นักระบาดฯ คาด จุดพีค “โอมิครอน” หลังสงกรานต์ ผู้เสียชีวิตแตะร้อย

ลุ้นกดตัวเลขผู้ติดเชื้อเหลือ 1-2 พันคน ปลาย พ.ค. นี้ได้หรือไม่ หลังคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เปิดไทม์ไลน์ วางแผน 4 ระยะให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นเร็วขึ้น 1 ก.ค. นี้ 

เร็วกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้สำหรับแผนการปรับโควิด-19 ให้เป็นโรคประจำถิ่นของไทย เพราะคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ระบุออกมาแล้ว ให้เริ่มนับตั้งแต่ 1 กรกฎาคมนี้ โดยวางแผนว่า ปลายเดือน พ.ค. นี้ ต้องเหลือผู้ติดเชื้อแค่ 1-2 พันคน ขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่วานนี้ (10 มี.ค. 2565) จำนวน 22,984 คน และถ้ารวมกับผลตรวจ ATK อีก 49,494 คน รวมกันสูงถึง 72,478 คน และมีผู้เสียชีวิตทำสถิติสูงในรอบปีนี้ที่ 74 คน 

ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ประธานหลักสูตรสาขาระบาดวิทยา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เปิดเผยกับ The Active ว่าต้องติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด เพราะคาดว่าโอมิครอนน่าจะสู่ช่วงพีคหลังเทศกาลสงกรานต์ถึงต้นเดือนพฤษภาคม โดยจำนวนผู้เสียชีวิตอาจไปแตะถึงหลัก 100 คน ซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์โมเมนตัมของการระบาดเนื่องจากประเทศไทยเข้าช่วงขาขึ้นช้า ก็จะเข้าสู่ช่วงขาลงช้า แต่การคาดการณ์ของกระทรวงสาธารณสุขตามแผนการเปลี่ยนผ่านไปสู่โรคประจำถิ่นระบุว่า ปลายเดือนพฤษภาคม จะเห็นผู้ติดเชื้ออยู่ที่ประมาณหลัก 1,000 ถึง 2,000 คน เท่านั้น 

“ถึงวันที่ 1 กรกฎาคมแล้ว ควรจะเปิดให้ได้หรือเปล่า​ ผมว่ามันเร็วเกินไปที่จะบอกอย่างนั้น​ เพราะว่าถึงเวลารัฐบาลอาจจะเปลี่ยนใจถ้าสถานการณ์มันเลวลง แต่ถ้าสถานการณ์เป็นอย่างที่คาด ประชาชนยอมรับได้ อยากให้มีเศรษฐกิจ ก็คงเป็นไปตามที่เขาวางไว้ นอกจากเป็นเรื่องวิชาการ มันเป็นเรื่องของความรู้สึกของประชาชนว่าเขาต้องการยังไงด้วย” 

ศ.นพ.วีระศักดิ์ วิเคราะห์อีกว่า การเร่งประกาศเป็นโรคประจำถิ่น ด้านหนึ่งเป็นการยอมแพ้ว่าเราทำอะไรไม่ค่อยได้มาก นอกจากการฉีดวัคซีน แต่อีกด้านหนึ่งเป็นการประนีประนอมกับเชื้อโรค เนื่องจากเชื้อโรคก็ไม่ได้ทำให้คนตายมากอย่างรุนแรง สำคัญที่สุดคือจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการ จะต้องได้รับการรักษา จํานวนผู้ติดเชื้อไม่ใช่จำนวนที่สำคัญ

เขายังเห็นว่าแม้จะเข้าสู่โรคประจำถิ่นแล้ว แต่การมีอยู่ของ ศบค. อาจจะยังต้องอยู่ต่อไปเพื่อบูรณาการหลายหน่วยงาน เพื่อคอยสั่งการออกกฎหมายชั่วคราว กำหนดนโยบายภาพรวมของทั้งเศรษฐกิจและด้านระบาดวิทยาต่อไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งต้องเป็นผู้นำระดับสูงในรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบ

ด้าน อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า หากโควิด-19 เข้าสู่โรคประจำถิ่น ผับ บาร์ คาราโอเกะ จะสามารถเปิดได้ แต่จะมีรายละเอียดขั้นตอนที่จะมีแผนดำเนินการออกมา

ขณะที่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงรายละเอียดแผนการเข้าสู่ว่า คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติเห็นชอบแผนรองรับการเข้าสู่โรคประจำถิ่น โดยแบ่งออกเป็น 4 เดือน เรียกว่า 3 บวก 1 หรือ 4 ระยะ ดังนี้

  • ระยะที่ 1 วันที่ 12 มี.ค. – ต้น เม.ย. เรียกว่า Combatting ต้องออกแรงกดตัวเลขไม่ให้สูงกว่านี้ เป็นระยะต่อสู้ เพื่อลดการระบาด ลดความรุนแรงลง จะมีมาตรการต่าง ๆ ออกไป การดำเนินการให้กักตัวลดลง
  • ระยะที่ 2 วันที่ เม.ย. – พ.ค. เรียกว่า Plateau คือ การคงระดับผู้ติดเชื้อไม่ให้สูงขึ้นให้เป็นระนาบจนลดลงเรื่อย ๆ
  • ระยะที่ 3 วันที่ ปลาย พ.ค.-30 มิ.ย. เรียกว่า Declining การลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงให้เหลือ 1,000-2,000 คน
  • และอีกบวก 1 หรือระยะ 4 ตั้งแต่ 1 ก.ค. 2565 เป็นต้นไป เรียกว่า Post pandemic คือ ออกจากโรคระบาด เข้าสู่โรคประจำถิ่น

รายละเอียดจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการควบคุมโรค คณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการรักษา คณะอนุกรรมการเกี่ยวกับกฎหมายและสังคม ซึ่งต้องแก้กฎหมายประมาณ 9 ฉบับ ซึ่งสังคมจะมีลักษณะอย่างไร ปรับตัวอย่างไรก็จะมีแนวทางออกมา ยกตัวอย่าง Covid Free Setting ต้องยกเป็นมาตรฐานควบคุมโรค เป็นต้น

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การควบคุมอัตราการเสียชีวิตเพื่อเข้าสู่โรคประจำถิ่นนั้น ต้องไม่เกิน 1 ในพันคน โดยปัจจุบันเฉลี่ย 0.19% จนถึง 0.2% แต่ถ้าเข้าสู่โรคประจำถิ่นต้องประมาณ 0.1%

โดยในบางประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูง ได้มีการผ่อนคลาย และมีการจัดการในรูปแบบโรคประจำถิ่นแล้วได้แก่ สเปน อินเดีย สหรัฐอเมริกา เช่น รัฐแคลิฟอร์เนีย นอกจากนี้ยังมี จีน ที่ก่อนหน้านี้มีมาตรการโควิด-19 เป็นศูนย์ และมีแนวโน้มจะยกเลิกและใช้มาตรการ Living With Covid-19 ขณะที่ มาเลเซีย ก็เปิดเผยออกมาแล้วว่าจะประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นวันที่ 1 เมษายนนี้

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS