One2Gether เรียนรู้ ลดความต่างทางสังคม

ไทยพีบีเอส จับมือภาคีเครือข่าย เปิดพื้นที่ จัดโครงการ ‘รวมหนึ่งใจไปด้วยกัน One2Gether’ ให้เยาวชนผู้พิการทางการได้ยิน อบรมความรู้เรื่องการเท่าทันสื่อ แลกเปลี่ยนมุมมองความคิด ทัศนคติ ผ่านการวาดรูป เชื่อมสัมพันธ์ทางสังคมกับกลุ่มคนที่แตกต่างหลากหลาย

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ไทยพีบีเอส, สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Depa), เยาวชนจิตสำนึกรักเมืองไทย และภาคีเครือข่ายคนพิการ จัดโครงการ รวมหนึ่งใจไปด้วยกัน One2Gether @Thai PBS โดยกิจกรรมสำคัญคือการ วาดรูปไม่เหมือน เพื่อให้ศิลปะเป็นสื่อในการสร้างความเข้าใจระหว่างกัน

จาริณี เมธีกุล หรือ ครูเปิ้ล อาสาสมัครสอนวาดรูป บอกว่า กติกาของกิจกรรมนี้คือการผลัดกันวาดรูปคู่ตรงข้าม ทุกคนจะมีคู่ของตัวเอง โดยเป็นคนทั่วไปคู่กับน้อง ๆ คนพิการ วาดรูปกันและกัน แต่ไม่ใช่รูปเหมือน ระหว่างวาดนั้นต่างฝ่าย ต้องถามกันถึงความต้องการต่าง ๆ เช่น อยากมีผมสีอะไร, ชอบแต่งตัวแบบไหน, ไลฟ์สไตล์เป็นอย่างไร เพื่อเรียนรู้ความคิดของกันและกัน เป็นการฝึกเปิดให้คนที่ไม่รู้จัก กล้าคุยกันมากขึ้น เชื่อมสัมพันธ์กันของสังคม

“การวาดรูปไม่เหมือนนั้น คือการวาดตามความต้องการของอีกฝ่าย คืออาจจะจำเป็นต้องเหมือนกับที่เราเห็นก็ได้ หากเขาอยากผมสีชมพู แต่จริง ๆ แล้วผมสีดำ เพื่อน ๆ ก็อาจจะวาดผมสีชมพูให้ ให้เขาได้เป็นอย่างที่ต้องการจะเป็นโดยศิลปะสร้างให้เกิดขึ้น และไม่ต้องกังวลเรื่องความสวยหรือไม่สวย เพราะศิลปะไม่มีผิดหรือถูก เป็นอิสระทางความคิด ระหว่างที่วาดและทำความรู้จักกัน คนทั่วไปก็จะได้ฝึกวิธีการสื่อสารกับคนพิการด้วย บางคนอาจจะไม่เคยคุยกับคนหูหนวกมาก่อนจะทำยังไง ก็อาจจะลองเรียนรู้ภาษามือบางคำง่าย ๆ ได้”

ขณะที่ เชิดพงษ์ ศรีสุธรรม โปรดิวเซอร์ผู้ชำนาญการอาวุโส ฝ่ายสารคดีสาระประโยชน์ ไทยพีบีเอส ในฐานะตัวแทนผู้จัดกิจกรรม กล่าวว่า ไทยพีบีเอส มียุทธศาสตร์การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมในหลายมิติ ด้านหนึ่งจึงตั้งใจขับเคลื่อนเรื่องคนพิการมีงานทำ แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้นสังคมต้องเริ่มเรียนรู้ที่จะอยู่รวมกันอย่างเคารพ ให้โอกาส และเข้าใจซึ่งกันและกัน กิจกรรมในครั้งนี้เป็นการทำงานประเด็นคนพิการครั้งแรกในปีนี้ พร้อมชูประเด็นเรื่องการสร้างอาสาสมัคร โดยเปิดโอกาสรับอาสาสมัครร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ กับคนพิการหูหนวก

“เริ่มจากการที่ชวนพนักงานไทยพีบีเอสมาเป็นอาสา เพื่อให้ได้มาเรียนรู้กับคนพิการ ซึ่งจริงๆ แล้วคนพิการสามารถแบ่งได้เป็น 7 ประเภท แต่เราเริ่มต้นที่กลุ่มเด็กหูหนวก หรือพิการทางการได้ยินก่อน โดยเป็นน้อง ๆ จากโรงเรียนเศรษฐเสถียร จำนวน 38 คน โดยได้รับความสนใจจากเพื่อนเครือข่าย อย่าง depa สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เครือข่ายเพื่อคนพิการ และ วิทยากรอาสาที่มาให้ความรู้เรื่องเท่าทันสื่อ และความรู้เรื่องศิลปะสื่อใจให้กับน้อง ๆ ด้วย”

เชิดพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยพีบีเอสมียุทธศาสตร์การสื่อสารเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งคนพิการ คือกลุ่มคนที่ควรจะได้รับโอกาส และความเท่าเทียมกันทางสังคม ปัญหาใหญ่คือสังคมไม่เข้าใจ และ เข้าไม่ถึงเรื่องคนพิการ จึงจำเป็นต้องมีชุดข้อมูลปัญหา อุปสรรคการติดขัดต่อการใช้ชีวิต การมีงานทำเพื่อนำเสนอต่อสังคม

“การจ้างงานคนพิการ อุปสรรคคือคนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่า ถ้าให้คนพิการทำงานจะมีข้อดีอะไร สิทธิประโยชน์ที่องค์กรจะได้รับ จะดูแลคนพิการในองค์กร หรือรองรับอย่างไร ทำให้คนเลือกที่จะไม่จ้างงานคนพิการ และเอาเงินเข้ากองทุนตามเงื่อนไขของกฎหมายแทน แต่จริง ๆ แล้วคนพิการจำนวนไม่น้อยมีศักยภาพมาก เพียงแต่ไม่ได้รับโอกาส”

เชิดพงษ์ ทิ้งท้ายว่า ไทยพีบีเอส ยังเตรียมจัดโครงการ Hackathon เพื่อชวนภาคส่วนที่เกี่ยวข้องระดมความคิดเห็น แนวทาง และนโยบายแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำด้วยการเปิดโอกาสให้คนพิการมีงานทำ ซึ่งจะจัดในวันที่ 28-30 กันยายนนี้ ด้วยความคาดหวัง อยากให้คนพิการมีงานทำมากขึ้น และหลังจากนั้นจะมีการติดตามผลความสำเร็จ ตลอด 2 เดือน ว่าสามารถช่วยให้คนพิการมีงานทำได้มากขึ้นอย่างไร และจะนำเสนอผลการรายงาน ในวันที่ 3 ธันวาคมนี้ ซึ่งตรงกับวันคนพิการสากล โดยจะจัดการแถลงร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพื่อย้ำให้เห็นความสำคัญในบทบาทของสื่อที่ “ไม่ได้ทำหน้าที่แค่เป็นสะพานเชื่อมแต่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมจริง”

นอกจากการวาดรูปแล้ว ภายในกิจกรรมรวมหนึ่งใจไปด้วยกัน One2Gether @Thai PBS ยังมีบรรยายการเรียนรู้เท่าทันสื่อ โดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่ง สุชนา สินธวถาวร วิทยากร ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความมั่นคง กล่าวว่า Depa มีภารกิจเกี่ยวกับการให้ความรู้เรื่องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้ปลอดภัย สร้างสรรค์ เราจึงเอาองค์ความรู้เรื่องเท่าทันสื่อในโลกดิจิทัลให้น้อง ๆ ฟังเพราะปัจจุบันภัยออนไลน์มีเยอะมาก และทุกคนมีออนไลน์เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน จึงบรรยายถึงความเสียงจากกรณีต่าง ๆ เช่น การหลอกลวง การขโมยข้อมูลส่วนบุคคล การกลั่นแกล้งทางออนไลน์ พร้อมให้แนวทางการรับมือภัยในโลกออนไลน์

“ตอนนี้เทคโนโลยีไปไกลแล้ว แง่หนึ่งคือการพัฒนา แต่ความก้าวหน้าก็ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในทางที่ผิด เช่น เอไอ มีบทบาทมากขึ้น สามารถปลอมแปลงภาพบุคคลได้อย่างแนบเนียน ทั้งในรูปแบบภาพนิ่งและวิดีโอ จนทำให้เข้าใจผิดได้ อย่างที่เคยเห็นกันในคลิปร้องเพลงภาพของบิ๊กป้อม นั่นคือเทคโนโลยี deep fake เหมือนตัดต่อ เอารูปคนมา ทำให้เข้าใจว่าพูดจริง ท่าทางน้ำเสียง อยากให้น้อง ๆ รู้ว่าเทคโนโลยี ถ้าเอามาใช้จุดประสงค์ที่ดีสามารถเป็นแรงบันดาลใจได้ แต่ต้องระวังผู้ที่ใช้ในทางที่ไม่ดีด้วย”

สุชนา กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกเทคโนโลยีที่น่าสนใจ คือ VR ภาพเสมือนบุคคล เคสหนึ่งคือน้องคนพิการที่สูญเสียคุณแม่ไป ทีมงานผู้จัดทำคลิปได้นำภาพเหมือนของคุณแม่ในอดีตมาทำออกแบบนำเสนอให้เหมือนกับว่ายังมีชีวิตอยู่ รับชมผ่านเครื่อง VR เสมือนกับว่าได้พบกันอีกครั้ง ความก้าวหน้าที่เทคโนโลยีช่วยทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เกิดขึ้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active