หลัง “เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์” เผย ครอบครัวป่วยโควิดซื้อโมลนูพิราเวียร์ออนไลน์ แนะรัฐบาลนำเข้าจากลาว ด้าน “หมอโอภาส” ชี้ หากกินยาไม่เหมาะสมเสี่ยงดื้อยา ขณะนี้พบปรากฏการณ์ Rebound คาดยากำจัดเชื้อไม่หมด ทำให้เชื้อที่ซ่อนอยู่แบ่งตัวใหม่
จากกรณีที่ รศ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยาคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2565 ว่าครอบครัวตนเองติดโควิด-19 แต่ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม 608 ทำให้ไม่ได้รับยาต้านไวรัส จึงสั่งยาโมลนูพิราเวียร์มาเอง แต่ขอไม่ระบุแหล่งที่ซื้อยา ซึ่งภายหลังได้ลบโพสต์ดังกล่าวแล้ว
ต่อมา อนุทิน ชาญวรีกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ยาโมลนูพิราเวียร์นำเข้าโดยผู้ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งตนสอบถามเลขาธิการ อย. ได้รับคำยืนยันว่าหากนำมาขึ้นทะเบียนถูกต้อง อย. ก็พร้อมออกทะเบียนให้
และเนื่องจากเป็นยาควบคุมพิเศษใช้ในภาวะฉุกเฉิน ดังนั้น การจ่ายยาจะต้องมีใบรับรองแพทย์ ส่วนเรื่องซื้อขายทั่วไปจะขึ้นอยู่กับผู้ขาย แต่คนที่จะซื้อต้องมีใบรับรองแพทย์
เมื่อถามว่ากรณีที่มีเพจเฟซบุ๊กโพสต์ขายยาโมลนูพิราเวียร์คอร์สละ 1,500-2,500 บาท นายอนุทินกล่าวว่า อย. ดำเนินการอยู่ การนำเข้ามาขายเช่นนี้ ไม่ใช่แค่เพียงโฆษณาอย่างเดียว ยังถือเป็นการหลอกลวง ขนาดร้านยายังขายไม่ได้เลย การนำมาขายออนไลน์ยิ่งอันตราย
ด้าน รศ.เจษฎา โพสต์เฟซบุ๊คภายหลังจากการให้สัมภาษณ์ของ อนุทิน ว่า “ถ้าไทยเรา นำเข้ายาต้านไวรัสจากลาว ได้อย่างเป็นทางการ ก็ดีนะครับ มีหลายยี่ห้อเลย … ไม่ต้องมาลุ้นตอนแอบสั่งซื้อออนไลน์กัน ว่าจะได้ยาจริงยาปลอม”
ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ย้ำว่าผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่จำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัสทุกคน ซึ่งคนที่แข็งแรง ฉีดวัคซีนครบถ้วน ส่วนใหญ่อาการน้อยก็ไม่จำเป็นต้องรับยาต้านไวรัส การจ่ายยาขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ตามมาตรฐานสากล เนื่องจากเป็นผู้ซักประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจทางห้องปฏิบัติการผู้ป่วยโดยตรง จึงเป็นผู้พิจารณาการเลือกยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยได้ดีที่สุด
ทั้งนี้ ยาต้านไวรัสเป็นสารเคมีชนิดหนึ่ง มีทั้งข้อดีข้อเสีย หากรับประทานไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม อาจเกิดผลข้างเคียงหรือการดื้อยาได้ ซึ่งขณะนี้เจอเจอปรากฏการณ์ใหม่ คือการรีบาวนด์ (Rebound) เช่น กรณีนายโจไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่รับยาต้านไวรัสแต่กลับมาพบเชื้อใหม่ สมมติฐานคืออาจเกิดจากรับยาต้านไวรัสเข้าไป และยาไม่สามารถกำจัดเชื้อในร่างกายคนบางคนให้หมดไป พอหยุดยาเชื้อที่ซ่อนอยู่ก็กลับมาแบ่งตัวขึ้นใหม่ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องติดตามรายละเอียดต่อไป
ส่วนสถานการณ์โรคโควิด-19 ของประเทศไทยเป็นไปตามคาดการณ์ จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่เริ่มคงตัว ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ระบบสาธารณสุขรองรับได้ โดยผู้ป่วยอาการหนัก ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิตคงตัวและเริ่มมีแนวโน้มค่อย ๆ ลดลงใน 2-3 สัปดาห์
อย่างไรก็ตาม ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีโรคประจำตัวเรื้อรังและไม่ได้รับเข็มกระตุ้น ซึ่งขณะนี้การระบาดเป็นสายพันธุ์ BA.4/BA.5 ค่อนข้างดื้อต่อวัคซีน การฉีดเข็มกระตุ้นจะเป็นปัจจัยสำคัญช่วยลดการป่วยอาการหนักและเสียชีวิตได้ ดังนั้น หากฉีดเข็มล่าสุดมากกว่า 3-4 เดือนขึ้นไป สามารถไปฉีดเข็มกระตุ้นได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน ศูนย์บริการสาธารณสุข ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ส่วนช่วงเดือนที่ผ่านมามีวันหยุดยาวหลายวัน มีประชาชนเดินทางกลับบ้านจำนวนมาก ต้องติดตามสถานการณ์ในต่างจังหวัดว่าจะมีการระบาดเพิ่มขึ้นหรือไม่
สำหรับการใช้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปหรือภูมิคุ้มกันออกฤทธิ์ชนิดยาว (Long Acting Antibody :LAAB) นพ.โอภาส กล่าวว่า เหมาะกับประชาชนกลุ่มหนึ่งที่ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้ไม่ดี โดย 1 กล่องมีภูมิคุ้มกัน 2 ชนิด บรรจุ 2 ขวด ฉีดพร้อมกันครั้งเดียวบริเวณสะโพก ฉีดแล้วมีภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคโดยตรง อยู่ได้นาน 6 เดือน ข้อบ่งใช้ คือ ใช้ป้องกันล่วงหน้าก่อนรับเชื้อสำหรับคนที่ร่างกายตอบสนองภูมิคุ้มกันไม่ดี หรือแพทย์ที่ดูแลคนไข้มองว่าควรรับ LAAB ถือเป็นเปิดกว้างให้เข้าถึงมากที่สุด เบื้องต้นใช้ในเด็ก 12 ปีขึ้นไป กลุ่มผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่มีการฟอกเลือด ล้างไตหน้าท้อง และปลูกถ่ายไต เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีการเสียชีวิตสูง รวมถึงคนปลูกถ่ายอวัยวะและรับยากดภูมิคุ้มกัน การบริหารจัดการ การคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายขึ้นกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร เบื้องต้นสัปดาห์นี้จะกระจายครบ 7 พันโดสไปทุกจังหวัด และจะเข้ามาจนครบ 2.5 แสนโดสต่อไป ถ้าเราเร่งฉีดจะลดการเสียชีวิตได้