สธ. เผยสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้นมาก เข้าสู่โรคประจำถิ่นเร็วกว่าคาดการณ์กว่าครึ่งเดือน เร่งประชุมทำความเข้าใจ นายแพทย์ สสจ. และผอ.โรงพยาบาลทั่วประเทศ เน้นอยู่กับโรคอย่างเข้าใจ
วันนี้ (18 พ.ค. 2565) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าสถานการณ์โควิด-19 มีทิศทางดีขึ้นต่อเนื่อง น่าจะเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ตามกำหนดกว่าครึ่งเดือน จึงให้ทุกหน่วยงานเตรียมวางแผนการดำเนินงานรองรับ โดยเฉพาะเรื่องระบบบริการสาธารณสุข ซึ่งขณะนี้สายพันธุ์โอมิครอนมีความรุนแรงลดลงอย่างมาก ความรุนแรงน้อยกว่าโรคไข้หวัดใหญ่ ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการ หรือมีอาการคล้ายไข้หวัด ประกอบกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 มีความครอบคลุมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ก่อนหน้านี้มีข้อเสนอจากสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย ระบุภาคธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจกลางคืนต้องการให้มีการเปิดผับ บาร์ นำร่องใน 28 จังหวัดท่องเที่ยว เริ่ม 1 มิ.ย.นี้ เพื่อขับเคลื่อนภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ครอบคลุมตั้งแต่พ่อครัว นักดนตรี ตลกโชว์ รวมถึงรถรับจ้าง ให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ ซึ่งหากเปิดได้จะสามารถสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท
โดยวันที่ 20 พ.ค. นี้ที่จะมีมีการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด –19 (ศบค.) กระทรวงสาธารณสุข จะเสนอที่ประชุมให้ปรับพื้นที่สีเขียว ที่จะอนุญาตให้เปิดผับ บาร์ คาราโอเกะได้
สธ.เฝ้าระวังภาวะลองโควิด
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า เตรียมพร้อมการดูแลภาวะลองโควิด โดยกรมการแพทย์ได้จัดทำแนวทางการคัดกรองและการประเมินอาการเบื้องต้น รวมถึงวางระบบดูแลรักษาติดตามอาการ สิ่งสำคัญคือ มีการบูรณาการการรักษาภาวะลองโควิดไปยังทุกแผนกที่เกี่ยวข้อง มีช่องทางการให้คำปรึกษาส่งต่อระหว่างสถานพยาบาล และเก็บข้อมูลผู้ป่วยภาวะลองโควิดรายสัปดาห์หรือรายเดือน ซึ่งจะมีการประชุมร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดและผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วประเทศเพื่อสื่อสารทำความเข้าใจ ให้สามารถเดินหน้าเรื่องนี้ไปในทิศทางเดียวกัน
สำหรับมาตรการด้านกฎหมายและสังคมจะมีการปรับให้สอดคล้องเช่นกัน เช่น การปรับจากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง การปรับลดมาตรการต่างๆ ให้สามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติภายใต้วิถีชีวิตใหม่ บนหลักการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับโรคได้ โดยเฉพาะการคงหลักพฤติกรรมสุขอนามัยที่พึงประสงค์ เช่น การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเมื่อเข้าไปในสถานที่ปิด ระบายอากาศไม่ดี มีคนรวมตัวกันหนาแน่นไม่สามารถเว้นระยะห่างได้ หรือมีความใกล้ชิดกับผู้ป่วย การล้างมือบ่อยๆ คัดกรองตนเองเมื่อมีความเสี่ยงหรือมีอาการ ขณะที่สถานประกอบการและกิจการต่างๆ ยังต้องเข้มการจัดการสิ่งแวดล้อม ทำความสะอาด จัดการขยะตามหลักสุขาภิบาล เพื่อให้เป็นสถานที่ที่มีความปลอดภัย ไม่เฉพาะแค่โรคโควิด 19 แต่ยังรวมถึงโรคอื่นๆ ด้วย