‘เมืองสร้างสรรค์’ อีก 1 ฝันของคนกรุงเทพฯ ชวนผู้ว่าฯ วางนโยบายส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมทุกมิติ

หอศิลป์กรุงเทพฯ และเครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ ระดมความคิดเห็นแวดวงศิลปะฯ เสนอไอเดียสร้างนโยบายผลักดันกรุงเทพฯ เป็นเมืองสร้างสรรค์ เน้นเปิดพื้นที่ สร้างศิลปินรุ่นใหม่ และส่งเสริมเศรษฐกิจ soft power

เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2565 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในฐานะเครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ จัดกิจกรรม “ระดมไอเดียคนศิลปะ ผลักดันว่าที่ผู้ว่าฯ พากรุงเทพฯ มุ่งสู่เมืองศิลปะ: เมืองสร้างสรรค์ เมืองในฝันของคนรุ่นใหม่” เพื่อให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งมีส่วนกำหนดทิศทาง และนโยบายของผู้ว่าฯ กทม. ด้วยการนำเสนอนโยบายสาธารณะ จึงได้มีการตั้งคำถาม นำเสนอประสบการณ์ผ่านกระบวนการกลุ่มย่อย ได้แก่ กลุ่มคนศิลปะร่วมสมัย กลุ่มงานอนุรักษ์ กลุ่มงานด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และกลุ่มคนรุ่นใหม่

เมืองสร้างสรรค์

กลุ่มคนศิลปะร่วมสมัย มองว่าเรื่องนี้ต้องถูกกำหนดในแผนงานของกรุงเทพมหานคร เพราะที่ผ่านมาไม่มีสิ่งนี้อยู่ในแผนงานทำให้ไม่ได้รับการส่งเสริมเท่าที่ควร การกำหนดให้อยู่ในแผนเพื่อจัดสรรงบประมาณและนโยบายที่เหมาะสม ในแง่ของคนหรือการพัฒนาเศรษฐกิจตั้งแต่ในชุมชน ระดับกลาง หรือมหภาพ ทั้งนี้ ต้องการพัฒนากลไก จัดสรรการแบ่งเป็นพื้นที่ งบประมาณ คน และการให้คุณค่า ต้องการพื้นที่มากขึ้นในการแสดงศิลปะร่วมสมัย นอกจากพื้นที่ของ กทม. ยังมีพื้นที่ของเอกชนที่พร้อมเปิดโอกาส เพียงแต่ต้องมีการให้สิทธิประโยชน์บางประการ จึงควรจะมีการทำงานร่วมกัน ระหว่าง กทม. และภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงการสนับสนุนพื้นที่ เช่น แพลตฟอร์มอื่น ๆ ที่หลากหลาย อย่างในออนไลน์ 

ส่วนมุมของคน หรือศิลปินสร้างงาน ปัญหาที่พบคือการขาดพื้นที่ในการแสดงงานและศักยภาพในการหาเลี้ยงชีพตัวเองได้ กทม. สามารถสนับสนุนพื้นที่การสร้างงานให้มากขึ้น เพื่อให้ศิลปินรุ่นใหม่ รุ่นกลางทำงานต่อเนื่องได้ และสร้างผลงานใหม่ ๆ สู่สังคม ยังพบว่าธุรกิจศิลปะร่วมสมัยไม่ครึกครื้น ผู้ชมไม่เพิ่มขึ้น เนื่องจากบางครั้งศิลปะเข้าถึงยาก หรือผลงานน้อย ควรจะส่งเสริมให้มีการสร้างสรรค์ผลงานเยอะขึ้น ให้เข้าถึงง่าย และราคาถูก กทม. สามารถสนับสนุนให้เกิด art manager ในเขตพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อร่วมพัฒนาศิลปะร่วมกับชุมชน รัฐ และเอกชน 

“สิ่งสำคัญมาก ๆ คือ กทม. ต้องเปลี่ยนตัวเอง ทำให้งบประมาณที่ถืออยู่ลงมาถึงประชาชนได้มากขึ้น ศิลปะขับเคลื่อนสังคม ทำอย่างไรที่การพัฒนาจะไม่มุ่งไปสู่ปลายทางอย่างเดียว แต่รวมถึงศิลปิน นักจัดการศิลปะ และผู้รับชมงานศิลปะ เช่น จัดเทศกาล แพลตฟอร์มข้อมูลข่าวสาร เปิดพื้นที่ลดระเบียบราชการ ให้คนทำงานศิลปะเข้าถึงทรัพยากรเหล่านั้น เข้าหาประชาชนมากขึ้น สร้างพื้นที่แพลตฟอร์ม เกิดสภาศิลปะร่วมสมัย ให้ภาคประชาสังคม เอกชน รัฐ คุยกันส่งเสริมกันและกัน”

เพียงดาว จริยะพันธุ์ นักจัดการศิลปะการแสดง

กลุ่มงานอนุรักษ์ มีการเสนอให้ใช้ศิลปะวัฒนธรรมนำเศรษฐกิจ ชูเรื่องศิลปะกินได้ มองว่า ศาลาว่าการกรุงเทพมหานครหลังเก่า สามารถทำเป็นศูนย์สร้างสรรค์ของ กทม. เพิ่มพื้นที่ทางศิลปะวัฒนธรรม จากพื้นที่ทางวัฒนธรรม สวนสาธารณะ พื้นที่เอกชน คอนโดมิเนียม อาคารพาณิชย์ที่เข้าถึงง่าย ภาครัฐสามารถส่งเสริมให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกันได้ เพื่อให้เกิดพื้นที่แสดงศิลปะวัฒนธรรมและสร้างสรรค์ พร้อมสนับสนุนให้ประชาชนรวมตัวกัน รองรับกลุ่มคนที่ทำงานด้านศิลปะวัฒนธรรมให้มีกิจกรรมเพิ่มขึ้น

ข้าราชการ กทม. อาจจะไม่มีความรู้เข้าใจศิลปะวัฒนธรรมที่หลากหลาย จึงควรรวบรวมบุคลากรจากภายนอก เปิดโอกาสให้ได้ร่วมออกความคิดเห็นได้ด้วยผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น ตั้งคณะกรรมการศิลปวัฒนธรรมเพื่อศิลปะสร้างสรรค์แห่งกรุงเทพมหานคร ทำงานภายใต้ กทม. โดยมีองค์ประกอบของภาคประชาสังคม 70% และ 30% เป็นฝ่ายเลขาฯ ของ กทม. นำเอาความคิดเห็นหรือมตินำไปปฏิบัติ โดยมีสำนักศิลปวัฒนธรรม กทม. มาสนับสนุน ตั้งกองทุนรองรับ เพื่อให้เกิดดิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมที่เกิดจากแนวคิดของภาคประชาชน พร้อมเปิดประชุมอย่างน้อยปีละครั้ง

นอกจากนี้ยังมองว่า กทม. สามารถร่วมงานกับองค์กรมหาชนที่ทำงานเรื่องนี้ ก่อนจะเกิดงานสร้างสรรค์ เพื่อบริหารจัดการมรดกวัฒนธรรม อนุรักษ์ สื่อสาร และสร้างสรรค์ รวมถึงวัฒนธรรมสร้างสรรค์ร่วมสมัยในทุกมิติ

เมืองสร้างสรรค์

กลุ่มคนรุ่นใหม่ เสนอให้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มพื้นที่ศิลปะ ให้ กทม. ได้เป็นเจ้าภาพในการจัดสร้างเองได้ และทำให้ผู้คนเข้าถึงง่ายทุกเพศวัย มีการเชื่อมข้อมูลกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ให้รัฐสนับสนุนงบประมาณให้กับสำนักงานเขต สำหรับจัดงานศิลปะวัฒนธรรมของแต่ละเขตพื้นที่ โดยมองว่าพื้นที่แต่ละแห่งมีลักษณะเฉพาะตัว ที่คนในชุมชนสามารถเรียนรู้วัฒนธรรมชุมชนของตัวเอง ให้คนเข้าถึงการจัดนิทรรศการในชุมชนได้มากขึ้น ฟื้นฟู-สร้าง-รักษา ให้มีการสำรวจความต้องการของชุมชน ว่าต้องการกิจกรรมแบบไหน มีข้อเสนออย่างไร สนับสนุนพื้นที่ art space ให้เกิดหอศิลป์สัญจร ลานดนตรีเคลื่อนที่ ให้ กทม. จับมือกับหอศิลป์กรุงเทพฯ ให้เด็ก ๆ ในสถานศึกษาของ กทม. ได้มาดูงานที่หอศิลป์ฯ มากกว่าไปสวนสนุก

เมืองสร้างสรรค์

เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เสนอให้ทำยุทธศาสตร์ นโยบายเพื่อส่งเสริมกระบวนการสร้าง สนับสนุน ลงทุนศิลปะ เช่น นำเสนอโครงการเพื่อสร้างความเข้าใจศิลปะมากขึ้น จัดเวิร์กชอป กระจายการรับรู้ผลงานศิลปะภายใต้โครงการ art delivery ให้สิทธิประโยชน์เอกชน ในการสนับสนุนผลงานศิลปะ ส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงผลงานศิลปะ และทำให้งานศิลปะกระจายไปสู่ผู้คนที่ห่างไกลได้

ในส่วนของกลุ่มศิลปิน ควรส่งเสริมให้เกิดศิลปินรุ่นใหม่มากขึ้น ส่งเสริมให้มีการจ้างงานมากขึ้น สนับสนุนชาวต่างชาติให้มาชมงาน เพื่อแลกเปลี่ยนการซื้อขายกระตุ้นตลาดงานศิลปะในเมืองไทย รวมถึงการซื้อตั๋วไปชมงานศิลปะอาจลดภาษีได้ มีการต่อยอดลิขสิทธิ์ทางปัญญา การส่งเสริมมรดกทางปัญญาให้นำไปต่อยอดผลงานได้ 

“นโยบาย กทม. ตอนนี้ต้องเน้นการพัฒนาคน มีนโยบายทำงานร่วมกับเอกชน ชุมชน เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนเข้าถึงงานศิลปะ เพื่อขยายตลาดได้มากขึ้น สร้างนักสร้างสรรค์กลุ่มใหม่ ๆ ได้มากขึ้น สนับสนุนภาษีการลงทุนด้านศิลปะ เพื่อทำให้ตลาดขยายมากขึ้น กลุ่มนักพัฒนานโยบายของ กทม. ต้องมีความเข้าใจจึงจะช่วยให้การออกนโยบายที่เหมาะสม ให้มีการจัดกิจกรรม ให้นักสร้างสรรค์เติบโต สนับสนุนนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ นี่คือข้อเสนอของกลุ่มที่อยากให้ผู้ว่าฯ มาร่วมพัฒนา”

มนฑิณี ยงวิกุล ผอ.สำนักพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์​ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์​ (องค์การมหาชน)

สำหรับข้อเสนอเชิงนโยบายที่หอศิลป์กรุงเทพฯ ระดมร่วมกับภาคีเครือข่ายภายใต้หัวข้อ “เมืองสร้างสรรค์” จะถูกรวบรวมนำเสนอถึงผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ร่วมกับเครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ ทั้ง 6 หัวข้อ คือ เมืองน่าอยู่ เมืองปลอดภัย เมืองทันสมัย เมืองเป็นธรรม เมืองสร้างสรรค์ และเมืองมีส่วนร่วม ในเวทีประชันวิสัยทัศน์ใหญ่ จัดโดยไทยพีบีเอสและเครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ ในวันที่ 16 พ.ค. 2565


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้