หากไทยไม่ปรับตัวรับโลกร้อน เกษตรกรจะยิ่งจน-เพิ่มหนี้

นักวิชาการคาดอุณหภูมิโลกมีโอกาสพุ่งขึ้นกว่า 5 องศาในศตวรรษหน้า แนะรัฐปรับนโยบายจากเน้นเยียวยา เป็นส่งเสริมให้เกษตรกรปรับตัวรับมือสภาพอากาศแปรปรวน

วันที่ 10 ธ.ค.2565 รศ.วิษณุ อรรถวานิช ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร กล่าวว่า สิ้นศตวรรษนี้ หรืออีกประมาณ 70-80 ปี มีโอกาสที่อุณหภูมิโลกจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 องศาเซลเซียส ถ้าเราไม่ร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

“ลองคิดภาพตามถ้าในช่วงเดือนเมษายนตอนเที่ยงๆ อุณหภูมิเพิ่มอีก 5 องศาเซลเซียส จะเกิดอะไรขึ้นโลกร้อนเกิดขึ้นแน่นอน ที่หลายประเทศทั่วโลกบอกว่าต้องควบคุมไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตอนนี้เรายังทำกันลำบากเลย”

ผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อเหตุการณ์สุดขั้ว ปรากฏการณ์เอนโซ่(ENSO)ผันผวนมากขึ้นเรื่อยๆ เส้นสีแดงคือแนวโน้มเอลนีโญฝนแล้งเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ปรากฏการณ์ลานีญา หรือน้ำมาก (สีฟ้า) ก็มีความผันผวนสูง แต่จะสังเกตได้ว่าความรุนแรงของความแปรปรวนสภาพอากาศมันเริ่มถี่ขึ้น เมื่อก่อนมา 2 ปีครั้ง แต่ปัจจุบันบางครั้งอยู่นาน 3 ปี

รศ.วิษณุ อรรถวานิช ยังอธิบายถึงรายได้และหนี้สินของครัวเรือนเกษตรว่า เวลานี้หนี้สินปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องขณะที่รายได้คงที่ทำให้ภาระการชำระหนี้เพิ่มขึ้นจากภาพตั้งแต่ปี 2557/2558 พบ หนี้สินพุ่งสูงต่อเนื่อง (แท่งสีแดง) มาจนถึงปี 2562/2563 ขณะที่ รายได้ (แท่งสีเขียว) ยังไม่มีโอกาสเพิ่มขึ้น มันสะท้อนว่า รายได้ไม่ขยับ แต่หนี้สินขึ้นเรื่อยๆ ข้าวของแพงขึ้นมาก ทั้งค่าปุ๋ยค่ายา เกษตรกรไทยมีหนี้มากกว่ารายได้ มันจะทำให้ ความสามารถในการชำระหนี้น้อยลงด้วย

สำหรับผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อผลผลิตพืชเศษฐกิจหลัก ทั้งอ้อย มันสำปะหลัง ข้าว และยางพารา จะกระทบมาก และจะมีผลผลิตลดลง ขณะที่ภาคอีสานที่ปลูกข้าวนาปีจะค่อนข้างกระทบเพราะเป็นพื้นที่น้ำน้อย นอกเขตชลประทาน ที่เข้าถึงน้ำไม่ทั่วถึง บวกกับอากาศที่แปรปรวนยิ่งทำให้เกิดปัญหาต่อผลผลิต

สำหรับนโยบายส่วนใหญ่ของไทยยังไม่เน้นให้เกษตรกรปรับตัว แต่จะเน้นการใช้งบประมาณเยียวยาเพื่อช่วยแบบให้เปล่า แต่ในต่างประเทศมีการปรับนโยบายเกษตรให้เท่าทันสภาพอากาศ

ดังนั้นทิศทางของไทยควรสนับสนุน

1.ให้นโยบายปรับตัวเพื่อลดผลกระทบ

2.ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

3.ต้องเพิ่มรายได้สุทธิให้เกษตกร ไทยยังทำน้อย

แม้บางโครงการจะสนับสนุนการปลูกพืชแบบเปียกสลับแห้ง ซึ่งเป็นงานวิจัยกรมการข้าว พิสูจน์ออกมาแล้วเพิ่มผลผลิตต่อไร่ เพิ่มรายได้สุทธิเกษตรกร ลดก๊าซด้วย แต่ปัญหาคือเรายังมีนโยบายเยียวยาของรัฐบาลอยู่ จึงทำให้เกษตรกรไม่ปรับตามมากนัก เพราะถ้าปรับก็กลัวเรื่องความเสี่ยงขาดทุน จึงทำให้เกษตรกรไม่กล้าเปลี่ยนและทำเหมือนเดิม

ในงานวิจัยที่เราทำเรื่องหลักเศษฐศาสตร์พฤติกรรม พบว่าถ้าให้เกษตรกรปรับตัวแล้วขาดทุนใครรับผิดชอบถ้าเกิดไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันเขาก็ไม่ปรับ ตรงนี้ต้องผนวกควบคู่ไปด้วยกัน การให้ภาครัฐพี่เลี้ยง ต้องจริงจัง ไม่ใช้ อบรม 3 ชั่วโมงแล้วจบ แต่ต้องติดตามต่อยอด และพร้อมให้องค์ความรู้ที่มาพร้อมกับหลักประกันด้วย สรุปว่าถ้า 1 ครัวเรือนไม่ปรับตัวเลย รายได้จะน้อย แต่ถ้าปรับตัว หนี้สินจะน้อยลงมากกว่า

ถ้าไทยเริ่มชวนเกษตรกร ปรับตัวมากขึ้น รัฐบาลจะสูญเสียเงินเยียวยาน้อยลง  ถ้ามองกันดีๆ งบฯเยียวยาจะเกิดผลเฉพาะในระยะสั้นแต่งบลงทุน เสริมความรู้ งบวิจัยพัฒนาคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆเสริมสร้างโครงสร้างดิจิตอลพื้นฐาน ไม่ค่อยจะมีมากในบ้านเรา

“เพระเราเอาเงินไปเยียวยาหมดแล้ว ผลผระโยชน์ที่เกิดขึ้นระยะยาวก็จะไม่มีเงินลงทุน ข้าวไทยส่งออกเป็นแสนล้าน เรามีงบฯวิจัยแค่ 100 ล้านแล้วเราจะสู้ประเทศอื่นไปได้อย่างไร่ ข้าวเราก็สู้ต่างประเทศไม่ได้แล้ว ดังนั้นต้องสร้างความรู้คิดเผื่ออนาคตเพราะหลังจากนี้สภาพอากาศจะแปรปรวนหนัก กระทบพืชจนทำให้เกษตรกรอยู่ลำบาก”

รศ.วิษณุ เสนอว่า ควรเปลี่ยนรูปแบบการให้เงินช่วยเหลือเป็นแบบมีเงื่อนไข เพื่อจูงใจให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตโดยเกษตรกร ต้องปรับเปลี่ยนการผลิตเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก Upskill & reskill ความรู้เพิ่มเติม เช่นผลกระทบและการปรับตัว แนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสม การปลูกพืชอื่นที่ใช้น้้าน้อยแทนข้าว การพัฒนาคุณภาพสินค้าและการใช้เครื่องจักรกลสมัยใหม่

ในมุมการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะช่วยบรรเทาความเดือนร้อน ยกระดับประสิทธิภาพการผลิตและภูมิคุ้มกัน มีงบประมาณเพิ่มเพื่อการ
ลงทุนยกระดับภาคเกษตร สิ่งสำคัญ ขอความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่พร้อมกับงบประมาณสนับสนุนที่เพียงพอ

ขณะที่นโยบายเกษตรไทย ที่เน้นช่วยเยียวยา จะไม่ทำให้เกษตรกรปรับตัว แถมเป็นการลดแรงจูงใจในการปรับตัว และเพิ่มความเสี่ยงในการผลิต ขณะที่อนาคตความแปรปรวนสภาพอากาศจะสูงขึ้น

ชุติมา น้อยนารถ กลุ่มเกษตรกรยั่งยืนคลองจินดา จ.นครปฐม กล่าวว่า ทำเกษตรอินทรีย์มาเกือบ 20 ปี  ล่าสุด ปลูกพืชผักผลไม้รวมกว่า 10 ไร่ และทำบ่อปลา ก่อนหน้านี้เคยทำวิจัยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและวิถีเกษตร ด้วยการเก็บข้อมูลทำงานวิจัยกับเกษตรกรที่คลองจินดา เกือบ 20 แปลง

พอจบงานวิจัย ปี 2553 ข้อสรุป ที่มีความเสี่ยงเยอะที่สุดคือเรื่องน้ำและทำแผนที่เสี่ยงขึ้นมาทำนายว่าปี 2554 น้ำจะมาเราก็ใช้ประโยชน์ตรงนี้ทำแผนที่เสี่ยงปกป้องตัวเอง ในปี 2554 เป็นพื้นที่ที่รอด น้ำไม่ท่วม ใช้งานวิจัยทันเวลา แค่ 20 วันตั้งแต่นั้นก็สนใจเรื่องนี้

ชุติมา ยังบอกอีกว่า สิ่งที่กังวลที่สุดคือปัญหาโลกร้อนสภาพอากาศ เพราะปัจจุบันอากาศเปลี่ยนไปมาก เจอทั้งความร้อนของอากาศ เจอทั้งแมลงหลายชนิดเข้าไปทำลายผลผลิต ก่อนหน้านั้นพบว่า เมื่ออากาศเย็นแมลงวันทองหายไป แต่พอวงจรแปรปรวน พบว่ามันเยอะและทำลายพืชผลทางการเกษตรจนเสียหาย

“เราเจอภาวะอากาศกระชาก พอฝนตกทันทีมันก็ร้อนเลย มันทำให้พืชปรับตัวไม่ทัน และพืชผักเสียหายมากอย่างมะนาวก็จะมีการไหม้แดดไปเลย ผิวมะนาวที่สวนพอเจออากาศเย็นแล้วร้อนทำให้ผิวมันเสียหาย อากาศแบบนี้เจอบ่อยและถี่ขึ้น อย่างทุกวันนี้ พอเช้ามีหมอก พอสัพักเหมือนฝนจะตกฟ้าครึ้ม และแดดเปรี้ยงภายใน 3-4 ชั่วโมง มันแตกต่างกันมาก พืชมันก็รับมือไม่ทัน”

จึงมีข้อเสนอว่า จะทำอย่างไรให้ภาครัฐ สนับสนุนเกษตรอินทรีย์ให้มาก อยากให้มีวงเงินกองทุนกู้เพื่อเกษตรกรอินทรีย์แบบปลอดดอกเบี้ย เพื่อส่งเสริมศักยภาพให้ทุกคนปรับตัวปลูกพืชผักหลากหลายและลดปุ๋ยลดยา ลดต้นทุน เพื่อสู้กับความแปรปรวนของสภาพอากาศ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active