ยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 แตะร้อยคน 3 วันติด เร่งกระจายยาแพกซ์โลวิด 5 หมื่นคอร์สรองรับผู้ป่วยหลังสงกรานต์ ปลัดสธ.เผยประสิทธิภาพลดความเสี่ยงเสียชีวิต 88%
วันนี้ (12 เม.ย. 2565) สถานการณ์การระบาด โควิด-19 ยอดผู้เสียชีวิตวันนี้ 101 คนซึ่งเป็นวันที่ 3 แล้วที่มีผู้ติดที่มีผู้เสียชีวิตร้อยคนโดยเมื่อวานนี้ (11 เม.ย.) เสียชีวิต 105 คน และเมื่อวานซืน (10 เม.ย.) เสียชีวิต 108 คนเป็นสถิติใหม่ของการระบาดรอบนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2565
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยในผูป่วย 1,379 คน พบว่า ยาแพกซ์โลวิดช่วยลดความเสี่ยงการนอนโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตลงได้ 88% เมื่อผู้ป่วยได้รับยาภายใน 5 วันนับตั้งแต่เริ่มมีอาการ โดยกลุ่มที่ให้ยาแพกซ์โลวิด มีการนอนโรงพยาบาล 0.77% และไม่มีผู้เสียชีวิต ส่วนกลุ่มที่ได้รับยาหลอก มีผู้ป่วยนอนโรงพยาบาล 6.31% และมีผู้เสียชีวิต 13 คน ถือว่ามีประสิทธิผลสูง
ยาแพกซ์โลวิด 50,000 คอร์ส (40 เม็ดต่อคอร์ส รวมประมาณ 2 ล้านเม็ด) ที่ส่งมอบครั้งนี้ จะนำไปใช้รักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลางและมีความเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง เช่น คนอายุมากกว่า 60 ปี มีภาวะอ้วน เป็นเบาหวาน เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นโรคไตเรื้อรัง ภูมิต้านทานร่างกายต่ำ เป็นต้น เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตหรือการรักษาตัวในโรงพยาบาล
ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์ได้เริ่มเจรจาจัดซื้อยาแพกซ์โลวิดกับบริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 ตามกระบวนการขั้นตอนต่างๆ จนมีการตรวจรับและส่งมอบยาเมื่อวันที่ 11 เม.ย. เพื่อให้สามารถนำยาดังกล่าวไปใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้ทันในช่วงเดือนเมษายน เป็นการเตรียมความพร้อมรับมือการระบาดของโรคโควิด-19 หลังจากเทศกาลสงกรานต์ที่คาดว่าอาจจะมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น
โดยองค์การเภสัชกรรม จะทำหน้าที่จัดเก็บและกระจายยาไปยังสถานพยาบาลต่างๆ ทั้งนี้ ยาแพกซ์โลวิดเป็นยาต้านไวรัสชนิดเม็ด ออกฤทธิ์โดยยับยั้งเอนไซม์โปรตีเอส (protease) ทำให้เชื้อไวรัสโควิดไม่สามารถสร้างโปรตีนที่จำเป็นต้องใช้ในการเพิ่มจำนวนได้ ยานี้ประกอบด้วย ยา Nirmatrelvir (150 มก.) จำนวน 2 เม็ด และยา Ritonavir (100 มก.) จำนวน 1 เม็ด รับประทานวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน (ใช้ Nirmatrelvir 20 เม็ด และ Ritonavir 10 เม็ด/คน) กลุ่มที่ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง คือ สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร ผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม ผู้ที่การทำงานของตับหรือไตบกพร่อง รวมถึงผู้ที่ใช้ยาบางชนิดที่อาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างกัน การพิจารณาให้ยาจึงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา