สุรากลั่นชุมชน จากส้มตกเกรด

แก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ “สุรากลั่นชุมชน” ทางเลือกแปรรูปผลผลิต “ชาวสวน” ยืนยัน เพิ่มมูลค่าได้จริง แต่กฎหมายไม่เอื้อ แนะ ปลดล็อกกฎหมายสุรา เปิดโอกาสให้เกษตรกรและผู้ประกอบการรายเล็กเข้าร่วมแข่งขันในตลาดอย่างเป็นธรรม

ส้มตกเกรด

17 ก.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกษตรกรสวนส้ม อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ เผยว่า ปัจจุบันสภาพอากาศแปรปรวนเกษตรกรรับมือไม่ทัน โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ทำให้ผลผลิตไม่เป็นไปตามเป้า เช่น ส้มตกเกรด ทำให้ราคาของผลผลิตตกต่ำ อีกทั้งพบว่าปัญหาเกษตรกรโดยทั่วไปคือไม่ได้ทำการตลาดเอง ผลผลิตทั้งหมดต้องส่งพ่อค้าคนกลาง จึงไม่สามารถกำหนดราคาเองได้

บุญธิกาญจน์ ขยันพัชร์มงคล เกษตรกรสวนส้ม ไร่ยอดดอย จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า เกษตรกรสามารถเกิดปัญหาได้ทุกช่วงเวลา ฝนฟ้าอากาศ เรื่องของแมลงมีผลหมด เกษตรกรลงทุนไปแล้ว หวังจะให้ผลผลิตออกผลเพื่อให้ได้ทุนกลับมา ก่อนหน้านี้ ชาวสวนส้มพยายามแปรรูปส้มเป็นส้มอบแห้ง แยมส้ม แต่ไม่สามารถสู้ตลาดเดิมที่มีอยู่แล้วได้ จึงหาทางออกด้วยการทำสุรากลั่นชุมชน แต่ยังติดเงื่อนไขเรื่องโรงงานและกำลังการผลิต บุญธิกาญจน์ จึงหาโรงงานที่อยู่ในพื้นที่ ที่มีใบอนุญาตถูกต้องเพื่อทดลอง

“ทำมาหลายอย่าง แต่มันก็ไม่ดี น้องชายเลยหาวิธีการแล้วชวนว่าลองเอาไปกลั่นเป็นสุราดีไหม หลังจากนั้นก็เริ่มหาโรงกลั่นเพราะเราไม่สามารถทำเองได้ พอเจอคนรู้จักที่มีโรงกลั่นสุราชุมชนอยู่แล้ว เราก็ให้เขาทดลองให้ ก็อธิบายให้เขาฟังว่าก่อนหน้านี้เราพยายามนำส้มไปแปรรูปหลายอย่างแล้วแต่ไม่สำเร็จ โชคดีที่ว่าเขาก็ยอมให้ความช่วยเหลือ แต่กว่าที่จะมาเป็นเหล้าก็ลองผิดถูกเหมือนกัน”

นครินทร์ มานะบุญ เกษตรกรและผู้ประกอบการสวนส้ม กล่าวว่า ส้มที่ตกเกรดมีต้นทุนเท่ากับส้มเกรดดี จึงพยายามหาข้อมูลการแปรรูปเพื่อหาทางรอดให้กับส้มที่ตกเกรด กระทั่งไปเจอต่างประเทศที่ทำสุรากลั่นจากผลไม้ เรียกว่า โอเดอวี (Eau de vie) จึงตัดสินใจแปรรูปส้มเป็นสุรากลั่น หวังซัปพอร์ตส่วนที่เกษตรกรต้องแบกรับ

“เราเริ่มทำโดยที่ไม่มีตลาดเลย แต่อย่างน้อยผมมองว่ามันไม่เน่าไม่เสียจะอยู่อีก 10 ปี ก็ยังเป็นเหล้า ถ้าเก็บดี ๆ อีกทั้งมันแหวกข้อจำกัดเรื่องอายุ shelf life “ส้ม” อย่างมากเราส่งได้แค่ภาคใต้ ผมเคยส่งไปตรุษจีนของลาวใช้เวลา 4 วัน แต่ต้องเป็นส้มเปลือกหนากลุ่ม Orange ต้องเป็นส้มผิวหนา มันก็ไม่สดเท่าไร ถ้าเราไม่ไปห้องเย็ย แต่ถ้าเป็นเหล้า เราไปต่างประเทศ ไปแวะ 3 วัน 4 วัน เป็นเดือนหรือเป็นปี เหล้าก็ยังเป็นเหล้า ช่องทางนี้มันทำให้ผลิตถัณฑ์เรามันไม่มีข้อจำกัดอายุ มันเลยมีโอกาสที่มันจะไปได้ไกล”

นครินทร์เน้นย้ำว่า การแปรรูป เป็นวิธีช่วยเยียวยาผลกระทบเกษตรกร จากส้มตกเกรดได้ แม้ว่าส้มที่ตกเกรดจะมีทางเลือกแปรรูปเป็นสุรากลั่นได้ แต่ยังติดเงื่อนไขเรื่องกฎหมายอยู่หลัก ๆ 2 เรื่อง คือ กฎหมายภาษีสรรพสามิตของกระทรวงการคลัง เนื่องจากกฎหมายมีการระบุเรื่องขนาดโรงงาน การจำกัดแรงม้า และกำลังการผลิต ที่ต้องเป็นไปตามกฎหมายกำหนด ปัจจุบันที่นี่จึงต้องอาศัยโรงกลั่นจากผู้ที่มีใบอนุญาต และอีกหนึ่งกฎหมายที่ถือว่ามีความสำคัญ คือ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 32 ที่ว่าด้วยเรื่องการโฆษณา และการขายออนไลน์

ผู้ประกอบการร้านขายส่ง เผย ติดเงื่อนไขการขาย แนะ ปล็ดล็อก การจำหน่ายออนไลน์ แต่ต้องควบคุมเพื่อไม่ซ้ำรอยกัญชา  

ขณะ อรรถพล อัครพุทธิพร ผู้ประกอบการร้านขนส่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ระบุว่า ช่วงที่มีกระแสของ “พิธา” พูดถึงสุรากลั่นชุมชน ตนเริ่มที่จะรับสุราชุมชนเข้ามาขาย และพบว่ามีสุรากลั่นจากพืชผลทางการเกษตรเยอะมาก อาทิ สตรอว์เบอร์รี ลิ้นจี่ ลำไย กาแฟ มะม่วง ส้ม ตาลโตนด สับปะรด ข้าวโพด และอ้อย 

ในฐานะคนขาย อรรถพล  กล่าวว่า กฎหมายยังไม่เปิดให้ขายได้อย่างถูกต้อง อย่างออนไลน์ ซึ่งเป็นข้อท้าทาย จึงมีความพยายามของร้านค้าว่าจะสื่อถึงผู้บริโภครู้ว่าร้านเรามีอะไรขายบ้าง การลงรูปสินค้ายังทำไม่ได้ พอไม่สามารถสื่อสารได้ก็จะลำบาก  

“ในเรื่องการขายออนไลน์ยังไม่ถูกกฎหมาย อย่างเฟซบุ๊ก ก็ยังไม่สามารถพูดถึงได้ แม้แต่รูปก็ยังลงไม่ได้ มันมีข้อกำหนดตรงนี้อยู่ที่ทำให้สินค้าหรือข้อจำกัดสินค้าหลายตัวไม่สามารถสื่อถึงผู้บริโภคได้ มันต้องใช้วิธีอื่น ๆ อย่างเช่น ปากต่อปากก่อน อนาคตถ้าโพสต์เพิ่ม โฆษณา อาจไม่ใช่การขาย แต่เป็นการรีวิวทำให้ตลาดกว้างขึ้น”

อย่างไรก็ตาม อรรถพล ในมุมมองของผู้ขาย มองว่า ถ้ากฎหมายเปิดกว้างมากขึ้นก็จะทำให้กระแสอยู่ยาวมากขึ้น และหากมีการปลดล็อกกฎหมายแล้ว อยากให้มีการควบคุมอย่างชัดเจน ครอบคุม ไม่อยากให้เหมือนการปลดล็อกกัญชาที่ผ่านมา 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active