เต่ามะเฟือง พังงา วางไข่รังที่ 18 สถิติใหม่ฤดูกาลนี้

ฟักแล้ว 9 รัง ลูกเต่า 464 ตัว ‘กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง’ ดูแลเข้ม เหตุเป็นสัตว์คุ้มครอง ใกล้สูญพันธุ์

เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2564 อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง จ.พังงา รายงานว่า เต่ามะเฟือง ขึ้นวางไข่ในพื้นที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ลป.3 (ลำปาง) โดยจุดวางไข่อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติไปทางทิศเหนือ ประมาณ 8 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากหลุมเดิมที่เคยขึ้นวางไข่เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2564 ประมาณ 1.3 กิโลเมตร และคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการฟักประมาณ 55-60 วัน โดยเบื้องต้นอุทยานแห่งชาติเขาลำปีฯ ได้ทำคอกไม้ไผ่กั้นบริเวณไว้เรียบร้อยแล้ว

ด้าน ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ระบุว่า ฤดูวางไข่ของเต่ามะเฟือง (ตุลาคม-มีนาคมของทุกปี) รอบนี้ สร้างสถิติใหม่ให้ทะเลไทยอีกครั้ง เนื่องจากรังที่พบล่าสุดนับเป็นรังที่ 18 ขณะที่ฤดูกาลก่อนหน้านี้พบทั้งหมด 13 รัง โดยใน 18 รังนี้ ฟักเป็นตัวแล้ว 9 รัง มีลูกเต่ามะเฟืองลงทะเลไปแล้วทั้งหมด 464 ตัว ยังเหลืออีก 9 รังที่รอฟัก ทำให้คาดว่าปีนี้น่าจะมีลูกเต่ามะเฟืองเกิดใหม่มากถึงประมาณ 900-1,000 ตัว

ส่วนแม่เต่ามะเฟืองที่ขึ้นมาวางไข่ล่าสุดนี้ ผศ.ธรณ์ คาดว่าน่าจะเป็นการวางไข่เป็นรังที่ 5 ของแม่เต่าตัวนี้ ซึ่งเป็นไปได้มากว่าแม่เต่าตัวนี้อาจจะขึ้นมาวางไข่เป็นรังที่ 19 ได้อีก เนื่องจากเต่ามะเฟืองบางตัวสามารถวางไข่ได้มากถึง 8-9 รัง เพราะแม่เต่ารายนี้ น่าจะเป็นแม่ที่สตาร์ทออกไข่เมื่อปีใหม่ รังนี้คือรังที่ 5

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ระบุว่า เต่ามะเฟือง มีสถานะเป็น สัตว์คุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 โดยสถานะการอนุรักษ์ในปัจจุบันยังมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (ลดลง) ทำให้ ทช. ต้องกำหนดมาตรการในการดูแลพื้นที่วางไข่เต่ามะเฟืองไว้อย่างเคร่งครัด เช่น ให้ลดการใช้เสียง แสงไฟ งดถ่ายภาพโดยใช้แฟลช และไม่ให้เข้าในเขตที่กั้นไว้

เต่ามะเฟือง มีอีกชื่อเรียกว่า เต่าเหลี่ยม เป็นเต่าทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ในบรรดาสัตว์เลื้อยคลานทั้งหมดที่ยังดำรงเผ่าพันธุ์อยู่จนถึงปัจจุบัน ตัวเต็มวัยของเต่ามะเฟืองมีขนาดอยู่ที่ 150-200 เซนติเมตร มีน้ำหนักมากถึง 400-900 กิโลกรัม อาหารหลักของมันคือแมงกะพรุน ซึ่งจะช่วยควบคุมปริมาณของแมงกะพรุนไม่ให้เยอะจนเกินไป

จากการรายงานระบบฐานข้อมูลกลางและมาตรฐานข้อมูลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่าภัยอันตรายที่เกิดขึ้นกับเต่ามะเฟืองในปัจจุบันเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย เช่น ติดเครื่องมือประมงระหว่างการเดินทางมาวางไข่ และระหว่างพักช่วงการวางไข่ของแม่เต่ามะเฟือง มีโอกาสที่จะติดเครื่องมือประมง ทั้งเครื่องมือประมงพาณิชย์ เช่น อวนลาก และเครื่องมือประมงพื้นบ้าน เช่น อวนลอย เบ็ดราวปลากระเบน และโป๊ะน้ำตื้น

การถูกรบกวนจากกิจกรรมในทะเล เช่น แสงไฟของเรือที่จอดบริเวณชายหาด ขยะ และน้ำเสียจากเรือ การท่องเที่ยวทางทะเล เช่น สกูตเตอร์ รบกวนการขึ้นมาวางไข่ของเต่าทะเล นอกจากนั้นความสนใจของนักดำน้ำต่อเต่าทะเลยังรบกวนการพักผ่อน หากินของมันอีกด้วย

รวมทั้งการสูญเสียสภาพชายหาดที่เหมาะสมต่อการวางไข่ คือ การสูญเสียบริเวณหาดทรายที่เหมาะสมต่อการวางไข่ของเต่าทะเลจากการก่อสร้างสิ่งลุกล้ำลงไป หรือกิจกรรม แสง สี เสียง รบกวนการขึ้นมาวางไข่ของแม่เต่าความสกปรก และขยะบริเวณชายหาด

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว