ชาวเกาะล้าน เตรียมร่างกติกาเกาะ รับฟังความเห็นใหญ่ 30 พ.ย. นี้

ยกร่างธรรมนูญเกาะล้าน ฉบับแรก วางข้อเสนอ 4 ด้าน ลดน้ำเสียลงทะเล-การใช้พื้นที่สาธารณะ-ควบคุมยานพาหนะ-การอยู่ร่วมกัน เตรียมจัดเวทีรับฟังเสียงทุกภาคส่วน 30 พ.ย. นี้ ก่อนประกาศใช้เป็นกฎกติกาของพื้นที่ภายในปี 2566

วันนี้ (20 พ.ย. 2565) สรศักดิ์ ทองบงเพชร เลขานุการชุมชนตำบลเกาะล้านเมืองพัทยา อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เปิดเผยว่า กลุ่มภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ในพื้นที่ ต.เกาะล้าน ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เตรียมจัดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนากลไกและขับเคลื่อนสุขภาวะแบบมีส่วนร่วมในพื้นที่เกาะล้าน ในวันที่ 30 พ.ย. 2565 ซึ่งจะเป็นการระดมความคิดเห็นจากประธานชุมชนร่วมกันร่าง “ธรรมนูญเกาะล้าน” ของภาคสังคม เพื่อจัดการกับปัญหาในพื้นที่ พร้อมทั้งยังเป็นการร่วมกันกำหนดกติกาในพื้นที่แบบมีส่วนร่วมของชุมชนเกาะล้านเป็นครั้งแรก ด้วยการใช้เครื่องมือธรรมนูญสุขภาพระดับพื้นที่

เกาะล้าน

สรศักดิ์ กล่าวว่า สาเหตุที่ชาวชุมชนเกาะล้านร่วมกันคิดข้อเสนอเตรียมจัดทำธรรมนูญเกาะล้าน เพื่อแก้ปัญหาให้กับชุมชน เพราะในพื้นที่ตำบลเกาะล้านยังไม่มีหน่วยงานภาครัฐเข้ามารับผิดชอบอย่างเป็นทางการในการจัดระเบียบด้านต่าง ๆ จึงทำให้ทุกปัญหาที่มีผลกระทบต่อสุขภาวะ ความเป็นอยู่ของชาวชุมชน คนเกาะล้านต้องพึ่งพาอาศัยกันเอง

ขณะเดียวกัน พื้นที่เกาะล้านยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองพัทยา ซึ่งมีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางมาจำนวนมาก จึงเกิดการประกอบธุรกิจท่องเที่ยวขึ้นมาทั้ง โรงแรม รวมถึงกิจกรรมการท่องเที่ยวต่าง ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิชุมชน มีการใช้พื้นที่สาธารณะอย่างไม่เป็นระเบียบ มีการปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเล ซึ่งส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างมาก

เลขานุการชุมชนเกาะล้านฯ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามการจะนำกฎหมายมาบังคับใช้ในพื้นที่เกาะล้าน ก็อาจส่งผลกระทบกับผู้คนทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นชาวชุมชน หรือกลุ่มภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ดังนั้น จึงมองกันว่าธรรมนูญสุขภาพพื้นที่ จะสามารถเข้ามาเป็นเครื่องมือในการทำให้ทุกภาคส่วนในพื้นที่เกาะล้าน ทั้งภาครัฐหน่วยงานท้องถิ่น ภาคเอกชน และประชาชน จะได้เข้ามาร่วมกันสะท้อนปัญหา เสนอความคิดเห็น และนำไปสู่การแสวงหาทางออกร่วมกัน

“เราคาดหวังให้ชุมชนเกาะล้าน มีธรรมนูญเกาะล้านขึ้นมา เพื่อให้เป็นกติการ่วมกันในการอยู่อาศัย การประกอบธุรกิจ รวมไปถึงนักท่องเที่ยวเอง ที่ได้รู้ถึงกฎระเบียบในการมาเที่ยวว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร เพื่อให้เกาะล้านเป็นเมืองที่อยู่อาศัยได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี ขณะเดียวกันก็ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ซึ่งจะทำให้เกาะล้านมีความยั่งยืนในอนาคต”

ขณะที่ ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา กล่าวว่า จากการร่วมพูดคุยกับผู้นำชุมชนและภาคประชาชนพื้นที่ตำบลเกาะล้าน เบื้องต้นพบว่ามีข้อเสนอเพื่อแลกเปลี่ยน 4 ด้าน ประกอบด้วย 1. ขอให้งดการใช้น้ำยาทำความสะอาดที่มีสารเคมีที่เป็นอันตราย เนื่องจากมีการปล่อยลงสู่ทะเลทำให้ทำลายระบบนิเวศ 2. กติกาการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกัน เช่น บริเวณท่าเรือรับ-ส่งนักท่องเที่ยว รวมถึงสถานที่จอดรถ 3. การควบคุมยานพาหนะในพื้นที่ เพื่อความปลอดภัยของประชาชนและนักท่องเที่ยว 4. การอยู่ร่วมกันระหว่างชุมชน และสถานประกอบการท่องเที่ยว

​ทั้งนี้ ข้อเสนอจากภาคประชาชนที่ได้มีการนำเสนอไว้เบื้องต้น จะถูกนำไปพูดคุยแลกเปลี่ยนอีกครั้งร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวเกาะล้าน ในวันที่ 30 พ.ย. 2565 โดยหลังจากนั้นเมื่อได้ข้อสรุป ก็จะมีการยกร่างธรรมนูญเกาะล้านขึ้น พร้อมกับประกาศใช้เพื่อเป็นกติการ่วมกันของชาวชุมชนเกาะล้าน กลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยว และนักท่องเที่ยว ภายในปี 2566

“ธรรมนูญเกาะล้าน นอกจากจะเป็นกระบวนการแสวงหาแนวทางการแก้ไขปัญหาในพื้นที่อย่างมีส่วนร่วม ระหว่างภาครัฐ ท้องถิ่น ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และเอกชน ที่จะเข้ามาทำงานในลักษณะของหุ้นส่วนทางสังคมร่วมกันแล้ว ยังถือเป็นการร่วมกันพัฒนาข้อเสนอเพื่อหาทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ สอดคล้องความต้องการของทุกฝ่าย ภายใต้การมีส่วนร่วมที่ครอบคลุม”

ด้าน นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการ สช. กล่าวว่า การที่ประชาชนเกาะล้าน เมืองพัทยา ได้ร่วมกันเสนอแนวทางการพัฒนาและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ โดยการใช้ธรรมนูญสุขภาพ เป็นเครื่องมือในการสร้างกติการ่วมกันของทุกภาคส่วน จะเป็นการสร้างการรับรู้ และกระตุ้นให้ภาคประชาชนเกิดการมีส่วนร่วม และเข้ามาเสนอแนวทางร่วมกันกับหน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่น และภาคเอกชนในการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ ที่สอดรับกับสุขภาวะและความต้องการของผู้คน

ในส่วนบทบาทของ สช. จะเข้าไปช่วยส่งเสริม สนับสนุน ในเรื่องของกระบวนการทางวิชาการ และประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ชุมชนได้ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างครอบคลุมมากที่สุด ไม่ให้เกิดปัญหาความขัดแย้งตามมา และทำให้การร่างธรรมนูญเกาะล้านฉบับนี้เขียนขึ้นมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่ผลลัพธ์ตามเป้าหมายของกระบวนการที่ควรจะเป็น

นพ.ปรีดา กล่าวอีกว่า พื้นที่เกาะล้าน มีความแตกต่างจากชุมชนอื่น ๆ ที่มีการประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาพ ด้วยเป็นพื้นที่เศรษฐกิจการท่องเที่ยว มีผู้คนที่หลากหลายเข้าสู่พื้นที่ ทั้งไทย และต่างชาติ ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างการเริ่มต้นสำหรับพื้นที่เศรษฐกิจ ให้กับพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ ที่ชุมชนกับธุรกิจการท่องเที่ยว เข้ามาแสวงหาทางออกเพื่ออยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน โดยผู้นำท้องถิ่น หรือผู้นำชุมชน ได้ใช้ธรรมนูญสุขภาพเป็นเครื่องมือสำหรับการแก้ไขปัญหาให้กับพื้นที่ของตนเอง

“การใช้ธรรมนูญพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในชุมชนหรือคนหมู่มาก จะมีประโยชน์อย่างมากในการใช้งานเพื่อเป็นเครื่องมือออกจากปัญหานั้นด้วยกัน แต่ที่สำคัญคือ ชุมชนเกิดกระบวนการเรียนรู้จากการเห็นความทุกข์ร่วมกัน ร่วมกันเสนอแนวทาง หาทางออก ขณะที่ภาคีเครือข่ายส่วนอื่น ๆ ก็ต้องเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดการเขียนกติกาต่าง ๆ หรือข้อบัญญัติ ข้อบังคับในพื้นที่ในการอยู่ร่วมกันทุกภาคส่วน เป็นข้อตกลงที่สำคัญในชุมชน ซึ่งชุมชนเองก็จะทำหน้าที่ดูแลรักษาข้อตกลงนี้ไว้อย่างดีที่สุด”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active