เดินหน้า “เจอ-แจก-จบ” แพทย์ชนบท ห่วงปัญหาเบิกจ่าย เบียดใช้งบฯ ผู้ป่วยนอก

เริ่มต้นวันนี้ (1 มี.ค.) ติดเชื้อโควิด-19 แพทย์จ่ายยารักษาที่บ้าน “แพทย์ชนบท” แนะอย่าทิ้งแนวทางรักษาเดิม กังวลปัญหาเบิกจ่าย  จี้รัฐยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก่อนเป็นโรคประจำถิ่น 

สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิดยังเพิ่มสูงทะลุ 2 หมื่นคนต่อวัน ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข ประกาศนับถอยหลังเข้าสู่การเป็น “โรคประจำถิ่น” ภายใน4 เดือนนี้ โดยหนึ่งในแนวทางที่จะถูกนำมาใช้ในช่วงเปลี่ยนผ่าน คือ การดูแลผู้ติดเชื้อแบบผู้ป่วยนอก “เจอ แจก จบ” ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนมีความรุนแรงน้อยลง ประกอบกับจำนวนผู้ได้รับวัคซีน 2 เข็มเกิน 70% แล้ว เพื่อจัดระบบบริการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ เพิ่มการดูแลในระบบผู้ป่วยนอก หรือ OPD โดยนับแต่วันที่ 1 มีนาคมนี้ เมื่อตรวจผู้ที่สงสัยป่วยโควิด 19 ด้วยชุดตรวจ ATK หากพบผลเป็นบวก แพทย์จะพิจารณา จ่ายยารักษาตามอาการ 3 สูตร ได้แก่ 1.ยาฟาวิพิราเวียร์ 2.ยาฟ้าทะลายโจร และ 3.ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ แก้ไอ ลดน้ำมูก เริ่มต้นสู่การเป็นโรคที่ดูแลได้ด้วยตนเอง 

แต่เรื่องนี้ก็มีข้อสังเกตจาก นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ ในฐานะประธานชมรมแพทย์ชนบท ว่า “เจอ-แจก-จบ” คืออีกทางเลือกในการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 แต่ต้องไม่ตอกย้ำจนกลายเป็นทางหลักทางเดียว โดยอาจมีข้อเสียกรณีส่งผู้ป่วยที่ไม่มีความพร้อมไปรักษาที่บ้านจนอาจเกิดความหย่อนยานในมาตรการคุมโรคและเพิ่มโอกาสการแพร่เชื้อได้ อีกทั้งยังกังวลกรณีการเบิกจ่ายค่าชุด PPE ค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ซึ่งจะเพิ่มขึ้นจากการรักษาระบบปกติ 

“กรณี OPD แบบเจอ แจก จบ จะมากินเงินเหมาจ่ายเงิน OPD ของโรงพยาบาลนั้นๆ ก็ทำให้ภาระโรงพยาบาล หรือ รพ.สต.เพิ่มขึ้น เงิน OPD ต้องใช้ในผู้ป่วยโรคอื่นด้วย ไม่เฉพาะโรคโควิด แต่รวมถึงโรคเบาหวาน ความดัน โรคทั่วๆไป ที่เราดูแลอยู่ก็ใช้งบกองกลาง OPD ที่ได้รับจัดสรรรายหัวมา ถ้าให้ลงตัวที่สุดกระทรวงสาธารณสุขต้องคุยเรื่องนี้กับหน่วยงานตามสิทธิ ทั้ง สปสช.​กรมบัญชีกลาง ประกันสังคม เพื่อคืนเงินแก่โรงพยาบาลในกรณีรักษาแบบเจอ แจก จบ” 

อย่างไรก็ตาม ฉากทัศน์ โควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข ที่ผู้ติดเชื้อจะพีคสูงสุดช่วงต้นเดือนมีนาคม และค่อยๆลดลง ขณะที่ฉากทัศน์นี้เลวร้ายที่สุด หากไม่มีมาตรการควบคุม ผ่อนคลายมาตรการ ลดการแยกตัว อาจพบผู้ติดเชื้อสูงสุดในวันที่ 19 เมษายน ถึง 100,000 คน ซึ่งจะต้องใช้เวลาสี่เดือน เพื่อควบคุมสถานการณ์ได้ โดยคาดว่าในเดือนมิถุนายน หรือกรกฎาคม จะเป็นช่วงขาลงของ โควิด-19 อย่างชัดเจน 

แต่ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผอ.กลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการไบโอเทค สวทช. นักไวรัสวิทยา มองว่า โควิด-19 จะไปสู่โรคประจำถิ่นได้หรือไม่ต้องติดตามการกลายพันธุ์ของไวรัส ซึ่งล่าสุด BA.2 สายพันธุ์ย่อของโอมิครอนได้รับการยืนยันจากองค์การอนามัยโลกแล้วว่าไม่ทำให้เกิดอาการรุนแรง ขณะเดียวกันก็ต้องดูยอดจำนวนผู้ติดเชื้อในขณะนั้นด้วย

“เราไม่สามารถคาดเดาไวรัสได้ว่ารุนแรงขึ้นหรือไม่ เราก็แค่ให้กำลังซึ่งกันและกันว่าจะเป็นโรคประจำถิ่น รุนแรงน้อยลง สิ่งที่เราทำได้คือป้องกันตัวเองให้จำนวนเคสต่ำไว้ 7-8 พันคนยังโอเค ไปสู่โรคประจำถิ่นได้ แต่ถ้าเคสขึ้น 2-4 หมื่นคนต่อวัน มันยากที่จะเป็นโรคประจำถิ่น เพราะมีโอกาสที่ไวรัสจะกลายพันธุ์ได้” 

ปัจจุบันหลายประเทศเริ่มยกเลิกมาตรการควบคุม โควิด-19 แม้จะยังคงมีผู้ติดเชื้อสูงอยู่ และความพยายามของไทยในการประกาศให้ โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นในอีก 4 เดือน ก็คงจะหมายถึงการปลดล็อคภาวะการควบคุมโรค เพื่อนำไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจ และลดงบประมาณในการรักษา ซึ่งตลอด 3 ปีที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขใช้เงินรักษาโควิด-19 ไปกว่า 1 แสน 3 หมื่นล้านบาทแต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้นจริง “ชมรมแพทย์ชนบท”​ ระบุว่า นายกรัฐมนตรี ควรยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินในการควบคุมโรคโควิด-19 ก่อนที่ โควิด-19 จะเป็นโรคประจำถิ่น

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS