น้ำทะเลเกาะล้านสีเขียวเหตุ’แพลงก์ตอนบลูม’

เลขานุการประธานชุมชนเกาะล้านชี้เป็น ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ‘แพลงก์ตอนบลูม’ ช่วงต้นฤดูฝน ขณะนักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อมเชื่อ ทะเลไทยกำลังผิดปกติ เหตุ’เกิดบ่อยในภาวะเอลนีโญ-เต่ามะเฟืองวางไข่ผิดฤดู’ เชื่อผลกระทบโลกร้อน แนะรัฐส่งเสริมทำวิจัยเพิ่ม รับมือโลกรวน

วันนี้ (30 ก.ค.2566) มีรายงานว่า ยังมีนักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำตามปกติที่บริเวณชายหาดเกาะล้าน หลังเมื่อวานมีการแชร์ภาพน้ำทะเลที่เกาะล้าน กลายเป็นสีเขียว ในโลกออนไลน์ พร้อมข้อความว่า ‘แพลงก์ตอนบลูมหรือขี้ปลาวาฬ บุกทะเลเกาะล้าน กลายเป็น สีเขียว ไปแล้ว แพลงตอนเที่ยวทะเลวันหยุด อวสานทริปวันหยุด’ ทำให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก (ศวทอ.) ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีบริเวณหาดตาแหวน เกาะล้าน จังหวัดชลบุรี ตามที่ได้รับทราบข่าวจากเฟซบุ๊ก “เรารักพัทยา” โดยเจ้าหน้าที่ได้ลงสำรวจจุดแจ้งเหตุและบริเวณใกล้เคียง

โดยพบปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี 5 บริเวณ ได้แก่ ทางเดินเรือระหว่างเกาะล้าน-พัทยาใต้ หาดหน้าบ้าน หาดตาแหวน และหาดเทียนในพื้นที่เกาะล้าน และเกาะสาก

เบื้องต้นพบว่าน้ำทะเลมีสีเขียว มีกลิ่นเหม็น จากการตรวจวัดคุณภาพน้ำเบื้องต้นมีค่าอุณหภูมิ 30.1-31.2 องศาเซลเซียส ความเค็ม 30.9-31.8 ส่วนในพันส่วน ความเป็นกรดและด่าง 8.16-8.31 และออกซิเจนละลาย 4.20-7.69 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลประเภทที่ 4 เพื่อการนันทนาการ

ทั้งนี้ยังไม่ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำ จากการจำแนกชนิด ทราบว่าเกิดจาก การสะพรั่งของแพลงก์ตอนพืชกลุ่มไดโนแฟลกเจลเลตชนิด Noctiluca scintillans ซึ่งแพลงก์ตอนพืชชนิดนี้ไม่สร้างสารชีวพิษ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยฯ จะติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดต่อไป


แพลงก์ตอนบลูม หรือ ขี้ปลาวาฬ เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ โดยใน 1 ปี จะเกิดขึ้น 2-3 วัน ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ และผู้ที่ลงเล่นน้ำทะเล

โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์มาจากการปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเล และมักเกิดในช่วงฤดูฝน หากฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องและมีคลื่นลมแรงเป็นเวลาหลายวันจะไปชะล้างธาตุอาหารที่อยู่ในพื้นดินบริเวณชายฝั่งลงสู่ท้องทะเล จนทำให้แพลงก์ตอนได้รับสารอาหารและเกิดการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และเมื่อออกซิเจนในน้ำทะเลหมดลง แพลงก์ตอนก็จะตายจนทำให้น้ำทะเลกลายเป็นสีต่างๆ เช่น น้ำตาล สีแดง สีเขียว หรือสีดำขุ่น

ขณะนี้ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นห่วงความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว และชาวประมงในพื้นที่ พร้อมฝากถึงพี่น้องประชาชน นักท่องเที่ยว และชาวประมง ว่าอย่าปล่อยหรือทิ้งของเสียลงแม่น้ำ ให้ช่วยกันอนุรักษ์ ฟื้นฟู ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อให้คงความอุดมสมบูรณ์

สรศักดิ์ ทองบงเพชร เลขานุการประธานชุมชนเกาะล้าน ชี้แจงว่า จากที่มีการแชร์ภาพน้ำทะเลเกาะล้านเขียวนั้น เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เรียกว่า แพลงก์ตอนบลูม หรือ ขี้ปลาวาฬ จึงทำให้น้ำทะเลเปลี่ยนสี

“ซึ่งเป็นเหตุการณ์ปกติปีหนึ่งจะเกิดขึ้น 2-3 วัน ในช่วงต้นฤดูฝน อาจทำให้น้ำทะเลเป็นสีเขียว เพราะมีน้ำจืดไหลลงทะเลเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีสำหรับปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบลูมหรือขี้ปลาวาฬ เกิดจากธรรมชาติในช่วงที่ฝนตกหนักๆ น้ำทะเลจะพัดแพลงก์ตอนขึ้นมาแล้วก็จะสลายไปเองในระยะเวลา 3-4 วัน ไม่เกิน 7 วัน ไม่มีอันตรายใดๆ สามารถเล่นน้ำได้ปกติ”

ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม

ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ว่า ขณะนี้มี สองเหตุการณ์แปลกในทะเลไทยที่ควรจับตามอง คือน้ำเขียวที่เกาะล้าน และเต่ามะเฟืองวางไข่ที่ภูเก็ต ทั้งสองเรื่องแสดงถึงทะเลที่อาจเปลี่ยนไป

เรื่องแรก แพลงก์ตอนบลูมที่เกาะล้าน ส่งผลกระทบกับการท่องเที่ยว ผมเคยพูดเรื่องนี้หลายครั้งว่าทะเลเรากำลังผิดปกติ โดยเฉพาะอ่าวไทยตอนใน/EEC จึงอยากขยายความเพิ่มขึ้นกับเหตุการณ์ที่กำลังปรากฏแพลงก์ตอนบลูมเป็นเรื่องธรรมชาติ เกี่ยวข้องกับปริมาณน้ำฝน (ธาตุอาหาร) แสงแดด ทิศทางลม/กระแสน้ำ และปัจจัยอื่นๆ ในทะเลแต่ระยะหลังเริ่มปั่นป่วนเพิ่มขึ้นในทางที่แย่ลง เพราะมนุษย์มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงคือธาตุอาหารที่เพิ่มขึ้นจากหลายสาเหตุ การเกษตร น้ำทิ้ง ฯลฯ ไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทยตอนในเป็นพื้นที่ค่อนข้างปิด น้ำวนอยู่นาน อิทธิพลจากแม่น้ำลำคลองมีเยอะเกี่ยวข้องทางอ้อมคือโลกร้อน ตอนนี้แรงขึ้นจนอาจใช้คำว่า “โลกเดือด”


เกี่ยวกับเอลนีโญบ้างไหม ?
ปรกติแล้วเอลนีโญจะทำให้ฝนตกน้อย น่าจะทำให้แพลงก์ตอนบลูมน้อย เมื่อเทียบกับปีลานีญาแต่ปีนี้มีข่าวน้ำเขียวบ่อยครั้ง โดยเฉพาะ EEC บางทีก็ศรีราชา พัทยา หรือแม้กระทั่งเกาะล้าน เอลนีโญในยุคก่อนๆ ไม่น่าเป็นแบบนี้ แต่เมื่อเอลนีโญเกิดในยุคโลกเดือด อะไรก็เป็นไปได้แพลงก์ตอนบลูมเกิดในช่วงเวลาแปลกๆ และพื้นที่ตามเกาะที่ในอดีตเราไม่ค่อยเจอ และส่งผลอย่างที่เราไม่คาดคิด
ตัวอย่างง่ายๆ คือการท่องเที่ยว แม้ไม่ใช่แพลงก์ตอนพิษ แต่ใครจะอยากไปเล่นน้ำเขียวคัน ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือต่างชาติ ไปเจอก็เศร้าทั้งนั้น


ช่วงนี้การท่องเที่ยวเกาะล้านกำลังคึกคัก คนไปวันละหลายพัน เป็นแบบนี้คงไม่สนุกปัญหาคือจะเกิดอีกไหม เกิดบ่อยไหม เกิดเมื่อไหร่ เราแก้ไขอย่างไรได้บ้างโลกร้อนทำให้ทุกอย่างแปรปรวน การรับมือทำได้ยาก และจะยิ่งยากหากเรามีข้อมูลไม่พอเกิดทีไรก็แค่เก็บน้ำ จากนั้นก็บอกว่าเป็นแพลงก์ตอนชนิดไหน (ปกติก็มีอยู่กลุ่มเดียวที่ไม่เป็นพิษ)มันพอสำหรับสมัยก่อน

แต่สำหรับโลกยุคนี้ เราต้องการข้อมูลที่มากกว่านี้มากๆ เพื่อการรับมือและปรับตัวกับปรากฏการณ์แปลกๆ ที่กำลังเกิดและจะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เพราะโลกร้อนขึ้นไม่ได้จะหยุดร้อน ไม่ได้จะจบลงใน 5 ปี 10 ปี แต่ยังแรงขึ้นเรื่อย ต่อเนื่องอีกอย่างน้อยหลายสิบปีการช่วยชีวิตอ่าวไทยตอนใน/EEC มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อเศรษฐกิจประเทศไทย หากเราไม่คิดพัฒนางานศึกษาวิจัย หากเราหยุดอยู่แค่วัดไข้ ขณะที่ทะเลอื่นในโลกเขาก้าวไกลไปถึงไหนๆ แล้วการช่วยชีวิตอ่าวไทยก็ทำได้กระปริกระปรอย

แพลงก์ตอนบลูมเกี่ยวกับเอลนีโญ ?
มันจะแรงขึ้น มันจะทำนายยากขึ้น มันจะส่งผลกระทบมากขึ้น อันนี้สิคือคำตอบที่แท้จริงและเรายังไม่อยู่ในสภาพที่สามารถแจ้งเตือน รับมือ และปรับตัวได้เพียงพอ เพราะนักวิทยาศาสตร์เจอแต่คำถามแต่ความสนับสนุนเพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบ ยังมีน้อยไปมากๆ
ทำให้คำตอบดูคลุมเครือ ไม่กล้าฟันธง และวนไปมา


อย่างประเทศญี่ปุ่นผมเห็นหลายอย่างที่เขากำลังพยายามยกระดับรับมือเอลนีโญและโลกร้อน ทั้งการศึกษาวิจัยที่ใช้เครื่องมือก้าวหน้า ความสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อความเข้าใจที่ถ่องแท้ เพื่อระบบแจ้งเตือนที่ดี และเพื่อการปรับตัวที่ทันการณ์ ยกระดับการสำรวจและเฝ้าระวังทะเล ติดตามสภาพความเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ ปรับปรุงอุปกรณ์และสนับสนุนกิจกรรมด้านการศึกษาวิจัย จัดจุดติดตามถาวร บูรณาการข้อมูลและ GIS ใช้เทคโนโลยีทันสมัย/รีโมทเซนซิง จัดทำโมเดลอ่าวไทย/EEC จัดทำระบบแจ้งเตือนผู้ใช้ประโยชน์ ติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเล/สมุทรศาสตร์แบบเรียลไทม์ จัดทำแผนการลดผลกระทบด้านธาตุอาหารจากแหล่งแม่น้ำลำคลอง สำรวจและดูแลอาขีพชาวประมงการท่องเที่ยวรายย่อย ฯลฯ

ในขณะที่คนทั่วไปสามารถช่วยได้ด้วยการลดผลกระทบด้านต่างๆ อย่าซ้ำเติมธรรมชาติ เช่น ลดโลกร้อน ลดขยะ บำบัดน้ำ สนับสนุนกิจการท้องถิ่น แจ้งเหตุผิดปรกติ ฯลฯ เราจะลดความสูญเสียได้มหาศาล


เต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่ที่ภูเก็ต
เรื่องที่สอง สำหรับข่าวแม่เต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่ที่ภูเก็ต นั่นเป็นเรื่องน่ายินดี แต่ที่น่าสงสัยคือทำไมแม่เต่าวางไข่ตอนนี้
ปรกติเต่ามะเฟืองจะวางไข่เดือนพฤศจิกายน-มกราคม ตุลาคมยังพอว่า แต่กรกฎาคม

“ผมไม่เคยได้ยินว่ามีมาก่อน โดยเฉพาะกับสัตว์ที่แม่นยำต่อเวลาและสถานที่เช่นเต่ามะเฟืองการวางไข่ในช่วงเวลาที่ผิดปรกติ อาจส่งผลต่อเนื่องลูกเต่าฟักออกจากไข่ในอีก 60 วัน ประมาณปลายกันยา ยังไม่หมดลมมรสุมดีด้วยซ้ำ แล้วลูกเต่าจะฝ่าคลื่นลมออกไปกลางทะเลไหวไหมในขณะที่ลูกเต่าทั่วไปจะออกทะเลช่วงกุมภาพันธ์/มีนาคม ทะเลอันดามันสงบมันมีเรื่องแปลกๆ เกิดขึ้นเรื่อยๆ ในโลกยุคนี้ที่ธรรมชาติแปรปรวนอย่างไม่เคยเกิดมาก่อน”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active