อุตุฯ ประกาศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝน 22 พ.ค. นี้

ประเทศไทยจะสิ้นสุดฤดูร้อนและเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูฝน อุตุฯ คาด ปีนี้ปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศช่วงฤดูฝนน้อยกว่าค่าปกติเล็กน้อย อาจส่งผลขาดแคลนน้ำด้านการเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน

วันนี้ (19 พ.ค. 2566) ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า หลังมีการพิจารณาจากปัจจัยทางด้านอุตุนิยมวิทยา พบว่าจะมีฝนตกชุกหนาแน่นและต่อเนื่องครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ (ร้อยละ 60 ของพื้นที่ขึ้นไป) ประกอบกับลมที่พัดปกคลุมประเทศไทยที่ระดับผิวพื้นถึงความสูงประมาณ 3.5 กิโลเมตร ได้เปลี่ยนทิศเป็นลมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งจะพัดนำความชื้นจากทะเลอันดามันเข้ามาปกคลุมบริเวณประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง และลมชั้นบนตั้งแต่ระดับความสูง 5 กิโลเมตรขึ้นไป ได้เปลี่ยนทิศเป็นลมฝ่ายตะวันออก ซึ่งถือว่าเป็นการเข้าสู่ฤดูฝนของประเทศไทยในปีนี้

สำหรับปีนี้ปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศในช่วงฤดูฝนจะน้อยกว่าปี 2565 และจะน้อยกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 5 (ปีที่แล้วสูงกว่าค่าปกติร้อยละ 14) ในช่วงประมาณกลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม จะเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง อาจส่งผลทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำด้านการเกษตรได้ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน

ส่วนในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายนเป็นช่วงที่จะมีฝนตกชุกหนาแน่นที่สุด และมีโอกาสสูงที่จะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1-2 ลูก ส่งผลให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ และก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งได้ สำหรับฤดูฝนของประเทศไทยตอนบนจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม ส่วนภาคใต้โดยเฉพาะฝั่งตะวันออกจะมีฝนตกชุกหนาแน่นต่อไปอีกจนถึงกลางเดือนมกราคม 2567

สำหรับสถานการณ์ลานีญา ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง 3 ปี ตั้งแต่กลางปี 2563 ได้สิ้นสุดลงเล้วในช่วงต้นปี 2566 ขณะที่สถานการณ์ อุณหภูมิผิวน้ำทะเลเฉลี่ยบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกเขตศูนย์สูตร มีค่าใกล้เคียง ถึงสูงกว่าค่าปกติ

การคาดหมายสถานการณ์เอลนีโญ พ.ย.-ธ.ค. โอกาส ร้อยละ 80 ที่จะเกิดเอลนีโญระดับปานกลางเป็นอย่างน้อย และโอกาสร้อยละ 55 เอลนีโญที่รุนแรง

ส่วนปรากฏการณ์เอนโซ มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนเข้าสู่ภาวะเอลนีโญในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม และจะต่อเนื่องไปจนถึงช่วง ธ.ค. 2566 ถึง ก.พ. 2567

พยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุก ๆ 24 ชม.) 10 วันล่วงหน้า ระหว่าง 19-25 พ.ค. จากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป (ECMWF) ประเทศไทยตอนบนฝนยังมีน้อย โดยยังมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง อากาศร้อนตอนกลางวันและร้อนจัดบางพื้นที่ ช่วง 22-28 พ.ค. จะมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักในช่วงปลายเดือน

วิเคราะห์ลมระดับล่างได้เป็นแนวคุ้งหรือแนวโค้งของลมตะวันตก ตะวันตกเฉียงใต้เริ่มพัดปกคลุม และคาดว่าจะมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณภาคอีสาน น่าจะเป็นสัญญาณการเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูฝนของประเทศไทย แต่จะเป็นวันไหน รอประกาศอย่างเป็นทางการจากกรมอุตุนิยมวิทยาอีกครั้ง

ส่วนภาคตะวันออก (จันทบุรี ตราด) และภาคใต้จะมีฝนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะฝั่งอันดามัน ด้านรับลมตะวันตก และตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมจะมีกำลังปานกลาง คลื่นลมจะเริ่มแรงขึ้น ชาวเรือ ชาวประมงต้องเพิ่มความระมัดระวัง

สำหรับ สถิติ: วันที่เข้าสู่ ‘ฤดูฝน’ อย่างเป็นทางการตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ย้อนหลัง 12 ปี

2566 : 22 พ.ค.

2565 : 13 พ.ค.

2564 : 15 พ.ค.

2563 : 18 พ.ค.

2562 : 20 พ.ค.

2561 : 26 พ.ค.

2560 : 16 พ.ค.

2559 : 18 พ.ค.

2558 : 22 พ.ค.

2557 : 27 พ.ค.

2556 : 18 พ.ค.

2555 : 5 พ.ค.

2554 : 6 พ.ค.

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active