อนุสรณ์ ประเมิน สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำไทยเสี่ยงภาวะ Stagflation

เหตุไทยพึ่งพาการนำเข้าพลังงาน และน้ำมันในระดับสูง ส่งผลเกิดภาวะ Stagflation เงินเฟ้อสูงควบคู่เศรษฐกิจขยายตัวติดลบ หรือชะลอตัวในหลายประเทศ แนะเตรียมงบประมาณเพื่อใช้มาตรการทางการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจและลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจระยะยาว

รศ.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต มองผลกระทบจากสงครามต่อเศรษฐกิจไทย ยังอยู่ในวงจำกัด แต่ตลาดหุ้นไทย และค่าเงินบาทยังทรุดตัวได้อีก ขณะที่ทองคำยังอยู่ในช่วงแรกของขาขึ้น ผลกระทบต่อภาคส่งออกและภาคท่องเที่ยวไทยยังได้รับผลกระทบจำกัดในระยะสั้น ผลกระทบสำคัญ คือ ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นจากราคาพลังงาน ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและตลาดการเงิน

รศ.อนุสรณ์ เห็นว่า ผลกระทบของสงครามรัสเซียยูเครน ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ระบบการค้าโลก การลงทุนระหว่างประเทศและตลาดการเงินโลกอย่างชัดเจน

“รัฐบาลรัสเซียจะถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอย่างหนักจากชาติตะวันตก มาตรการคว่ำบาตรบางส่วนจะส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานในตลาดโลกให้ปรับตัวสูงขึ้น และ ตลาดการเงินโลก และระบบการชำระเงินระหว่างประเทศของรัสเซียมีความปั่นป่วน มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดภาวะ Stagflation มีเงินเฟ้อสูงควบคู่เศรษฐกิจขยายตัวติดลบ หรือชะลอตัวในหลายประเทศ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีภาวะเสี่ยงที่จะเกิด Stagflation เนื่องจากประเทศพึ่งพาการนำเข้าพลังงานและน้ำมันในระดับสูง อย่างไรก็ตามจะไม่กระทบมากเท่าประเทศในยุโรป และรัสเซีย”

ขณะที่ ตลาดการเงินโลกปั่นป่วน ตลาดหุ้นในประเทศสำคัญทางเศรษฐกิจปรับฐานล่าสุด ยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของขาลงรอบใหม่ ตลาดหุ้นนิวยอร์ก และตลาดหุ้นในยุโรปมีโอกาสแตะระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปี ขณะที่ตลาดหุ้นในประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจใกล้ชิดกับรัสเซีย จะกระทบหนักจากการทรุดตัวลงของเศรษฐกิจรัสเซีย และค่าเงินรูเบิล หรือประเทศที่ต้องพึ่งพานำเข้าพลังงาน และน้ำมันจะได้รับผลกระทบมาก การทำสงครามแบบผสมผสานหรือ Hybrid Warfare ของรัสเซียจะทำให้เกิดสงครามนอกแบบหลากหลาย สงครามไซเบอร์ที่อาจส่งผลกระทบต่อความปั่นป่วนในการระบบการสื่อสารโทรคมนาคม ระบบสถาบันการเงินและระบบการชำระเงิน สงครามพันทางหรือสงครามไฮปริดนี้ จะมีการปะทะกันของกองทหารในแนวหน้าน้อยลง แต่จะมีการผสมผสานวิธีการที่ไม่ใช่ทางทหารเพิ่มขึ้น เช่น การใช้มาตรการทางเศรษฐกิจ มาตรการสงครามข้อมูลข่าวสาร จะมีการปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operation: IO) และปฏิบัติการทางจิตวิทยาค่อนข้างมาก มีการสร้างข่าวปลอม ส่งผลต่อความผันผวนในตลาดการเงินมาก

ส่วนการต่อต้านของฝ่ายยูเครนจะทำให้กองทัพรัสเซียจมปลักอยู่ในสงครามยืดเยื้อเช่นเดียวกับสหภาพโซเวียตเคยประสบมาแล้วในอัฟกานิสถาน แต่คราวนี้ นอกจากกองทัพรัสเซียจะเผชิญกับกองทัพยูเครนในลักษณะสงครามในแบบ หรือ Conventional War แล้วจะเผชิญกับสงครามกองโจร บวก สงครามอสมมาตร (Asymmetric Warfare) ที่ใช้องค์กรประชาชน และ พลเรือนในการช่วยทำการต่อต้านการรุกรานในรูปแบบต่าง ๆ ด้วย

“หากสงครามขยายวงเป็นสงครามในยุโรปผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก แม้จะไม่รุนแรงเท่าการแพร่ระบาดโควิดและล็อกดาวน์เศรษฐกิจเมื่อปี พ.ศ. 2563 แต่น่าจะส่งผลกระทบทางลบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจของบางประเทศ ทิศทางขาขึ้นอัตราดอกเบี้ยโลกชะลอตัวและธนาคารกลางอาจตัดสินใจไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมเพื่อประคับประคองตลาดการเงิน อย่างไรก็ตาม บทบาทของรัสเซียในระบบการค้าโลกและระบบการเงินและการลงทุนโลกยังไม่ได้มีขนาดใหญ่มาก ขนาดเศรษฐกิจและมูลค่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศอยู่ในอันดับที่ 11 ของโลกประมาณ 6.37 ล้านล้านดอลลาร์”

ขณะที่ยูเครนอยู่ในอันดับที่ 56 ประมาณ 0.15 ล้านล้านดอลลาร์ (จัดอันดับโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ) ประเทศยุโรป ตะวันออกอย่างโปแลนด์มีมูลค่าส่งออกไปยุโรปตะวันตกมากกว่ารัสเซีย ประเด็นใหญ่ คือ ปัญหาวิกฤติพลังงานในยุโรปตะวันตก หากรัสเซียเลิกส่งออกพลังงานไปยุโรปเพราะยุโรปตะวันตกต้องพึ่งการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียหนึ่งในสามของอุปสงค์ทั้งระบบ ต้องพึ่งพาน้ำมันประมาณ 25% จากรัสเซียและก๊าซธรรมชาติ 44% จากรัสเซีย ราคาข้าวสาลีและราคาขนมปังจะปรับตัวสูงขึ้นในระยะต่อไป

รศ.อนุสรณ์ กล่าวว่า ผลกระทบจากสงครามต่อเศรษฐกิจไทยในเบื้องต้นยังอยู่ในวงจำกัด แต่ตลาดหุ้นไทยและค่าเงินบาทยังทรุดตัวได้อีก ตลาดสินค้าส่งออกของไทยโดยภาพรวมอาจชะลอตัวยกเว้นสินค้าเกษตรส่งออกจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยรวม ส่วนผลกระทบโดยตรงจากเศรษฐกิจรัสเซียโดยตรงยังมีจำกัดเพราะมูลค่าการค้าระหว่างรัสเซียกับไทยอยู่ในระดับ 1,000-1,200 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 32,000 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น แต่เป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงมาก แต่ในปีนี้คงจะหดตัวแน่นอนและค่าเงินรูเบลก็ดิ่งลงอย่างรุนแรงด้วย ล่าสุดค่าเงินรูเบลดิ่งลงเกือบ 4% เมื่อเทียบกับยูโร และอ่อนค่าลงประมาณ 3.6% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ดัชนีตลาดหุ้นรัสเซียทรุดลงมากกว่า 30% เมื่อเทียบกับจุดสูงสุดเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว และ ทางการรัสเซียได้ประกาศให้หยุดการซื้อขายในทุกตลาดการเงินชั่วคราว

ราคาข้าว (ข้าวสาลีแพงและอาจขาดแคลน) และราคายางพารา (น้ำมันแพง ยางสังเคราะห์แพง) จะปรับตัวในทิศทางดีขึ้น ส่งผลดีต่อภาคเกษตรกรรมระดับหนึ่ง ขณะที่ทองคำยังอยู่ในช่วงแรกของขาขึ้น สัญญาณของการเกิดภาวะ Stagflation เริ่มชัดเจนขึ้น มีความเสี่ยงมากขึ้นที่เศรษฐกิจไทยอาจเผชิญภาวะ Stagflation คือ ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เติบโตต่ำ และเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นมาก สิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่เผชิญอยู่เวลานี้ คือ รายได้ชะลอตัว หนี้สินท่วม ค่าครองชีพสูงขึ้น และทำงานต่ำระดับ มีกำลังการผลิตส่วนเกินเหลืออยู่จำนวนมาก

การใช้นโยบายการเงินและการคลังแบบผ่อนคลายมีความจำเป็นต่อการประคับประคองการฟื้นตัวของการจ้างงานและการกระเตื้องขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ราคาสินค้าอุตสาหกรรมบางส่วนปรับตัวสูงขึ้นจากการขาดแคลนวัตถุดิบ การชะงักงันระบบจัดส่งและค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้นยังดำรงอยู่ ปัญหาบางส่วนเกิดจากการหยุดดำเนินการผลิตของโรงงาน เกิดการการชะงักงันของระบบจัดส่งโลจีสติกส์ ปัญหาการแพร่ระบาดและการติดเชื้อสูงระลอกใหม่น่าจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในโรงงานภาคการผลิตได้ การจัดเตรียมงบประมาณเพื่อเตรียมใช้มาตรการการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจและลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจระยะยาว มาตรการควบคุมเงินเฟ้อและค่าครองชีพ มาตรการสาธารณสุขรับมือกับการระบาดระลอกใหม่ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป โดยงบประมาณค่าใช้จ่ายต่างๆควรมาจากการเก็บภาษีทรัพย์สินมากกว่าการก่อหนี้สาธารณะเพิ่มเติม

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน