทุ่งของประชาชน มีอะไรรองรับหรือไม่ จะจ่ายค่าชดเชยอย่างไร ประชาชนยอมไหม ต้องจ่ายเป็นค่าอะไรบ้าง ต้องเริ่มคิดเครื่องมือในการบริหารจัดการ และหวังว่าปีถัดไปจะไม่ต้องถอดบทเรียนกันอีก หรือหากจะถอดบทเรียน ต้องมุ่งว่าจุดไหน ลุ่มน้ำท้องถิ่น มีปัญหาอย่างไร จะจัดการอย่างไร ให้ได้เป็นบทเรียนของแต่ละพื้นที่ เพื่อหาแนวทางร่วมกัน

จัดการน้ำ

รศ.บัญชา ขวัญยืน ภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน กล่าวว่า
สถานการณ์น้ำภัยแล้งที่ผ่านมาไม่ได้วิกฤตเพราะฝนดี แต่การบริหารจัดการก็ควบคุมไม่ได้ตามแผน คือสิ่งที่ต้องคิดต่อ เพราะถ้าจริง ๆแล้ว ถ้าเราย้อนไป 5-10 ปี ควรจะตอบได้ว่าจะมีการปรับแผนหลังบริหารจัดการอย่างไร ผลเป็นอย่างไร การถอดบทเรียนครั้งนี้จะเป็นสารตั้งต้นไปเป็นคู่มือในการบริหารจัดการน้ำ เพราะทุกลุ่มน้ำของประเทศต้องมีการบริหารจัดการน้ำของตัวเอง ซึ่งต้องออกแบบในฤดูฝนมีชุดหนึ่ง ฤดูแล้งต้องมีอีกชุดหนึ่ง และแต่ละชุดต้องบอกได้ว่า ถ้าน้ำระดับมาเท่านี้จะต้องทำอย่างไรและจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ทุกลุ่มน้ำ ซึ่งตอนนี้การบริหารจัดการอยู่ในกรมชลประทาน อนาคตอาจเป็นประชาชนมีส่วนร่วมด้วย

“สิ่งที่ต้องเข้าใจอีกด้าน คือ เรื่องของการปลูกพืชที่เหมาะสมกับสถานการณ์ภัยที่เกิดขึ้นของไทยด้วย เช่น ฤดูแล้งควรใช้น้ำน้อย ควรส่งเสริมประชาชนใช้พืชทางเลือก และให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า ไม่ต่างจากการหาน้ำใต้ดิน ก็ต้องมองเพื่อการอุปโภคบริโภคถ้ามันจำเป็น ต้องมีการเติมน้ำเพื่อนำมาใช้ ต้องคิดแล้วว่าถ้าเติมน้ำเพื่อการเกษตรต้องเติมน้ำเท่าไหร่ และใช้เท่าไหร่ แล้วน้ำอยู่ตรงนั้นไหม หรือมันไปที่อื่น แต่น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคมันได้อยู่แล้วถ้าน้ำมีประสิทธิภาพ ต้องกลับมาดูด้วยว่าต้นทุนที่เอาน้ำลงเติมกับต้นทุนเอาน้ำมาใช้มันสูงกว่าผลตอบแทนที่จะได้เหมาะกับมันการที่จะลงทุนหรือไม่”

จัดการน้ำ

รศ.บัญชา ยังกล่าวอีกว่า สำหรับกรุงเทพฯ การที่ กปน. กำลังจะขยายกำลังการผลิตน้ำฝั่งตะวันตกอยู่ คือ ดึงน้ำมาจากเขื่อนแม่กลองมาที่โรงกรองน้ำมหาสวัสดิ์ให้มากขึ้น แต่ขณะเดียวกันฝั่งตะวันออกที่โรงสูบน้ำสำแล แล้วมาผลิตน้ำที่โรงกรองน้ำบางเขนจะทำอย่างไรให้มั่นคง บางปีเราก็จะเห็นว่าน้ำจืดน้อยและเกิดน้ำกร่อย ถ้าการันตีว่าจะมีท่อรับน้ำ หรืออาจจะต้องมีบ่อรับน้ำ ที่ 2 – 4 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่เวลาน้ำทะเลหนุนสูง ก็เอาน้ำจากบ่อสำรองเอามาใช้ก่อนก็จะทำให้น้ำไม่เค็ม หรือไม่เค็มมาก ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำได้

และสุดท้าย คือท้องถิ่น คือบางครั้งอาจจะเข้าใจหรือทำอย่างไรให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำ เพราะท้องถิ่นจะต้องมีส่วนร่วมแน่นอน แม้แต่กรรมการลุ่มน้ำก็มีท้องถิ่นอยู่ด้วย กรรมการทรัพยกรน้ำก็มีท้องถิ่นอยู้ด้วย ตาม พ.ร.บ. ฉบับใหม่ ซึ่งท้องถิ่นควรจะต้องมีข้อบัญญัติเรื่องเกี่ยวกับน้ำได้ ข้อบัญญัติในการใช้น้ำอย่างไร ข้อบัญญัติในการทิ้งน้ำเสียอย่างไร ข้อบัญญัติในการบุกรุกลำน้ำเป็นอย่างไร ข้อบัญญัติในการจัดการใช้น้ำทำอย่างไร ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีลักษณะนี้ ไม่ถึง 1 เปอร์เซนต์ แล้วจะทำอย่างไร การกระจายอำนาจและบริหารทรัพยากรต้องออกแบบให้บรรลุเป้าหมายให้ได้ตามเจตนารมณ์ พ.ร.บ.น้ำ

จัดการน้ำ

ด้าน สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวว่า เรื่องของการถอดบทเรียน 9 มาตรการฤดูแล้ง 2564/2565 ได้ข้อคิดเห็นจากผู้เทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ หน่วยงานต่าง ๆ กรรมการลุ่มน้ำ ที่ได้มีการเสนอขับเคลื่อน 9 มาตรการ ซึ่งผ่านมาด้วยดี แต่หลายประเด็นปัญหายังมีเรื่องของงบประมาณ อาจไม่มีมากนักในการบริหารจัดการ ได้ขณะที่ การสร้างความเข้มแข็ง ชุมชนก็เป็นประเด็นสำคัญที่แผนแม่บทจะเน้นความสำคัญ และมีการขับเคลื่อนให้ชุมชนเข้มแข็งและให้องค์ความรู้ประชาชน ชุมชน ท้องถิ่น ร่วมคิด จะเป็นทางออกเพื่อรองรับการบริหารจัดการน้ำแบบล่างขึ้นบนได้

ขณะนี้ สทนช. ก็มีการตั้งหน่วยงานภายในขึ้นมาส่งเสริมในเรื่องของความเข้มแข็งระหว่างหน่วยงานเช่นกันเพื่อขับเคลื่อนในระดับชุมชน จะเป็นการเชื่อมโยงไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะมีการจัดทำหลักสูตรเพื่อพัฒนาบุคลากรให้นำไปพัฒนาชุมชนต่อในพื้นที่ต่าง ๆ ให้มีองค์ความรู้ในแต่ละด้าน และมีการนำไปสู่การคิดโครงการของชุมชน ให้ได้ด้วยตัวเอง

“สำหรับแผนแม่บทลุ่มน้ำทาง สทนช. จะมีการร่างแผนแม่บทลุ่มน้ำในแต่ละลุ่มน้ำให้ ในระดับหนึ่ง และจะให้คณะกรรมการลุ่มน้ำที่เกิดขึ้นแล้วเอาไปดำเนินการต่อ ถือเป็นการร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ทั้งหน่วยงานด้านการศึกษาในพื้นที่ด้วยที่ร่วมกับชุมชน ร่วมกับคณะกรรมการลุ่มน้ำ ที่จะเพิ่มการทบทวนเข้าให้มีความละเอียดถี่ถ้วนมากขึ้น ขณะนี้ก็ยังร่วมมือกับ สสน. และหน่วยงานอื่น ๆ อีก ที่จะคัดเลือกพื้นที่ไปให้ความรู้ที่จะพัฒนาชุมชน ในเรื่ององค์ความรู้และการจัดทำแผนรายโครงการขึ้นมา ซึ่งก็ถือว่าตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป พร้อมเดินหน้าอยู่แล้ว”

Author

Alternative Text
AUTHOR

ณัฐพล พลารชุน