พ.ร.บ.น้ำ จุดเปลี่ยนแก้วิกฤตแปรปรวนสภาพภูมิอากาศโลก

5 ปี สทนช. ‘ประวิตร’ ระบุ รัฐบาลให้ความสำคัญกับทรัพยากรน้ำ เป็นวาระแห่งชาติ ‘เลขาฯ สทนช.’ ย้ำ จัดการน้ำแบบมีส่วนร่วม จัดทำกฎหมายลูกแล้ว 25 ฉบับ ผังน้ำสำเร็จแล้ว 8 ลุ่มน้ำ เตรียมดันเป็นองค์กรชั้นนำในอาเซียน ด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ อย่างบูรณาการ

ปี 2565 เหตุการณ์น้ำท่วมมีความรุนแรงคล้ายปี 2554 คือ ความจริงบางส่วนกับผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งบางแห่งระดับน้ำสูงกว่ามากจากหลายปัจจัย หากดูที่ข้อมูลปริมาณฝนมีมากเกือบเท่า ๆ กัน แต่ถ้าเทียบปริมาณน้ำ แม้จะมีไม่มากแต่กลับทำให้บางแห่งท่วมหนักกว่าปี 2554 หลายจุด

การเกิดขึ้นของ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ เมื่อปี 2561 เป็นจุดเปลี่ยนที่ประชาชนคาดหวัง เพราะหลังจากนี้ ความแปรปรวนของสภาพอากาศมีแต่จะรุนแรงมากกว่าเดิม

รายงานคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) มีการคาดการณ์ว่าใน 20 ปีข้างหน้า อุณหภูมิโลกจะสูงถึงหรือสูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งจะนำไปสู่ภัยพิบัติที่เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ประเทศไทยมีความเปราะบางสูงเรื่องปัญหาภัยพิบัติด้านน้ำ ทั้งน้ำท่วมและภัยแล้งที่ส่งผลกระทบรุนแรงค่อนข้างมาก

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งในงานเสวนาวิชาการ “5 ปีที่ผ่าน ก้าวย่างสู่ปีที่ 6 ของ สทนช.” กับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับทรัพยากรน้ำและกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ จึงได้จัดตั้ง สทนช. ขึ้นเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2560 เพื่อเป็นองค์กรกลางด้านน้ำ มีภารกิจครอบคลุมการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบและขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำภายใต้ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 และแผนแม่บททรัพยากรน้ำ 20 ปี ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย พร้อมกับการยกระดับองค์ความรู้ผ่านทางความร่วมมือระหว่างประเทศ โดย 5 ปีที่ผ่านมา สทนช. ได้ขับเคลื่อนการบูรณาการการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ ถือว่ามีความก้าวหน้า และกำลังเริ่มก้าวสู่ปีที่ 6 ซึ่งมุ่งหวังว่าอยากให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ซึ่งจะเป็นส่วนสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติต่อไป

“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีการติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดและมีความห่วงใยผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน โดยสำหรับสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งยังคงมีน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งดำเนินการระบายน้ำให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยา ประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ รวมทั้งให้ดำเนินการตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝน เพื่อเตรียมการเข้าสู่ฤดูฝนของพื้นที่ภาคใต้ด้วย และแม้ว่าปีนี้จะมีปริมาณน้ำต้นทุนมากในทุกพื้นที่และมีโอกาสเสี่ยงขาดแคลนน้ำน้อย แต่ก็ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานดำเนินการตาม 10 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ตามที่ กนช. ได้เห็นชอบแล้วอย่างเคร่งครัด”

สุรสีห์​ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. กล่าวว่า เรื่องน้ำเป็นเรื่องสำคัญที่ประเทศไทยต้องปรับเปลี่ยนให้เป็นระบบ โดยจะเน้นในเรื่องการมีส่วนร่วมเป็นสำคัญ เช่น การปรับปรุงแผนแม่บทน้ำ การขับเคลื่อนโครงการสำคัญระดับประเทศ โดยผลักดันสู่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ถึง 44 โครงการ การกำหนดมาตรการรองรับฤดูฝน ฤดูแล้ง การจัดทำกฎหมายลำดับรองที่แล้วเสร็จไป 25 ฉบับ การจัดตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำ การก่อตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำ การจัดทำผังน้ำเสร็จไป 8 ลุ่มน้ำ เช่น ผังน้ำลุ่มน้ำชี มูล เจ้าพระยา และท่าจีน และอยู่ระหว่างดำเนินการอีก 6 โครงการ เช่น ผังน้ำลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน การทำแอปพลิเคชันต่าง ๆ เช่น Thai water plan (TWP), Thai Water Assessment (TWA), National Thai water เป็นต้น

นอกจากนี้ สทนช. ยังได้มีการปรับโครงสร้างภายใน โดยได้มีการตั้งกองส่งเสริมองค์ความรู้ เพื่อเป็นการเสริมความเข้มแข็งขององค์กรขึ้นอีกด้วย ซึ่งขณะนี้ได้เดินหน้าทำตามเป้าหมายในหลายด้าน

  • ด้านแผน เช่น ปรับปรุงกรอบแนวทางและค่าเป้าหมายแผนแม่บทน้ำ 20 ปี เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการใช้ธรรมชาติเป็นฐาน โดยแผนแม่บทที่ได้มานั้นจะขยายผลไปในแผนแม่บทลุ่มน้ำซึ่งจะเชื่อมโยงระดับพื้นที่ไปสู่แผนปฏิบัติการ
  • ด้านบูรณาการจัดการน้ำ เช่น ใช้การบริหารจัดการน้ำแบบกลุ่มภูมิภาคและลุ่มน้ำ รวมถึงเน้นการป้องกันเชิงรุก ซึ่งการขับเคลื่อนมาตรการฤดูแล้ง ปี 64/65 ส่งผลให้มีการเพาะปลูกเกินแผนเพียง 1.69 ล้านไร่ เมื่อเทียบกับฤดูแล้ง ปี 63/64 ที่มีการเพาะปลูกเกินแผนมากกว่า 4.3 ล้านไร่ มูลค่าความเสียหายน้อยลง รวมถึงการป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยปี 64/65 ไม่มีการประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้ง นอกจากนี้ เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนปี 2565 ได้มีการกำหนด 13 มาตรการรองรับฤดูฝน และได้มีการจัดตั้งศูนย์ส่วนหน้าเพื่อการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่วิกฤต
  • ด้านกฎหมายและองค์กร จัดทำและยกร่างกฎหมายลำดับรองให้แล้วเสร็จ พร้อมทั้งถ่ายทอดกฎหมายสู่การปฏิบัติ จัดหลักสูตรเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และถ่ายทอดองค์ความรู้อื่นที่ได้กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ กับคณะกรรมการลุ่มน้ำ
  • และ ด้านต่างประเทศ ได้ประยุกต์ใช้องค์ความรู้จากต่างประเทศสู่บริบทประเทศไทย เช่น เทคนิคการใช้แบบจำลองชลศาสตร์ โดยคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ร่วมกับสาธารณรัฐเกาหลีและสหรัฐอเมริกา รวมถึงการพัฒนาความร่วมมือในการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำโขงกับประเทศเพื่อบ้าน

เลขาธิการ สทนช. กล่าวต่อไปอีกว่า เพื่อเป็นการก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ได้ปรับยุทธศาสตร์ โดยมีวิสัยทัศน์ว่า “เป็นองค์กรชั้นนำในอาเซียนด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างบูรณาการบนหลักธรรมาภิบาลภายในปี 2570” โดยมีประเด็นยุทธศาสตร์ 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

1) การเพิ่มศักยภาพการขับเคลื่อนการพัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรน้ำ

2) การเพิ่มประสิทธิภาพกลไกการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบ

3) การพัฒนาการบริหารจัดการ โดยหัวใจ ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ คือ มุ่งพัฒนากลไกและเครื่องมือระบบสารสนเทศด้านทรัพยากรน้ำต่าง ๆ เช่น ศูนย์ข้อมูลระดับประเทศ จังหวัด และระดับลุ่มน้ำ ที่จะต่อยอดไปสู่การใช้เทคโนโลยี AI ในการวิเคราะห์ และการพยากรณ์ พัฒนาแอปพลิเคชันติดตามประเมินผลภายใต้มาตรการฤดูฝน ฤดูแล้ง รวมถึงแอปพลิเคชันแผนป้องกันน้ำแล้งน้ำท่วม การจัดตั้งสถาบันด้านน้ำ (Water Academy) เพื่อเป็นศูนย์กลางการเพิ่มศักยภาพบุคลากรด้านน้ำ ยกระดับขีดความสามารถ สร้างการบูรณาการองค์ความรู้ การใช้เครื่องมือต่าง ๆ ให้เป็นทิศทางเดียวกัน 5

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active