กป.อพช. -สคส. ประกาศจุดยืน ไม่ยอมรับนโยบาย BCG ย้ำ เอื้อทุน ฟอกเขียว

เรียกร้องรัฐบาลใหม่ ยกเลิกนโยบาย BCG โดยทันที และสร้างมาตรการคุ้มครอง ลดสภาวะโลกร้อนด้วยการบังคับให้กลุ่มทุน บริษัทต่าง ๆ ลดการปล่อยก๊าซก๊าซเรือนกระจกที่ต้นกำเนิด


เมื่อวันที่ (5 มิ.ย. 66)  เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน ทั้ง คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) และสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.) ร่วมประกาศจุดยืน ไม่ยอมรับนโยบาย BCG ภายใต้วาทกรรม “ฟอกเขียว” กลุ่มทุน 

โดยระบุว่า BCG Economy คือนโยบายใหม่ทางเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นไปที่เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ที่ทั้งภาครัฐและเอกชนกำลังให้ความสำคัญ เพราะอ้างว่ามีเป้าหมายเพื่อการปกป้องสิ่งแวดล้อมและลดปัญหาโลกร้อน

ซึ่งประเทศไทยโดยรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ผลักดันนโยบาย BCG ให้เป็นวาระแห่งชาติ ผ่านเวทีประชุมกลุ่มประเทศเอเปคในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้หน่วยงานต่าง ๆ ตอบสนองแนวทางดังกล่าวอย่างพร้อมเพรียงกัน ในหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการส่งเสริมการลงทุน การอุตสาหกรรม การส่งออก การส่งเสริมด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการสร้างนวัตกรรมการพัฒนาแบบใหม่ ล้วนหันมาใช้วาทกรรม BCG เพื่อขับเคลื่อนทั้งสิ้น

แนวคิด BCG เป็นหลักการที่ดี แต่รัฐบาลกลับใช้เรื่องนี้เคลือบแฝงไปในทางไม่บริสุทธิ์ ด้วยการใช้วาทกรรมนี้รองรับเครื่องมือของกลุ่มทุนที่ไร้ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและชีวิตผู้คน 

“การค้าคาร์บอนเครดิต  ที่เปิดโอกาสให้กลุ่มทุนทั้งในและนอกประเทศดำเนินกิจกรรมโดยขอสัมปทานปลูกป่า ซึ่งจะส่งผลต่อการแย่งยึดที่ดินทำกินไปจากประชาชนโดยอ้างว่าเป็นที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ หรือดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานทางเลือกในประเทศของเรา แล้วนำเครดิตจากการดำเนินกิจกรรม ธุรกิจดังกล่าวที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่สภาพแวดล้อมและชั้นบรรยากาศไปอ้างเพื่อให้โรงงานหรือแหล่งผลิตสินค้าของกลุ่มทุนเหล่านั้นไม่ต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกจากกำลังการผลิตที่เป็นอยู่ รวมถึงอาจจะเพิ่มกำลังการผลิตได้อีกด้วย กระบวนการเหล่านี้ คือ การ“ฟอกเขียว”  “

คำประกาศระบุ
ภาพการหารือ ของ กป.อพช.และ สคส. เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 66

เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน ทั้งจากคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) และสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.) ได้หารือและมีบทสรุปร่วมกันดังนี้

1. ไม่ยอมรับนโยบาย BCG และจะร่วมกันรณรงค์ เพื่อให้มีการยกเลิกการใช้วาทกรรมประดิษฐ์ ซึ่งแท้จริง คือการ “ฟอกเขียว” ที่กำลังนำไปสู่การทำลายสิ่งแวดล้อมของโลก ผ่านกลไกตลาดที่ว่าด้วย “คาร์บอนเครดิต” มาเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้กับกลุ่มทุนที่ไร้สำนึกความรับผิดชอบต่อมิลพิษที่พวกเขาสร้างขึ้น

2. ขอเรียกร้องไปยังกลุ่ม องค์กร ขบวน เครือข่าย ภาคีนักพัฒนาเอกชนทั้งหลายที่เห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมโลกซึ่งกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤติขั้นรุนแรง ได้ออกมาปฏิเสธและไม่ยอมรับนโยบายที่เกี่ยวข้องกับ BCG ของรัฐบาลไทยในทุกรูปแบบ 

3. ขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลใหม่ที่กำลังเข้ามาบริหารประเทศในอนาคตอันใกล้นี้ได้ยกเลิกนโยบาย BCG โดยทันที และต้องสร้างมาตรการคุ้มครองและลดสภาวะโลกร้อนด้วยการบังคับให้กลุ่มทุน/บริษัทต่าง ๆ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกที่ต้นกำเนิด คือ โรงงานหรือแหล่งผลิตสินค้า เพื่อสร้างเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการลดสภาวะโลกร้อนอย่างแท้จริง อันจะนำไปสู่เป้าหมายการดูแลรักษาและทะนุถนอมสิ่งแวดล้อมโลกร่วมกัน

โดยหลังจากนี้จะรวบรวมรายชื่อองค์กรภาคประชาชนร่วมสนับสนุนข้อเสนอนี้ ก่อนส่งตัวแทนเข้าหารือพรรคการเมืองที่เตรียมจัดตั้งรัฐบาล เพื่อให้เข้าใจภาพรวมปัญหาดังกล่าว และเดินหน้าตามข้อเสนอของภาคประชาชนในการยกเลิกนโยบาย BCG ต่อไป 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active