5 สิ่งที่จะเกิดขึ้น หลังโควิด-19 ไม่ใช่โรคติดต่อร้ายแรง

1 ต.ค.นี้ ผู้ป่วยอาการน้อย ไม่แสดงอาการ ไม่ต้องกักตัว เข้าประเทศไม่ต้องแสดงใบฉีดวัคซีนหรือ ผลตรวจ ATK ขณะที่ “นพ.ยง” คาด คนไทยติดโควิด-19 แล้ว 60-70% ด้านการผลิตวัคซีนฝีมือคนไทย ทดลองใกล้เสร็จ ได้ใช้จริงปี 2567 

นับตั้งแต่ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ครั้งแรกเมื่อ วันที่ 13 ม.ค. 2563 นำมาสู่การประกาศให้เป็น “โรคติดต่ออันตราย” จนมีมาตรการปิดเมือง กักตัวผู้ติดเชื้อ หรือเสี่ยงสูง 14 วัน สถานการณ์การระบาดกินเวลา 2 ปีเต็ม เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2565 กระทรวงสาธารณ ประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นหลังทยอยฉีดวัคซีนให้กับประชาชนเข็มแรกเกิน 70% และรักษาแบบเจอ แจก จบ 

กระทั่งวันที่ 21 ก.ย. ที่ผ่านมา คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีมติยกเลิกโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตราย เป็น โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ลำดับที่ 57 ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป 

สำหรับวันนี้ (22 ก.ย. 2565) ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ รักษาตัวใน โรงพยาบาล 806 คน เสียชีวิต 15 คน ผู้ป่วยหนักปอดอักเสบรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 533 คน และใช้ท่อช่วยหายใจ 248 คน 

The Active รวบรวมสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังโควิด-19 ไม่ใช่โรคติดต่ออันตรายมีดังต่อไปนี้ 

1. ยกเลิกการแสดงเอกสารที่เกี่ยวข้องกับเอกสารวัคซีน หรือผลการตรวจ ATK โรคโควิด-19 ยกเว้นโรคไข้เหลืองที่ยังดำเนินการตามปกติที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ

2. ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการไม่ต้องกักตัว แต่ให้แยกกัก ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง อย่างเคร่งครัดตลอด 5 วัน 

3. ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ฝาสีแดงเข้ม ในเด็กอายุ 6 เดือน – 4 ปี คาดว่าเริ่มให้บริการได้ช่วงกลางเดือนตุลาคม 2565 ตามความสมัครใจของผู้ปกครองและเด็ก โดยไม่ได้เป็นเงื่อนไขในการไปโรงเรียน แต่แนะนำให้เด็กทุกคนเข้ารับวัคซีน โดยเฉพาะเด็กที่มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต

4. มีการใช้ Long Acting Antibody (LAAB) ในประชาชนกว่า 3.5 พันคน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือได้รับวัคซีนแล้ว แต่ภูมิคุ้มกันไม่ขึ้นเพื่อให้มีภูมิต้านทานต่อเชื้อโควิด-19 ต่อไป

5. ประชาชนใช้สิทธิการรักษาโควิด-19 เช่นเดียวกับโรคทั่วไป ทั้งการเข้าถึงการรักษาและได้รับยาต้านไวรัสตามแนวทางการรักษาล่าสุด รวมถึงการแยกกักผู้ป่วยที่สอดคล้องกับสถานการณ์

ทั้งนี้ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุถึง สถานการณ์โรคโควิด-19 ว่ามีแนวโน้มดีขึ้นทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยกำลังรักษา ผู้ป่วยหนัก และผู้เสียชีวิตมีจำนวนลดลงต่อเนื่อง ประชาชนส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานจากการฉีดวัดซีนโควิด-19 ครอบคลุมมากกว่า 82% และบางส่วนมีภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อ 

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคจำนวนหนึ่งที่ต้องขอให้มารับวัคซีนให้ครบ เพื่อให้มีความพร้อมเข้าสู่การดำเนินชีวิตที่เป็นปกติมากที่สุด โดยจะปรับเปลี่ยนมาตรการต่าง ๆ ให้ประชาชนอยู่ร่วมกับโควิด 19 ได้อย่างปลอดภัย ภายใต้การพิจารณาอย่างสมดุล ทั้งมุมมองด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง

คาดคนไทยติดโควิดแล้ว 60-70%

ขณะที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าปัจจุบันการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นไปอย่างกว้างขวาง ไม่สามารถที่จะบันทึกจำนวนผู้ที่ติดเชื้อที่มีอาการและไม่มีอาการได้ ยอดผู้ป่วยที่ได้จดแจ้งจะน้อยกว่าความเป็นจริง เพราะมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งมีอาการน้อย หรือไม่มีอาการ โดยเฉพาะในช่วงโอมิครอนมีการรายงานเฉพาะผู้ที่รับไว้ในโรงพยาบาลเท่านั้น ไม่สามารถบันทึกยอดผู้ป่วยที่ติดเชื้อจริง 

“จากการประเมินที่ได้มีการตรวจเลือดของสูงที่ผ่านมา น่าจะมีการติดเชื้อไปแล้วมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากร หรือน่าจะอยู่ที่ 60-70 เปอร์เซ็นต์” 

นพ.ยง กล่าว

นพ.ยง  ระบุต่อไปว่า การศึกษาหาจำนวนผู้ติดเชื้อที่แท้จริงกำลังดำเนินการอยู่โดยได้รับทุนวิจัยจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จะทำการศึกษาในกลุ่มประชากรตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป จนถึงผู้สูงอายุ โดยแบ่งกลุ่มต่าง ๆจำนวน 1,200 คน ได้รับความร่วมมือจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขสํานักสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี โดยจะเริ่มทำการศึกษาในต้นเดือนตุลาคมนี้และจะไปย้ายไปในจังหวัดอื่น ๆ ทุกภาคของประเทศไทย โดยการตรวจเลือดหาร่องรอยการติดเชื้อ จะทำให้ทราบจํานวนผู้ติดเชื้อ และ/หรือมีการฉีดวัคซีนไปแล้วเท่าใด จากภาคสนาม เพื่อนำมาใช้ในการวางแผน ในมาตรการการป้องกันโรค Covid-19 ของประเทศไทย ในอนาคตอันใกล้นี้ โดยเฉพาะความจำเป็นที่จะต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น

“วัคซีนโควิด” ฝีมือคนไทย ได้ใช้จริงปี 2567

กระทรวงสาธารณสุขได้รายงานผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาวัคซีนต้นแบบตั้งแต่ต้นน้ำและเตรียมความพร้อมรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโควิด-19 ซึ่งเป็นโครงการที่สถาบันวัคซีนแห่งชาติได้รับการจัดสรรงบกลางปี 2563 เพื่อดำเนินการใน 3 กิจกรรมวงเงินรวม 995.03 ล้านบาท

สำหรับความคืบหน้าทั้ง 3 กิจกรรมประกอบด้วย 

1.  งานด้านการเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมการผลิตวัคซีนชนิด Viral vector เพื่อทดสอบกระบวนการผลิตวัคซีนกลุ่ม Adenovirus  ตั้งแต่ระดับห้องปฏิบัติการระดับโรงงานต้นแบบจนถึงระดับอุตสาหกรรมและรองรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้ผลิตวัคซีนที่ได้มาตรฐาน งบประมาณดำเนินการ 596.24 ล้านบาท ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว

2. การพัฒนาวัคซีนต้นแบบตั้งแต่ต้นน้ำในประเทศไทยชนิด mRNA  มีงบประมาณดำเนินการ 365 ล้านบาท มีการพัฒนาวัคซีน 2 รุ่น ประกอบด้วย 

  • วัคซีนรุ่นที่1 (1st Gen ChulaCoV -19, Wild-type) จะใช้เวลาเกินกว่าแผนเดิมที่มีกำหนดเสร็จสิ้นเดือนก.ย. 65 ประมาณ 4-6 เดือน เนื่องจากมีการปรับกระบวนการผลิต ทำให้ต้องทดสอบเรื่องความปลอดภัยและความเป็นพิษในสัตว์ทดลองและในอาสาสมัครเพิ่มเติมเพื่อเทียบเคียงวัคซีนที่ผลิตในต่างประเทศ 
  • วัคซีนรุ่นที่ 2 (2nd Gen ChulaCoV-19;New variants) ที่ตอบสนองต่อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอมิครอนโดยศึกษาในสัตว์ทดลอง จะดำเนินการจนถึงพ.ค. 2566 

3. การเพิ่มศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานด้านสัตว์ทดลอง งบประมาณที่ได้รับ 33.79 ล้านบาท เพื่อพัฒนาห้องปฏิบัติการทดสอบวัคซีนและยาในสัตว์ไพรเมทคาดว่าจะนำมาติดตั้งได้ในเดือนก.ย. 2565 นี้  และสามารถรับการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยทางชีวภาพระดับที่ 3 ได้ในเดือนต.ค.65 และสามารถทดลองใช้งานได้ระหว่างเดือนพ.ย.65 – ม.ค.66 

ด้านโครงการที่ร่วมมือกับองค์กรต่างประเทศ คือการพัฒนาวัคซีนโควิด19 ชนิดเชื้อตาย NDV-HXP-S ซึ่งองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ร่วมกับสถาบัน PATH สหรัฐฯ ดำเนินการวิจัยทางคลินิกระยะที่2 ในเดือนส.ค.ที่ผ่านมา และจะเริ่มระยะที่ 3 ในปลายปี 2565 นี้ และขึ้นทะเบียนภายในปี 2566


นอกจากนี้ กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รายงานให้ทราบถึงความคืบหน้าของวัคซีนชนิดหยอดจมูก (Ad-5 Wuhan) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) ว่าได้มีการทดสอบพบว่าสามารถกระตุ้นภูมิได้ดี ปลอดภัยในสัตว์ทดลอง ขณะนี้อยู่ระหว่างการผลิตวัคซีนในโรงงานต้นแบบ จะมีการพัฒนาต่อเนื่องสำหรับรองรับโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ในอนาคต

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active