กรมศิลป์ ทุ่มงบฯ​ 2.3​ ล้าน บูรณะ​ “หลวงพ่อดำ” วัดช่องนนทรี​

หลัง The Active นำเสนอข่าวแสวงหาความร่วมมือหลายฝ่าย ล่าสุด กรมศิลปากร เผย ได้รับงบฯ บูรณะพระอุโบสถวัดและพระประธาน วัดช่องนนทรี สถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย คาดแล้วเสร็จ ก.พ. 2566 เตรียมผลักดันเป็นแหล่งเรียนรู้แก่ชนรุ่นหลัง​ วางประโยชน์​ระยะยาว​

วันนี้​ (20​ พ.ย.​ 2565)​ จิตรา กาญจนะคูหะ​ ผู้อำนวยการกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน กองโบราณคดี กรมศิลปากร เปิดเผยว่ากรมฯ​ ได้อนุมัติงบประมาณฉุกเฉิน​ เหลือจ่ายปลายปีงบประมาณ 2565 จำนวน 2,350,000​ บาท​ เพื่อบูรณะพระอุโบสถวัด​ช่องนนทรี​ เขตยานนาวา​ กรุงเทพ​มหานคร​ สถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย​ กลางกรุง​ ภายหลังจากการนำเสนอข่าวของ​ The ​Active​ ซึ่งก่อนหน้านี้มีสภาพทรุดโทรม​ ส่วน หลวงพ่อดำ หรือพระประธาน​ ถูกความชื้นกัดกร่อน​ ใกล้ล้มลงมาทั้งองค์ ขณะที่ภาพกิจกรรมฝาผนังซึ่งถือว่ามีคุณค่าอย่างมากและเป็นต้นแบบทางศิลปกรรม​และสถาปัตยกรรม​ให้กับนักศึกษามาหลายรุ่น ก็กำลังถูกความชื้น ทำให้สีภาพเลือนลางหายไป​

โดยงบประมาณฉุกเฉิน​นี้ เป็นการบูรณะเบื้องต้น​ เร่งด่วน​ จะนำมาซ่อมฐานพระประธานและตัดความชื้นรอบพระอุโบสถ​ ในขณะที่ส่วนของโครงสร้าง​ เสาค้ำยันด้านหน้า​ ยังต้องรอการอนุมัติงบประมาณในปี 2566 ซึ่งจะดำเนินการโดยเร็วที่สุด​ ทั้งนี้ คาดว่าจะบูรณะในเบื้องต้นเฉพาะองค์พระประธาน และตัดความชื่นจิตรกรรมฝาผนังรอบพระอุโบสถ แล้วเสร็จเดือน ก.พ. 2566

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการบูรณะเสร็จสิ้นแล้ว กรมศิลปากรต้องขอความร่วมมือวัดให้ใช้ประโยชน์จากพระอุโบสถเพื่อระบายความชื้น​ ไม่ปิดถาวรเหมือนอย่างที่ผ่านมา โดยจะมีการวางแผนระยะยาว​ร่วมกัน ทั้งกรมศิลปากร​ วัด​ และชุมชนในการใช้ประโยชน์ทั้ง 2 ด้าน​ คือเป็นทั้งศาสนสถาน พระสงฆ์​กลับมาใช้เป็นสถานที่ทำวัตร​เช้า​ เย็น​ เปิดให้ประชาชน​ ชาวบ้านเข้าสักการะตลอดปี​ และอีกด้าน​เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปะและสถาปัตยกรรมของนักศึกษาโบราณคดี

สำหรับวัดช่องนนทรี เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย อยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาทางฝั่งตะวันออก ตรงข้ามกับบริเวณฝั่งบางกระเจ้า กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนให้เป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2520 พระอุโบสถของวัดเปิดให้เข้าชม 3 ครั้งต่อปี ในวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา และวันอาสาฬหบูชา

ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ในพระอุโบสถมีครบทั้ง 4 ด้าน มีสภาพสมบูรณ์เพียง 2 ด้าน เล่าเรื่องทศชาติชาดก อดีตพุทธ และพุทธประวัติเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่ยืนยันว่า เป็นงานจิตรกรรมสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ การวางภาพจะคั่นเรื่องราวด้วยลายร้อยรักเป็นเส้นตั้ง และคั่นเรื่องย่อยด้วยเส้นสินเทา ส่วนใหญ่โครงเป็นสีแดง นิยมปิดทองตัวกษัตริย์ราชรถและปราสาท การเขียนภาพมีลักษณะเหนือจริง เน้นความสวยงามมากกว่าความสมจริง โดยเขียนต้นไม้บิดเบี้ยวและภูเขาตัดเส้นแบบจีน มีบางภาพเขียนแบบทัศนียวิทยาแบบตะวันตกด้วย


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active