“คอมโควิด” เสนอเลิกตรวจ-เปลี่ยนกักตัวเป็นแยกตัว ขานรับโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น

ผอ. IHRI จี้รัฐระบุให้ชัด คนไม่มีอาการหรืออาการน้อยไม่ต้องเข้าสู่ระบบรักษา “สปสช.” ปัดถังแตกเหตุปรับจาก HI เป็น OPD แจงช่วยพาสังคมออกจากความรู้สึกกลัวโรค 

17 มี.ค.​ 2565 เวทีสาธารณะ เท่าทันโรค เท่าเทียมกัน นับถอยหลังโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น โดย The Active  ร่วมกับเครือข่ายคอมโควิด และภาคีเครือข่าย  เปิดเวทีสื่อสารการใช้ชีวิตร่วมกับโควิด-19 อย่างเข้าใจ และสมดุล บนข้อมูลที่ถูกต้อง ที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กทม.​

เสียงสะท้อนจากชุมชนหลายแห่งที่เข้าร่วม เวทีสาธารณะในครั้งนี้ ถ่ายทอดประสบการณ์การรับมือกับ โควิด-19 ในการระบาดทุกรอบที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันกำลังจะเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น  โดยพบว่าหลายคนยังคงมีความกังวล  หวาดกลัว  ทำให้การปฏิบัติตัวมีความสับสน ยกตัวอย่างเช่นกรณี เจอ แจก จบ ให้ผู้ติดเชื้อเดินทางไปที่โรงพยาบาลเอง และให้กลับมากักตัวที่บ้าน ในขณะที่ยังห้ามออกไปภายนอก ซึ่งสร้างความลำบากต่อการใช้ชีวิตเพราะไม่มีการส่งข้าวส่งน้ำ 

แพทย์หญิง นิตยา ภานุภาค ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี(IHRI)  กล่าวว่า ปัจจุบันการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน มีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่า ก่อโรครุนแรงน้อยลง ผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่แทบไม่มีอาการหรือมีไข้เพียงวันเดียว ต่างจากสายพันธุ์เดิมที่เชื้อมักจะเข้าไปที่ระบบหายใจส่วนล่างหรือเข้าไปถึงปอด แต่เชื้อปัจจุบันอยู่ที่ระบบหายใจส่วนบน มักจะเกิดอาการรุนแรงกับผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเท่านั้น ขณะที่ภูมิคุ้มกันของประชากรในประเทศเพิ่มมากขึ้นจากทั้งสัดส่วนการฉีดวัคซีน และจำนวนผู้ติดเชื้อ 

แพทย์หญิง นิตยา กล่าวอีกว่า รัฐต้องออกมาพูดให้ชัดว่า คนที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยอาจไม่ต้องเข้าสู่ระบบการรักษาแล้ว เพราะสามารถรักษาตัวเองได้ในขณะเดียวกันคงต้องเลิกตรวจหาเชื้อ เมื่อจะเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น

“การตรวจแล้วลบแปลว่าไม่ติดเชื้อนั้นเป็นความเชื่อที่ผิด และการเป็นโรคประจำถิ่น ไม่ได้หมายความว่าไม่มีการระบาด แต่การระบาดไม่เป็นภาระต่อระบบสาธารณสุข เราจะไปหาเคสที่ไม่ต้องเข้าระบบ เพื่ออะไรจะสิ้นเปลืองไปถึงไหน ที่ผ่านมาเราตอกย้ำว่า ATK เป็นสิ่งพิเศษที่ทำให้ตัวเองปลอดภัย”

ด้าน ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุว่าตั้งแต่การระบาดตั้งแต่ 1 เมษายนปี 2564 มีหน่วยบริการเบิกเงิน ค่ารักษามาแล้ว 2.1 แสนล้านบาท ในขณะที่จ่ายไปแล้ว 1.3 แสนล้านบาท หรือจ่ายไป 60% ซึ่งทั้งหมดเป็นเงินที่รัฐบาลกู้มา lสำหรับการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนนั้นยอมรับว่าลดต้องค่าใช้จ่ายลงไปจากเชื้อที่ลดความรุนแรงลง 

ที่ผ่านมา สปสช. แบกความคาดหวังของประชาชน ผู้ติดเชื้อที่วิ่งเข้าสู่ระบบอย่างน้อยต้องโทรหา 1330 ในช่วงพีคที่ มีผู้โทรเข้ามา 7-8 หมื่นสาย/วัน ไม่สามารถจะรับได้หมด นำมาสู่การปรับไปเป็นการรักษาแบบผู้ป่วยนอก หรือ เจอ แจก จบเมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมาและขอยืนยันว่าการปรับแนวทางการรักษา เป็นเหตุผลทางการแพทย์ ไม่ใช่เหตุผลเรื่องงบประมาณ ที่ขาดแคลนหรือไม่เพียงพอ

“รัฐบาลไม่มีเงินหรือเปล่า จึงเริ่มเปลี่ยนระบบจาก hi มีส่งข้าวส่งน้ำ เป็น OPD อยากให้เข้าใจว่าตอนนี้เรามีแนวคิดเปลี่ยนผ่านจากโรคระบาดร้ายแรง เป็นโรคประจำถิ่น การปรับแนวทางการรักษาจะช่วย พาสังคมออกจากความรู้สึกว่าโรคมันรุนแรงไปในตัว” 

ขณะที่นางอารี คุ้มทรัพย์ ตัวแทนเครือข่ายคอมโควิด บอกว่าอยากให้รัฐบาลพูดให้ชัด เรื่องแนวทางการกักตัวที่อาจต้องเลิกใช้แนวทางนี้ เปลี่ยนเป็นการแยกตัวเอง เพื่อให้ผู้ติดเชื้อสามารถดูแลตัวเองได้ ออกไปซื้อยา ซื้ออาหารเองได้ ด้วยการป้องกันตัวเอง และต้องสร้างความเชื่อใหม่ว่า อยากฝากความปลอดภัยไว้กับคนอื่น 

“ภาพความจำเรื่องความกลัวมันฝังลึกแต่ระลอกแรก การป้องกันที่เกินความจำเป็น ทำให้เกิดความกลัว มาตรการที่ยังเข้มข้นมากเกินเหตุ เป็นอุปสรรค์ต่อการเข้าสู่โรคประจำถิ่น เราต้องหยุดการตีตราผู้ติดเชื้อ จากองค์ความรู้ทั้งหมดพิสูจน์แล้วว่าเราอยู่ร่วมกับผู้ป่วยได้” 

ข้อเสนอหลายอย่างที่ดูก้าวหน้าไปมากนั้น นายแพทย์ เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กล่าวว่าบางข้อเสนอยังต้องรอการรีวิวทบทวนจากผู้เชียวชาญหลายคน จะเร็วหรือช้า ที่จะทำแบบนั้นบางข้อเสนออาจทำได้เลย หรือบางข้อเสนออาจต้องรออีก 4 เดือนไปพร้อมๆกับการประกาศเป็นโรคประจำถิ่นของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ชื่นชมความเข้มแข็งของชุมชนในการปรับตัว อาศัยความรู้ความเข้าใจ ลดความกลัวเพื่อเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น 

สรุปข้อเสนอเครือข่ายคอมโควิด

เพื่อการใช้ชีวิตร่วมกับโควิดอย่างเข้าใจและปลอดภัย กับการเตรียมความพร้อมเมื่อโควิดเป็นโรคประจำถิ่น เครือข่ายคอมโควิด ระบุว่าสถานการณ์ของ “ตัวโรค” เปลี่ยน แต่ความกลัวความไม่เข้าใจของคนส่วนใหญ่ยังไม่เปลี่ยน  การทำให้รู้สึกกลัวโควิดทั้งจาก สื่อและมาตรการต่างๆของรัฐ  ตอกย้ำความไม่เข้าใจ นำไปสู่การรังเกียจ กีดกัน ผู้ติดเชื้อและครอบครัว   ความไม่เข้าใจเรื่องการดูแลรักษา นำไปสู่การเข้าใช้บริการในระบบสุขภาพที่เกินความจำเป็นสร้างผลกระทบทั้งต่อผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ

โควิด 19 เป็นโรคติดต่อได้ในระบบทางเดินหายใจ   โอกาสที่จะรับเชื้อหรือส่งเชื้อ คือ การอยู่ใกล้ชิดกันโดยไม่สวมหน้ากากอนามัย การป้องกันที่ถูกต้อง และเพียงพอในการป้องกันโควิด คือ

  1. สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ใกล้ชิดกัน   ถ้าถอดหน้ากากให้อยู่ห่างกัน 2 เมตร 
  2. การได้รับฉีดวัคซีนครบจะช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อและลดการแพร่เชื้อ
  3. การล้างมือ  เพราะมืออาจสัมผัสเชื้อ แล้วมาจับบริเวณใบหน้า  

การป้องกันที่เกินความจำเป็น  ควรยกเลิกหรือไม่ควรทำ

  1. การฉีดพ่นน้ำยา ตามสถานที่ต่างๆ  หรือตามร่างกาย  เพราะไม่มีประโยชน์  (เอกสารแนบ สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย)
  2. การสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันตนเอง (ชุด PPE)  ที่เกินความจำเป็น ในกิจกรรมบริการที่มีความเสี่ยงในการรับเชื้อน้อย  เช่น  การเคลื่อนย้ายศพ    การเคลื่อนย้าย/รับส่งผู้ป่วย  การเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้าน/ชุมชน   การให้บริการตรวจ ATK ในชุมชนซึ่งส่วนใหญ่ทำในที่โล่ง   การให้บริการฉีดวัคซีนโควิด   
  3. การจัดการศพของผู้เสียชีวิตจากโควิด เช่น การใส่ถุงเก็บศพ ห้ามเปิดถุง ห้ามอาบน้ำศพ ฯลฯ  ทำให้ศพของผู้เสียชีวิต ไม่ได้รับการจัดการตามความเชื่อทางศาสนา  ซึ่งในความเป็นจริงแล้วโอกาสที่ศพจะแพร่เชื้อโควิดมีน้อยมาก 
  4. การให้พนักงาน หรือผู้ใช้บริการ ในห้องอาหารของโรงแรม ในเครื่องบินฯลฯ  ต้องสวมถุงมือ เพราะเชื้อไม่ได้เข้าสู่ร่างกายทางผิวหนัง  และการสวมถุงมือทำให้คนละเลยการล้างมือ
  5. สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆของผู้ติดเชื้อโควิด ถูกจัดว่าเป็นขยะติดเชื้อ ต้องทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ หรือแยกทิ้ง แยกกำจัด  

การป้องกันที่เกินความจำเป็นดังกล่าว เป็นสิ่งที่คนเห็นได้ทั่วไป และเห็นผ่านทางสื่อต่างๆ   ทำให้ตอกย้ำความเข้าใจผิดและทำตามกัน โดยไม่ได้เข้าใจว่าเชื้อโควิดติดต่อทางไหน ติดต่ออย่างไร ผลกระทบที่สำคัญ “ความกลัว” นำไปสู่การรังเกียจ กีดกัน ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญของการใช้ชีวิตร่วมกันในชุมชนสังคม  

การตรวจ ATK แบบสมเหตุผล ไม่สิ้นเปลือง ไม่เป็นภาระงบประมาณ  ไม่สร้างขยะ แต่ทำให้คนที่ติดเชื้อโควิดได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสม

คนที่ควรตรวจ ATK

  1. ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง* และเป็นผู้สูงอายุ  หรือมีโรคประจำตัว  หรือเป็นหญิงตั้งครรภ์  เป็นเด็กเล็ก
  2. ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่มีอาการของโควิด

* สัมผัสเสี่ยงสูง  หมายถึง  อยู่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิดโดยไม่สวมหน้ากากอนามัย

คนที่สัมผัสเสี่ยงสูงแต่ไม่ได้อยู่ใน  2  ข้อดังกล่าว  ยังไม่จำเป็นต้องตรวจ ATK เหตุผลเพราะ ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นบวก หรือ ลบ  การดูแลหรือการปฏิบัติตัวไม่มีความแตกต่างกัน คือ ไม่จำเป็นต้องรับการรักษาใดๆ  สิ่งที่ต้องปฏิบัติคือ  การสวมหน้ากากอนามัย การแยกตัวจากคนอื่น และการสังเกตอาการตัวเอง

การตรวจ ATK มีประโยชน์ ในคนที่สัมผัสเสี่ยงสูงและถ้าติดเชื้อจำเป็นต้องได้รับการรักษา

การตรวจ ATK ที่เกินความจำเป็น ไม่สมเหตุผล ควรยกเลิก หรือหยุดทำ

  1. การตรวจเด็กที่จะไปโรงเรียน /ไปสอบ    
  2. การให้พนักงาน หรือเจ้าหน้าที่  ตรวจเป็นประจำ
  3. การตรวจก่อนเข้าใช้ ห้องประชุม  สำนักงาน/อาคาร  หรือเข้าพื้นที่
  4. การให้ผู้ติดเชื้อตรวจซ้ำเพื่อเป็นการยืนยันว่าหายแล้ว
  5. การตรวจแบบไม่มีข้อบ่งชี้ ตรวจเพราะกังวล  

การตรวจ ATK ที่เกินความจำเป็น ไม่สมเหตุผล  ดังกล่าวไม่มีประโยชน์  ไม่ได้ช่วยให้ใครปลอดภัย เพราะ  ATK  ไม่ใช่เครื่องมือในการป้องกัน ATK เป็นลบไม่ได้เท่ากับไม่ติดเชื้ออยู่  การป้องกันโควิดที่ถูกต้อง คือการสวมหน้ากากอนามัย  การรับวัคซีน การจัดสิ่งแวดล้อมให้อากาศถ่ายเท ในกรณีที่ต้องอยู่แบบแออัด   

“การตรวจ ATK ที่เกินความจำเป็นมีสาเหตุมาจากความกลัว กลายเป็นเครื่องมือในการกีดกัน เลือกปฏิบัติ  สร้างความแตกแยกของคนในชุมชนสังคม”   

การดูแลตนเองและการเข้ารับบริการในระบบสาธารณสุข ของผู้ติดเชื้อโควิด

ระบบการรักษาในปัจจุบัน คือ ให้ผู้ติดเชื้อที่เป็นสีเขียวไปรับบริการแบบผู้ป่วยนอกตามสิทธิการรักษา  ผลกระทบที่เกิดขึ้น คือมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากไปโรงพยาบาล โดยคาดหวังจะได้รับการรักษา   ซึ่งสร้างปัญหาให้กับผู้ให้บริการ ทั้งในด้านจำนวนผู้ป่วยที่มากเกินที่ระบบจะรับมือได้ และความคาดหวังของผู้ติดเชื้อโควิดที่จะต้องได้รับยาต้านไวรัส และต้องเข้านอนในโรงพยาบาล ซึ่งไม่สอดคล้องกับองค์ความรู้โควิดในปัจจุบัน

แนวทางการลดผลกระทบ และสร้างความมั่นใจในการใช้ชีวิตร่วมกับโควิดอย่างปลอดภัย

  1. ตรวจ ATK เมื่อสัมผัสเสี่ยงสูงและมีปัจจัยที่เสี่ยงจะป่วยรุนแรง* หรือเมื่อมีอาการของโควิด เท่านั้น  
  2. สื่อสารทำความเข้าใจว่า คนที่ติดเชื้อโควิดและไม่มีปัจจัยที่เสี่ยงจะป่วยรุนแรง  สามารถหายจากการติดเชื้อได้เองภายใน10 วัน นับไปจากวันที่เริ่มมีอาการ โดยไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยยาต้านไวรัสใดๆ   
  3. คนที่ตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด สิ่งแรกที่ต้องทำก่อนนึกถึงการไปโรงพยาบาลคือ
    – ประเมินตนเองว่ามีปัจจัยที่เสี่ยงจะป่วยรุนแรงหรือไม่  ถ้าใช่ เข้าระบบการรักษาแบบ HI  ซึ่งเป็นบริการแบบ Virtual Hospital  หรือไปรพ. ตามความเร่งด่วนของอาการ
    – กรณีไม่มีปัจจัยที่เสี่ยงจะป่วยรุนแรง* สามารถดูแลเบื้องต้นตามอาการ  สังเกตอาการ ถ้า 3-  4 วัน  อาการไม่ดีขึ้น เช่น ยังมีไข้สูง  จึงไปโรงพยาบาลตามสิทธิ
  4. ยกเลิกการที่ผู้ติดเชื้อโควิดต้องกักตัว ปรับเป็นการแยกตัว   หมายถึงสามารถออกจากบ้าน ออกไปทำงาน  ไปหาซื้ออาหาร ฯลฯ  โดยต้องสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ใกล้ชิดคนอื่น  ถ้าถอดหน้ากากให้เว้นระยะอย่างน้อย 2 เมตรจากคนอื่น
  5. ยกเลิกการห้ามผู้ติดเชื้อโควิดใช้บริการขนส่งสาธารณะ  เนื่องจากในการใช้บริการขนส่งสาธารณะทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัย ลดการพูดคุย ลดการกินอาหารในการใช้บริการอยู่แล้ว

* ปัจจัยที่เสี่ยงจะป่วยรุนแรง หมายถึง 1) อายุเกิน 60 ปี 2) มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน  โรคหลอดเลือดสมอง ความดันสูง  โรคอ้วนโรคไตเรื้อรัง มะเร็งระยะรักษา โรคปอดเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคตับแข็ง ภูมิคุ้มกันต่ำ (เม็ดเลือดขาว< 1000) 3) หญิงตั้งครรภ์ 4) เด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี

กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายที่จะประกาศว่า “โควิดเป็นโรคประจำถิ่น”  แต่หากคนยังคงไม่เข้าใจกลัวการอยู่ร่วมกับโควิด คงเป็นเรื่องที่สวนความรู้สึก และสร้างความสับสน   ดังนั้นการหยุดการกระทำหรือยกเลิกรกมาตรการ ที่สร้างความกลัว ความเข้าใจผิด  ควบคู่กับการสร้างความมั่นใจว่าสามารถใช้ชีวิตร่วมกับโควิดได้เป็นสิ่งสำคัญเร่งด่วน  กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานภาครัฐต้องเร่งทำความเข้าใจกับบุคคลากร และทำให้เกิดแนวทางการปฏิบัติเป็นต้นแบบที่ถูกต้องกับคนในชุมชนสังคม

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS