เดินหน้า ‘สะเอียบโมเดล’ จ.แพร่ แก้น้ำแล้ง-ท่วม

กรมชลประทาน ย้ำ ชาวบ้านเรียกร้อง หลังเผชิญปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม เตรียมสร้างอ่างเก็บน้ำแม่สะกึ๋น 2 และ อ่างเก็บน้ำห้วยเป้า คาดเดินหน้าสร้าง ปี 2569

พิเชษฐ์ รัตนปราสาทกุล ผู้อำนวยการสำนักออกแบบและสถาปัตยกรรม กรมชลประทาน ระบุว่า โครงการ สะเอียบโมเดล เป็นโครงการที่กรมชลประทานได้รับการร้องขอจากประชาชนมาอย่างยาวนาน ในปัจจุบันโครงการสะเอียบโมเดลมีข้อเสนอให้สร้างอ่างเก็บน้ำทั้งหมด 6 แห่ง โดยอ่างเก็บน้ำทั้ง 2 แห่งที่จะเริ่มต้นก่อสร้างนี้ คือ โครงการอ่างเก็บน้ำแม่สะกึ๋น 2 มีความจุที่ระดับเก็บกักปกติ 19.67 ล้านลูกบาศก์เมตร และอ่างเก็บน้ำห้วยเป้า มีความจุที่ระดับเก็บกักปกติ 2.35 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกรวมทั้ง 2 โครงการ ประมาณ 10,250 ไร่

ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการสำรวจ และออกแบบรายละเอียดโครงการจะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2567 และจะขอตั้งงบประมาณก่อสร้าง ซึ่งมีแผนจะก่อสร้างในปี 2569 สำหรับอ่างเก็บน้ำแม่สะกึ๋น 2 และปี 2570 สำหรับอ่างเก็บน้ำห้วยเป้า

“ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบให้เกิดภัยแล้งและน้ำท่วมรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องอย่างที่เรียกกันว่า ภาวะโลกเดือด เมื่อมีการสร้างอ่างเก็บน้ำทั้ง 2 แห่งตามโครงการสะเอียบโมเดล จะทำให้มีเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำเพิ่มขึ้นและสามารถบรรเทาปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมลงได้”

พิเชษฐ์ รัตนปราสาทกุล

พิเชษฐ์ บอกอีกว่า การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่สะกึ๋น 2 และระบบส่งน้ำจะไม่กระทบต่อบ้านเรือนราษฎร แต่กระทบกับพื้นที่ทำกินในอ่างเก็บน้ำจำนวน 30 ไร่ และแนวท่อผ่านพื้นที่ทำกินประมาณ 49.9 ไร่ ส่วนการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยเป้า และระบบส่งน้ำไม่กระทบต่อบ้านเรือนราษฎร กระทบกับพื้นที่ทำกินในอ่างเก็บน้ำจำนวน 9 ไร่

พิเชษฐ์ รัตนปราสาทกุล ผอ.สำนักออกแบบและสถาปัตยกรรม กรมชลประทาน

ส่วนแนวท่อจะวางไปตามเขตทางถนน จึงไม่กระทบกับพื้นที่ทำกิน ขณะที่พื้นที่ทำกินที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการ จะได้การชดเชยที่ดินและทรัพย์สินทั้งกรณีที่ดินมีเอกสารสิทธิ์และที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2532 พร้อมทั้งการลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชนใกล้เคียง

พรมงคล ชิดชอบ รองผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 2 บอกว่า การแก้ปัญหาน้ำในลุ่มน้ำยมที่เกิดปัญหาภัยแล้ง และน้ำท่วมซ้ำซากนี้จะส่งผลไปสู่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาโดยภาพรวมด้วย การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทั้ง 2 แห่งในลำน้ำสาขาของลุ่มแม่น้ำยมก็จะช่วยให้สามารถเก็บกักน้ำไว้ในช่วงฤดูฝนเพื่อบรรเทาอุทกภัยและสามารถระบายน้ำออกมาสู่ลำน้ำได้เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งในช่วงฤดูแล้งด้วย เมื่อก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทั้ง 2 แห่งแล้วเสร็จ จะทำให้มีการส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรสามารถเพาะปลูกได้ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง

พรมงคล ชิดชอบ รอง ผอ.สำนักชลประทานที่ 2

“สำหรับอ่างเก็บน้ำแม่สะกึ๋นมีพื้นที่ชลประทาน 7,940 ไร่ และพื้นที่ชลประทานอ่างเก็บน้ำห้วยเป้า 2,310 ไร่ รวมทั้งมีการส่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคสำหรับอ่างเก็บน้ำแม่สะกึ๋นส่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และโรงงานกลั่นสุราชุมชน 1.05 ล้าน ลบ.ม./ปี ส่วนอ่างเก็บน้ำห้วยเป้า ส่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค 147,383 ลบ.ม./ปี พร้อมกับช่วยพื้นที่ชลประทานฝายแม่ยมเฉพาะฤดูแล้ง 6,700 ไร่ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำของท้องถิ่นเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศของตำบลสะเอียบ และ รักษาสมดุลนิเวศท้ายน้ำ โดยระบายน้ำในฤดูแล้งลงลำน้ำเดิม”

พรมงคล ชิดชอบ
รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์

รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกว่า แม้ว่าการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทั้ง 2 แห่งนี้ จะไม่มีรอยเลื่อนมีพลังพาดผ่านเเต่ก็อยู่ใกล้ และมีโอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวสูงสุดขนาด 6.7 กรมชลประทานจึงออกเเบบเขื่อนทั้ง 2แห่งให้สามารถรองรับแผ่นดินไหวขนาดดังกล่าวได้ โดยออกเเบบตามมาตรฐานการออกเเบบเเผ่นดินไหวทั้งของกรมชลประทาน เเละมาตรฐานระดับโลก

นายอัสนี จารุชาต ผู้อำนวยการโครงการชลประทานแพร่ บอกว่า จ.แพร่ มีประชากรอยู่กว่า 430,000 คน และมีพื้นที่การเกษตรกว่า 800,000 ไร่ มีความต้องการใช้น้ำทั้งหมดประมาณ 1,027.32 ล้าน ลบ.ม./ปี แต่มีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สามารถกักเก็บน้ำได้เพียง 186.54 ล้าน ลบ.ม. หรือน้อยกว่าความต้องการใช้น้ำทั้งหมดกว่า 5 เท่า

อัสนี จารุชาต ผอ.โครงการชลประทานแพร่

ตำบลสะเอียบเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ ที่มีป่าสมบูรณ์ ขณะนี้สามารถก่อสร้างอ่างเก็บน้ำได้ 2 แห่ง ตามโครงการสะเอียบโมเดล ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและประชาชนในพื้นที่ โดยในอนาคตกรมชลประทานมีแผนพัฒนาโครงการชลประทานขนาดใหญ่และขนาดกลาง (พ.ศ. 2566-2570) จำนวน 15 โครงการ มีความจุรวมประมาณ 190.23 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะช่วยเก็บกักน้ำในฤดูฝนเพื่อไปใช้ในฤดูแล้งมากขึ้นและลดปัญหาอุทกภัย

ณัฐปคัลภ์ ศรีคำภา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสะเอียบ

ขณะที่ ณัฐปคัลภ์ ศรีคำภา นายก อบต.สะเอียบ ยอมรับว่า เคยเป็นคณะกรรมการคัดค้านการสร้างเขื่อนมาก่อน แต่เมื่อมีการศึกษาสะเอียบโมเดลร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาควิชาการ ก็ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง จากที่ชาวบ้านเคยขัดแย้งกับกรมชลประทาน ก็กลับกลายมาเป็นความร่วมมือในการพัฒนาแหล่งน้ำ เช่น โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่สะกึ๋น 2 และอ่างเก็บน้ำห้วยเป้านี้ จะสามารถช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำของชาวบ้านอย่างได้ผล เพราะขณะนี้ภาวะโลกร้อนทำให้เกิดปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก

“ปีนี้ที่เกิดภาวะอากาศร้อนจัดและภัยแล้งรุนแรงกว่าทุก ๆ ปี ชาวตำบลสะเอียบ จึงหวังด้วยว่าสะเอียบโมเดล จะสามารถเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมให้กับพื้นที่อื่น ๆ ใน จ.แพร่ได้อีกด้วย”

ณัฐปคัลภ์ ศรีคำภา

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active