“หาทางรอดยุคโลกเดือด” แต่นโยบายรัฐกลับไม่สอดรับการเปลี่ยนแปลง

ผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติ ชี้ โลกร้อนสุดรอบ 80 ปี แต่นโยบายรัฐกลับไม่สอดรับการเปลี่ยนแปลง ต้องเร่งสร้างเครือข่าย ให้องค์ความรู้ไม่รอรัฐ ภาคประชาชน ระบุ ฤดูร้อนปี 67 เอลนีโญ่พีค “อาสาชาวนามหานคร” ท้า หนองจอก-มีนบุรี เย็นกว่าทุกที่ใน กทม. จากรูปธรรม “มหานครป่ากินได้”

12 – 14 ต.ค. 2566 อาสาชาวนามหานคร และอีโค่วิลเลจบึงน้ำรักษ์ จัดกิจกรรมต่อเนื่องในวันมหกรรมดินโลก เปิดให้ประชาชนได้เห็นป่าในเมืองกรุง โดยยังคงจัดบนที่ดิน 133 ไร่ อ.หนองจอก กรุงเทพฯ ของ วรเกียรติ สุจิวโรดม นักธุรกิจด้านส่งออกเคมีภัณฑ์ ที่เริ่มปรับที่ดินบริเวณนี้ตั้งแต่ปี 2560 และเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มอาสาชาวนามหาคร ปัจจุบันยังขยายผลทำงานร่วมกับกลุ่มอาสาออกแบบชีวิต และอาสาปลดหนี้แก้จน โดยยังคงใช้สถานที่ดังกล่าวเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ให้กับผู้ที่สนใจได้มาร่วมเรียนรู้เพื่อนำไปปรับใช้กับชีวิตของตัวเอง

และในปี 2567 เจ้าของยังท้าให้ประชาชนมาลองเยือน “มหานครป่ากินได้” ย่านหนองจอก เพื่อวัดความบริสุทธิ์ของอากาศที่ไร้ฝุ่น PM 2.5 และอุณหภูมิพื้นที่ที่เต็มไปด้วย ดิน น้ำ และต้นไม้ ที่อุดมสมบูรณ์ ว่าทำให้พื้นที่เย็นขึ้นได้จริงหรือไม่ในช่วงเวลาที่อุณหภูมิสูงที่สุดช่วงประมาณเดือน เมษายน-พฤษภาคมของปี 2567

ในปีนี้นอกจากกิจกรรมเยี่ยมชมความคืบหน้า ป่าในมหานครแล้ว ภายในงานมีเสวนาเรื่อง “เมื่อโลกเดือด จนลุกเป็นไฟ หนทางของมนุษย์ชาติจะเป็นอย่างไร รอดหรือตาย…“ มีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากหลายด้าน อาทิ รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต, เดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ, อาจารย์ยักษ์วิวัฒน์ ศัลยกำธร ผู้ก่อตั้งศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง และประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง, ครูบาจ๊อก – พระวีระยุทธ์ อภิวีโร และวรเกียรติ สุจิวโรดม เจ้าของวลี “อย่าเป็นคนจนที่มีแต่เงิน” ผู้ก่อตั้งอาสาชาวนามหานคร 

โลกเดือด อุณหภูมิเพิ่มเพียงจุดทศนิยม มีผลกระทบรุนแรง ติงรัฐนโยบายไม่เน้นการให้ประชาชนปรับตัวรับมือ

รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต ระบุ เอลนีโญ่ที่กำลังเกิดขึ้นจะรุนแรงมากขึ้นในมีนาคม-เมษายน ปี 2567 และในอนาคตคาดการณ์ว่า สภาพอากาศจะเริ่มผิดปกติมากขึ้น ขณะที่ภาครัฐกลับไม่เน้นนโยบายที่ทำให้ประชาชนรู้รับปรับตัว ยกตัวอย่างเช่น นโยบายการใช้รถไฟฟ้า หรือ EV ลดพลังงาน แก้ปัญหาโลกร้อนในหลาย ๆ นโยบาย กลับเป็นภาพใหญ่ที่ไม่ได้ทำให้ประชาชนเรียนรู้การปรับตัวที่จะอยู่กับโลกร้อน โลกเดือดได้

ขณะที่ก่อนหน้านี้ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซา ยังได้ออกบทความที่ระบุถึงปัญหาโลกร้อน อุณหภูมิในเดือนกันยายน สูงที่สุดในรอบ 80 ปี ยากที่มนุษย์จะเตรียมความพร้อมในการปรับตัว เพราะเราจะไม่สามารถเลี่ยงเหตุการณ์ความผันผวนได้อีก ยกตัวอย่างในปัจจุบัน ที่แม้ปริมาณฝนสะสมจะน้อยกว่าปกติ แต่น้ำก็ยังท่วมได้เพราะบริบทของพื้นที่ได้เปลี่ยนไปแล้ว ย้ำ ตัวเลขอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นเพียงทศนิยม มีผลกระทบที่รุนแรงมากต่อโลก หากไม่มีการกระจายองค์ความรู้ในลักษณะเครือข่าย และรอนโยบายจากรัฐเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่สามารถรอดพ้นวิกฤตไปได้

โลกเดือด

“เกษตรทางเลือก ที่เป็นทางรอด!” ไม่สนองความโลภ และผลประโยชน์ จึงไม่ถูกเลือกผลักดันเป็นวาระสำคัญของประเทศ ?

เดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ  ระบุ สาเหตุโลกร้อนมาจากกว่า 200 ปี ช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม รีบร้อนสร้างอุตสาหกรรม ขุดคาร์บอนใต้ดินให้มาใช้ในอากาศ ทั้งหมดนี้ เกิดจากคน ขณะที่ปัจจุบัน รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญ เพราะสนใจผลประโยชน์เฉพาะหน้า จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ เกษตรทางเลือก ไม่ตอบสนองความต้องการ ความโลภ ที่เน้นกระแสรีบด่วนจนละเลิยการรักษาสิ่งที่เป็นมิตรต่อโลก

สอดคล้องกับ วิวัฒน์ ศัลยกำธร ผู้ก่อตั้งศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง มองว่า แผนการจัดการโลกร้อนของรัฐบาลเหมือนจะเป็นแนวทางที่ดี แต่ทำไม่ได้จริงในทางปฏิบัติ เพราะยังคงทำเหมือนเดิม ไม่ได้ให้ความสำคัญกับทางเลือก ทางรอดใหม่ ๆ ที่ผ่านมาโลกให้ความสำคัญกับ ดิน น้ำ ป่า อย่างต่อเนื่อง เอาจริงเอาจังกับการดูแลโลกให้น่าอยู่ โดยมี กลุ่มสมัชชาความร่วมมือทรัพยากรดินโลก (Global Soil Partnership) หรือ GSP ระบุให้

  • 2561 แก้ปัญหาสารเคมี สารพิษ
  • 2562 หยุดการชะล้าง พังทลายหน้าดิน
  • 2563 ความหลากหลายทางชีวภาพ
  • 2564 แก้ปัญหาดินเค็ม

โดยมีความคิดเห็นตรงกันว่า การจับมือกันสร้างสิ่งที่อยากเห็นขึ้นเอง โดยไม่รอรัฐบาล และทำเพื่อผู้อื่นไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง เป็นสิ่งจำเป็นมากกว่า ในยุคที่เต็มไปด้วยรัฐบาลที่ไม่เข้าใจ และเน้นเพียงแต่จะหาผลประโยชน์ และแจกเงินเพียงอย่างเดียว

ครูบาจ๊อก พระวีระยุทธ์ อภิวีโร พระนักพัฒนา ที่ใช้แนวทางเกษตรผสมผสาน และองค์ความรู้ต่าง ๆ ในการช่วยเหลือชุมชน ให้สามารถพึ่งพาตัวเอง และหลุดพ้นจากความยากจนปัญหาหนี้ ใน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ระบุว่า โลกเรากำลังสร้างนรกบนดิน หรือ โลกันตนรก จากปัญหาภายในจิตใจของตัวเองที่เต็มไปด้วย “ความโลภ โกรธ หลง” การจะปิดประตูนรกได้อย่างแท้จริง จำเป็นต้องมีขบวนการบุญ และสร้างนโยบายลดกิเลส ลดความอยาก ความต้องการของมนุษยช์ โดยฝากธรรมะทิ้งท้ายไว้ในวงเสวนาให้โลกอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขตามแนวทางสังคหวัตถุ 4 หรือ “ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา สมานัตตตา” เน้นการช่วยเหลือแบ่งปัน เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุข ช่วยกันแก้ปัญหา ด้วยการยกระดับจิตใจจากข้างในสู่ข้างนอกไม่ให้ร้อนใจไปกับโลกภายนอก

ขณะที่ วรเกียรติ สุจิวโรดม ผู้ก่อตั้งอาสาชาวนามหานคร พูดถึงปัญหาหนี้สินคนไทย การระเบิดของหนี้ที่เป็นปัญหาใหญ่แก้ยาก และวิกฤตของทุกครัวเรือนในสังคมไทย ที่ผ่านมาจึงร่วมกันตั้งทีมงานอาสาปลดหนี้-แก้จน และอาสาออกแบบชีวิต โดยรอบล่าสุดจะมีการฝึกอบรม 20-22 ต.ค. 2566 มีขั้นตอนเรื่องวินัยการปลดหนี้ที่เขามองว่า เป็นเรื่องยากที่ไม่มีใครทำ เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ ชอบทำเรื่องยาก และยังคงต้องการขยายผลเพื่อให้พื้นที่ของเขาเป็นตัวอย่างของการรับมือกับวิกฤตในอนาคต โดยผลลัพธ์ที่น่าจะเห็นผลชัดคือในปีหน้า ที่ชวนประชาชนมาเยือน “อาสาชาวนามหาคร” หนองจอก-มีนบุรี มาร่วมกันวัดผลจากรูปธรรมที่พยายามสร้างกันมาจนถึงปีที่ 7 ว่าพื้นที่ 133 ไร่ตรงนี้สามารถเป็นปอด เป็นแหล่งยา แหล่งอาหาร เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ของคนเมืองได้จริงแค่ไหน ในช่วงที่ไทยและโลกเข้าสู่ภาวะโลกเดือด และจะพีคมากที่สุดในช่วงต้นปี 2567

The Active ติดตามการขยายผลต่อเนื่อง ซึ่งเวลานี้ได้ถูกปรับให้คนที่มีแนวคิดเดียวกัน เช่น การสร้างพื้นที่ปอดของเมือง อาหาร และยาสมุนไพร ได้มาร่วมทำ “โคกหนองนาอารยวิถี” ในรูปแบบของ “Eco village” 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active