เมษายนนี้ ร้อนจัดทั่วไทย ทุบสถิติคาด 44.5 °C

กรมอุตุฯ คาดการณ์ทุกภาคของไทยมีโอกาสอุณหภูมิสูงสุดเกิน 40 องศาเซลเซียส ขณะที่ 5 จังหวัดที่ถูกจับตา ‘ร้อนจัด’ มีโอกาสแตะ 44.5 องศาเซลเซียส

กรรวี สิทธิชีวภาค อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา

กรรวี สิทธิชีวภาค อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า คาดการณ์ฤดูร้อนปีนี้ ประเทศไทยจะมีอากาศร้อนอบอ้าวโดยทั่วไป และมีอากาศร้อนจัดในหลายพื้นที่ อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยบริเวณประเทศไทยตอนบน 35-38 องศาเซลเซียส โดยคาดการณ์อุณหภูมิสูงที่สุด 43 – 44.5 องศาเซลเซียส ซึ่งใกล้เคียงหรือเทียบเท่ากับสถิติของประเทศไทย

(44.6 องศาเซลเซียส ที่ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน 28 เมษายน 2559 และ อ.เมือง จ.ตาก 15 เมษายน 2566) ช่วงกลางเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนพฤษภาคม จะมีอากาศร้อนจัดต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจจะทําให้เกิดภัยและโรคที่มีสาเหตุมาจากอากาศร้อน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงและเปราะบาง เช่น ผู้ป่วย ผู้สูงอายุและเด็ก

ประชาชนควรหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน ๆ และให้เตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมที่จะเผชิญกับสภาพอากาศฤดูร้อน ปีนี้อุณหภูมิสูงสุด 43 – 44.5 องศาเซลเซียส แต่ความรู้สึกของมนุษย์ หรือค่าดัชนีความร้อน หรือ Heat Index อาจสูงมากกว่า ซึ่งอยู่ในระดับอันตรายมากในบางวัน โดยเฉพาะในช่วงเดือนเมษายน – ต้นเดือนพฤษภาคม

ขณะที่ปีนี้จะมีหลายจังหวัดที่อุณหภูมิสูงสุด แตะไปถึง 40 องศาเซลเซียสขึ้นไปเป็นจำนวนหลายจังหวัด มากกว่าปีก่อนๆ นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่าจะมีจังหวัดที่มีโอกาสร้อนจัดที่สุด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน, อุตรดิตถ์, สุโขทัย, ตาก และอุดรธานี ตั้งแต่กลางเดือนเมษายน-ต้น เดือนพฤษภาคม ซึ่งมีโอกาส อุณหภูมิสูงถึง 44.5 องศาเซลเซียส

คาดการณ์สภาพอากาศ (วันที่ 3 เมษายน 2567- 4 เมษายน 2567) ทุกภาคของไทยจะมีโอกาสอากาศร้อนถึงร้อนจัด

ภาคเหนือ อากาศร้อนถึงร้อนจัดโดยทั่วไป กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิต่ำสุด 21-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 40-42 องศาเซลเซียส

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อากาศร้อนถึงร้อนจัดโดยทั่วไป กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 22-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 39-41 องศาเซลเซียส

ภาคกลาง อากาศร้อนถึงร้อนจัดโดยทั่วไป กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 39-42 องศาเซลเซียส

ภาคตะวันออก อากาศร้อนโดยทั่วไป กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่งส่วนมากบริเวณจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด อุณหภูมิต่ำสุด 26-29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-40 องศาเซลเซียส ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร


ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก) อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา และยะลา อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-39 องศาเซลเซียส
ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร


ภาคใต้(ฝั่งตะวันตก) อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดพังงา กระบี่ ตรัง และสตูล อุณหภูมิต่ำสุด 25-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-38 องศาเซลเซียส ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร

กรุงเทพและปริมณฑล อากาศร้อนโดยทั่วไป กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่
อุณหภูมิต่ำสุด 28-30 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 36-41 องศาเซลเซียส

ชลัมภ์ อุ่นอารีย์ นักวิจัยศูนย์ภูมิอากาศ กองพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทย

ชลัมภ์ อุ่นอารีย์ นักวิจัยศูนย์ภูมิอากาศ กองพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า สิ่งที่เห็นได้ชัดคือปัจจุบันอุณหภูมิเฉลี่ยในปัจจุบันสูงขึ้น และมีการเก็บในมหาสมุทรเกือบร้อยละ 90 โดยที่เราเห็นอากาศร้อนอุณหภูมิสูง หริอน้ำแข็งขั้วโลกละลาย ที่จริงจริง ๆ แล้วมันเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ถูกเก็บไว้เพียงร้อยละ 2 เท่านั้น ขณะที่ปัจจุบันความผันผวนจากสภาพอากาศมันแปรปรวนสูงมาก คาดเดาได้ยากขึ้น เมื่อก่อนการเกิดเอลนีโญ ลานีญา นานนาครั้งเกิด ไม่ถี่เหมือนปัจจุบัน บางที 4-5 ปีก็รุนเรงได้ ปีนี้แนวโน้มอากาศร้อนของไทยก็สูงขึ้น นักวิจัยก็พยายามหาปัจจัย

กนกศรี ศรินนภากร หัวหน้างานภูมิอากาศและสภาพอากาศ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน )

กนกศรี ศรินนภากร หัวหน้างานภูมิอากาศและสภาพอากาศ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) กล่าวว่า แม้ปีนี้จะมีอากาศร้อน ถึงร้อนจัด แต่ก็คาดว่าจะมีพายุฤดูร้อนพาดผ่านเข้ามา ช่วงต้นปีถึงกลางปีอากาศจะร้อน และฝนน้อย ขณะที่กลางปีนี้ มีทิศทางเข้าสู่ปรากฎการณ์ลานิญ่า และจะฝนตกมากขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม ถึงกันยายน

ด้าน สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) จึงคาดการณ์ 3 กรณีที่มีโอกาสเกิดในปีนี้ไปถึงปีหน้าว่าเสี่ยงร้อนและฝนไปพร้อมกัน

กรณีแรก เกิดสถานการณ์เอ็นโซ่ มีการปรับจากเอลนีโญเป็นลานิญาแรง โดยใช้ปี 2516 เป็นตัวเทียบ กับปี 2567 เป็นสภาพที่ฝนมากทางภาคเหนือและจะน้อยทางภาคอีสาน ขณะที่ปี 2568 เทียบกับปี 2517 จะพบปริมาณฝนเยอะขึ้นภาคภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก

กรณีที่สอง สถานการณ์เอ็นโซ่ มีการปรับจากเอลนีโญเป็นลานิญาอ่อน  ปี 2567 จะเทียบคล้ายปี 2526 ที่จะมีฝนมากในจุดสีฟ้าทางภาคกลางและภาคเหนือเล็กน้อย ขระที่ภาคเหนืออีสานบางส่วนจะฝนน้อย แต่พอปี 2568 เราจะน้ำฝนน้อยเกือบทุกภาคของไทย


กรณีที่สาม หากสถานของเอ็นโซ่ มีการปรับจากเอลนิโยเป็นปกติ ปี 2567 จะเทียบคล้าย 2563 ที่ส่วนใหญ่จะเป็นสีน้ำตาลแล้งขาดแคลนน้ำ ขณะที่ปี 2568 จะคล้ายปี 2536 ที่น้ำน้อยเป็นสีน้ำตาลเสี่ยงแล้ง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active