ร้อนตับแลบ! ครึ่งปีนี้ ไทยเจอเอลนีโญ ‘โลกเดือด’ ของจริง

เอลนีโญช่วงครึ่งปีแรก ส่งผลสภาพอากาศของไทยเผชิญกับความร้อนระอุหนักเป็นประวัติการณ์ แตะ 44.5 องศาเซลเซียส ผู้เชี่ยวชาญหวั่นใจ โลกร้อนขึ้นเพียง 1 องศาเซลเซียส สะเทือนถึงน้ำแข็งขั้วโลกละลาย หายนะทั่วโลกอาจตามมา

The Active ชวนย้อนดูสถานการณ์สภาพอากาศโลก พบข้อมูลองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก เผยว่า ก่อนหน้านี้ในปี 2023 เป็นปีที่ร้อนที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการจดบันทึกในปี 1850 โดยมีอุณหภูมิที่คาดการณ์การว่าร้อนที่สุดในรอบอย่างน้อย 100,000 ปีที่ผ่านมา

ขณะที่การวิจัยใหม่ ระบุว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่รุนแรงจะส่งผลให้ อุณหภูมิทั่วแคริบเบียน, ทะเลจีนใต้, แอมะซอน และอลาสก้าในปีนี้ (2567) และอ่าวเบงกอล อาจเผชิญกับคลื่นความร้อนทางทะเลตลอดทั้งปี อาจมีทั้งความแห้งแล้งที่รุนแรง และเกิดไฟป่าในแอมะซอน

ส่วนอุณหภูมิที่สูงขึ้น อาจเร่งการสูญเสียธารน้ำแข็ง และชั้นดินในอลาสก้า แน่นอนว่าปรากฏการณ์เอลนีโญที่รุนแรงจะทำให้เศรษฐกิจโลกเสียหายหลายล้านล้านดอลลาร์ด้วย

ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล
คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

สอดคล้องกับสิ่งที่ ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลและอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเพจ Thon Thamrongnawasawat ก่อนหน้านี้ ระบุว่า โมเดลล่าสุดทำนายว่า ปีนี้เอลนีโญ อาจทำให้เมืองไทยร้อนเป็นประวัติการณ์เอลนีโญซึ่งอาจจะจบลงช่วงเดือนมิถุนายน แต่ช่วงครึ่งปีแรกโลกจะร้อนเดือดไปทุกหนแห่ง หลายประเทศอาจร้อนจนทะลุสถิติเดิมในปีก่อนปี 2567 อาจเป็นปีที่ร้อนยิ่งกว่าร้อน แผนที่จำลองพื้นที่อุณหภูมิสูงกว่าปกติ ซึ่งจุดที่แรเงาในภาพคือบริเวณที่อาจร้อนสูงสุดจนสร้างสถิติใหม่ โดยมีประเทศไทยอยู่ในเขตนั้นด้วย


ภาพจาก : Thon Thamrongnawasawat

“มีประเทศไทยอยู่ในเขตนั้นด้วยในทะเลคงร้อนจัดเช่นกัน เริ่มเกิดปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ในออสเตรเลีย นักวิทย์ทะเลเตือนปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ทั่วโลก องค์กรระหว่างประเทศปรับสเกลยกระดับปะการังฟอกขาวขึ้นอีก 3 ขั้นเพราะของเดิมไม่พอใช้ประเมินสถานการณ์ในยุคโลกเดือด”

ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

ขณะที่ ศ.สุชนา ชวนิชย์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แนวโน้มสถานการณ์โลกร้อนขณะนี้ เกิดขึ้นต่อเนื่อง หนาวก็หนาวสุดโต่ง ร้อนก็ร้อนสุดโต่ง ซึ่งภาวะโลกร้อนก็คือสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ไม่ว่าจะหนาวสุดขั้ว หรือร้อนสุดขั้วที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ แต่ก็มีหลายคนบนโลกที่เชื่อว่าโลกร้อน และกว่าร้อยละ 50 ไม่เชื่อเรื่องโลกร้อนเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่นักวิทยาศาสต์ก็พยายามรวมรวมข้อมูลที่หลากหลาย ขณะที่ไทยได้รับผลกระทบแล้ว ไม่ว่าจะเป็นภัยน้ำท่วม หรือภัยแล้ง

น้ำแข็งขั้วโลกละลาย เรื่องจริงที่น่าห่วง

ศ.สุชนา บอกด้วยว่า มีโอกาสได้ไปสำรวจขั้วโลกเหนือ 3 ครั้ง ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และขั้วโลกใต้ 2 ครั้ง แต่ละครั้งจะเห็นน้ำแข็งละลายเพิ่มทุกปี เมื่อ 5 ปีก่อนที่ไปสำรวจขั้วโลกเหนือ แทบจะหาน้ำแข็งไม่ค่อยได้เลยในฤดูร้อน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ฤดูร้อนในอดีตจะยังคงมีน้ำแข็งให้เห็น เมื่อปีที่แล้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้ส่งนักวิจัยไปขั้วโลก 2 คน ภายใต้โครงการตามพระราชดำริ ตามการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับขั้วโลก สมเด็จพระขนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระองค์ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญการวิจัยด้านดาราศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับการศึกษาวิทยาศาสตร์ขั้วโลก ที่ไทยเข้าร่วมการศึกษาวิจัย ด้านวิทยาศาสตร์ขั้วโลกกับสาธารณรัฐประชาชนจีน

ศ.สุชนา ชวนิชย์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาฯ

“เราพบว่า เรื่อที่สำรวจขั้วโลกเข้าไปอยู่ในเส้น ละติจูดที่ 90 เลย สำหรับจุดละติจูดที่ 90 คือ เส้นที่อยู่เหนือสุดของโลกเลย ปกติจุดนี้จะเป็นน้ำแข็ง แต่รอบที่ผ่านมาน้ำแข็งละลายไปมากจริง ๆ นักวิทยาศาสตร์ก็คาดการณ์ว่าถ้าน้ำแข็งละลายจะทำให้ระดับน้ำทะเลบนโลกสูงขึ้นทุกที่ และยังบอกอีกว่าถ้าน้ำแข็งที่ขั่วโลกเหนือละลายหมด จะทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้น 5 เมตร ซึ่ง กทม. ก็อาจอยู่ไม่ได้ และก็มีการคาดการณ์ ถ้าน้ำแข็งที่ขั่วโลกใต้ที่มีน้ำแข็งมากกว่าขั้วโลกเหนือถ้าละลายหมด มันอาจทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 50 เมตร ซึ่งอาจทำให้ท่วมสูงถึงอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มันอาจมากขึ้นตามตัวเร่งที่เป็นฝีมือมือมนุษย์ มันอาจเกิดอีกกว่า 100 – 1,000 ปีข้างหน้า แต่ละปีระดับน้ำทะเลจะสูง 1 – 3 มิลลิเมตร ซึ่งก็อาจมีผลน้ำท่วม น้ำทะเลหนุนสูง บางแห่งของไทยยังมีการกัดเซาะชายฝั่งด้วย”

ศ.สุชนา ชวนิชย์

โลกร้อนกับปะการังฟอกขาว

สำหรับปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว ศ.สุชนา ถือว่าเป็นผลกระทบอย่างหนึ่งจากภาวะโลกร้อน เนื่องจากอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น แม้สูงขึ้น เพียง 1 องศาเซลเซียส ก็ทำให้ได้รับผลกระทบ ปีล่าสุดประเทศอื่นได้รับผลกระทบค่อนข้างสูง ขณะที่ไทยเองก็เช่นกันแต่ยังโชคดีที่ปะการังในไทยถือว่าปรับตัวสูงกับอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงเล็กน้อย แต่อนาคต หากอุณหภูมิสูงขึ้นฉับพลัน 2 – 3 องศาเซลเซียส อย่างรวดเร็วปะการังไทยก็อาจปรับตัวไม่ทัน จริง ๆ แล้วประเทศไทยเหลือปะการังที่สมบูรณ์หายากแล้ว เหลือไม่ถึง ร้อยละ 30 – 40 ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ปานกลาง หรือสมบูรณ์น้อย แต่ก่อน เมื่อ 20 ปี ก่อน ปะการังไทยอยู่ในระดับสมบูรณ์ดีมาก แต่ปัญจจุบันมีแนวโน้มลด

นโยบายทางรอดรับมือโลกร้อน

ปัจจุบันไทยยังปกป้องปะการังแบบปลายทาง ซึ่งเวลาฟื้นกลับมาเหมือนเดิมก็ต้องใช้เวลา แม้เราจะรู้ว่ามันเกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์และสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงถ้าเราต้องการอนุรักษ์แบบยั่งยืนต้องแก้ที่ต้นทาง เวลานี้การท่องเที่ยวแม้จะทำรายได้ แต่ก็ยังมีความเสียหายของปะการังจากนักท่องเที่ยว อาจต้องหาแนวทางให้ท่องเที่ยวอยู่ได้ แบบไม่ทำลายปะการังมาก ปัญหาโลกร้อนถือเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศและหลายหน่วยงานก็พยายามร่วมกันแก้ไข แต่บางทีมีหลักการด้านนโยบายดีแต่ไม่ได้ทำให้ครบวงจร ดังนั้นต้องมองทิศทางเดียวกัน อย่างน้อย ๆ ต้องเน้นให้รู้จักปรับตัวเพื่อลดผลกระทบ

รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต

รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ข้อมูลว่า โลกอาจจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงอุณหภูมิสูงเกิน 2 องศาเซลเซียส ได้ล่าสุดอุณหภูมิโลกในรอบ 365 วัน ถึงเดือนมกราคม 2567 ได้เพิ่มขึ้น 1.52 องศาเซลเซียสแล้ว จากข้อมูล C3S/ECMWS

“จากงานวิจัยของ PNAS บ่งชี้ว่าโลกอาจจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงอุณหภูมิสูงเกิน 2 องศาเซลเซียสได้ กล่าวคือ มีความเป็นไปได้มากกว่า 84% ที่โลกจะมีอุณหภูมิแตะ 2 องศาเซลเซียส ในปี ค.ศ. 2058 และ 2065 สำหรับฉากทัศน์การปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกในระดับสูง และต่ำตามลำดับ ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญ IPCC บ่งชี้ว่าเราสามารถจะหลีกเลี่ยงโดยฉากทัศน์ต่ำ ๆ ได้ ?”

รศ.เสรี ศุภราทิตย์

อุณหภูมิที่สูงขึ้นดังกล่าวจะทำให้มนุษยชาติมีความเสี่ยงที่จะเผชิญสภาพอากาศรุนแรงสุดขั้วตามมา โดยไม่สามารถกลับไปสู่สภาวะสมดุลได้ ดังเช่นกรณีน้ำแข็งขั้วโลกละลาย ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น การสิ้นสลายของปะการังในมหาสมุทร รวมทั้งการสูญเสียระบบนิเวศน์บนโลก มนุษย์มีขีดจำกัดในการปรับตัวได้ระดับหนึ่งเท่านั้น

ผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่า ขีดจำกัดดังกล่าวคือต้องไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ปีที่แล้วอุณหภูมิของโลกแตะเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ประมาณ 180 วัน หรือครึ่งปี จึงต้องจับตาสถานการณ์ในปีนี้ เพราะเพียงเข้าต้นเดือนกุมภาพันธ์ จากข้อมูลกรมอุตุฯ บ่งชี้อุณหภูมิสูงสุดแตะ 38 – 39 องศาเซลเซียล ที่ จ.กาญจนบุรี สภาพอากาศร้อนมากกว่าปกติ แต่ประชาชนจะมีหนาวกับค่าไฟที่จะตามมา

ล่าสุด อุณหภูมิโลกในรอบ 365 วัน ถึงเดือนมกราคม 2567 ได้เพิ่มขึ้น 1.52 องศาเซลเซียสแล้ว จากข้อมูล C3S/ECMWS แม้ว่าจะยังไม่เข้าเกณฑ์เฉลี่ยระยะยาว 1.5 องศาเซลเซียส ตามข้อตกลงปารีส แต่เป็นการส่งสัญญาณว่า คงจะหนีไม่พ้นถึงความรุนแรงสภาพอากาศสุดขั้วตั้งแต่ต้นปีนี้ เริ่มจากคลื่นความร้อน และไฟป่าในประเทศชิลี นำ้ท่วมหนักในรัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นต้น ดังนั้นประเทศไทยต้องตื่นตัวเตรียมการรับมือกับเหตุการณ์ในอนาคตอันใกล้ และไกล

ก่อนหน้านี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ให้ข้อมูลว่าปีนี้คาดการณ์ประเทศไทย 5 จังหวัด มีโอกาสร้อนจัดที่สุด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน, อุตรดิตถ์, สุโขทัย, ตาก และอุดรธานี นอกจากนั้นยังมีอีกหลายภาคที่อุณหภูมิจะสูงสุดเกิน 40 กว่า องศาเซลเซียสแน่นอน

ปีนี้บางจังหวัดจะร้อนทะลุ 44.5 องศาเซลเซียส ขณะที่สถิติย้อนหลังร้อนสุด ในช่วงเดือนมีนาคม ถึงเมษายน มากถึง 44.6 องศาเซลเซียส ในวันที่ 15 เมษายน 2566 และ 28 เมษายน 2559 ที่อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน

ส่วนอุณหภูมิที่เคยร้อนสุด 44.5 องศาเซลเซียส เคยเกิดขึ้น วันที่ 27 เมษายน 2503 ที่ จ.อุตรดิตถ์ และวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 ที่ จ.สุโขทัย ส่วนปีนี้ 2567 คาดการณ์ จะร้อนจัด 44.5 องศาเซลเซียส ต้องมาดูกันว่า ในปีที่ยังอยู่ในปรากฎการณ์เอลนีโญนี้ไทยจะทำลายสถิติร้อนเดือดหรือไม่

สำหรับสถิติ 5 ปีจังหวัดที่ร้อนที่สุด พบว่า ปี 2566 เคยมีอุณหภูมิ 44.6 องศาเซลเซียส ที่ อ.เมือง จ.ตาก, ปี 2565 เคยร้อนสุด 42.6 องศาเซลเซียส ที่ อ.เถิน จ.ลำปาง, ปี 2564 ร้อนสุด 42.4 องศาเซลเซียส ที่ อ.เมืองตาก, ปี 2563 ร้อนจัด 43.5 องศาเซลเซียส ที่ อ.เมือง จ.ตาก เช่นกัน และปี 2562 ร้อนสุด 42.6 องศาเซลเซียส ที่ อ.เถิน จ.ลำปาง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active