สมาพันธ์เกษตรกรฯ จ่อหน้าทำเนียบ กดดัน ครม. อนุมัติงบฯ แก้หนี้ 2 พันล้าน

สมาพันธ์เกษตรกรฯ ร้องรัฐบาลอนุมัติงบกลาง 2,000 ล้านบาท ช่วยเกษตรกรกลุ่มเร่งด่วน ยึดทรัพย์ – ขายทอดตลาดนับพันราย หลังไม่ได้รับการจัดสรรงบฯ นานกว่า 3 ปี อัดรัฐบาลไม่จริงใจ บรรจุวาระชาวนาไว้เป็น ‘วาระจร’

วันนี้ (22 ก.พ. 2565) ตั้งแต่เวลา 09.00 น. สมาพันธ์เกษตรกรแห่งประเทศไทย หรือ สกท. รวมตัวกันบริเวณหน้าโรงเรียนราชวินิต มัธยม ถนนพิษณุโลก เพื่อรอฟังมติคณะรัฐมนตรี ให้อนุมัติงบประมาณ 2,000 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร หลังจากปักหลักชุมนุมอยู่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมาเป็นเวลาหลายสัปดาห์

ยศวัจน์ ชัยวัฒนสิริกุล ที่ปรึกษาสหพันธ์เกษตรกรแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การประชุมในวันนี้ เรื่องของพี่น้องเกษตรกรถูกบรรจุไว้เป็นวาระจร ซึ่งแม้จะมีผลเท่ากับวาระทั่วไป แต่เกียรติไม่เท่ากัน เหมือนพวกเราถูกมองเป็นคนชายขอบปลายทาง และเป็นการตอกย้ำท่าทีของรัฐบาลชุดนี้ ว่าถ้าเราไม่เข้ามา ก็คงไม่สำเร็จ ถ้าเป็นวาระปกติ ยังบ่งบอกถึงความจริงใจในการแก้ปัญหา

เกษตรกร ทำเนียบ ครม.

เขาบอกอีกว่า สำหรับงบประมาณในส่วนนี้ กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ไม่ได้รับการจัดสรรมาถึง 3 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2562 แต่ยังสามารถบริหารอยู่ได้ภายใต้ข้อจำกัด แต่ในปัจจุบันมีพี่น้องเกษตรกรได้รับผลกระทบเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากพิษเศรษฐกิจ และภัยพิบัติ ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ใหม่ ถูกเจ้าหนี้ฟ้องดำเนินคดี และที่น่าเสียใจ คือ เจ้าหนี้ที่ฟ้องร้องกลับเป็นธนาคารของรัฐ แต่กลับขอความเห็นใจได้ยากมากกว่า และกระทำหนักกว่าธนาคารพาณิชย์โดยทั่วไป

“ทัศนคติของรัฐบาลในการมองมาที่ชาวนา คือ เบี้ยวหนี้ โกงหนี้ ไม่คิดใช้คืน ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะเมื่อต้องกู้ เราต้องเอาหลักประกันไปวางไว้ ที่อยู่ ที่นาของเราทั้งผืน ใครจะอยากเป็นหนี้ให้เขามายึดไป ทุกรัฐบาลไม่ใส่ใจชาวนาอย่างจริงจัง ไม่มีชาวนาคนไหนที่อยากจะมาเดินประท้วง และไม่มีคนไหนที่อยากเป็นปรปักษ์กับรัฐบาล”

สำหรับงบประมาณนี้ ได้จัดลำดับความสำคัญไว้ ให้กับเกษตรกรที่มีความจำเป็นเร่งด่วนก่อน คือ การขายทอดตลาด รองลงมา คือ ถูกบังคับคดียึดทรัพย์ และถูกฟ้องดำเนินคดีตามลำดับ งบประมาณนี้จะช่วยรักษาที่ดินทำกินของเกษตรกรเอาไว้ได้ ให้เขามีอาชีพต่อไป และได้รับการฟื้นฟูอาชีพ เพื่อให้มีศักยภาพกลับมาชำระหนี้ของตนเองได้ไหว

อย่างไรก็ตาม ยศวัจน์ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ได้รับการประสานมาจากที่ประชุม ครม. ว่าเรื่องการขอใช้งบกลาง 2,000 ล้านบาท จะมีการอนุมัติโดย ครม. อย่างแน่นอน โดยแจ้งมาว่านายกรัฐมนตรีได้ลงนามไว้แล้ว และรองนายกรัฐมนตรี จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ในฐานะประธานบอร์ดบริหารกองทุนฯ ได้เชิญสำนักงบประมาณเข้ามาชี้แจงข้อมูล คาดว่าจะเข้าสู่ ครม. ได้ในสัปดาห์หน้า แต่กลุ่มผู้ชุมนุมยังยืนยันว่า จะรอเพียงเอกสารยืนยันที่ชัดเจนเท่านั้น จึงจะปักใจเชื่อ

เกษตรกร ทำเนียบ

ขณะที่กลุ่มพัฒนาอาชีพเกษตรกรที่มาร่วมชุมนุมในครั้งนี้อย่าง สมพร วงศ์มณี ที่ต้องเดินทางมาไกลจากจังหวัดตรัง เพราะการช่วยเหลือของรัฐบาลจะเป็นความหวังเดียว เพื่อให้พวกเขาสามารถประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรต่อไปได้ เพราะขณะนี้ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ได้อีกต่อไป หากที่ดิน และที่อยู่อาศัยถูกขายทอดตลาดไป ก็จะไม่มีต้นทุนในการใช้ชีวิตต่อไป ซึ่งการรอคอยในครั้งนี้หากไม่สำเร็จผล ก็ยืนยันที่จะต่อสู้ร่วมกับเพื่อเกษตรกรต่อไป

นอกจากโครงการเพื่อขอใช้งบกลางตามจำนวนดังกล่าวแล้ว ยังมีโครงการหลักที่ชาวนาและเกษตรกรมาเรียกร้องในครั้งนี้ ถึง 3 กลุ่ม ทั้งหน้าธนาคารแห่งประเทศไทย หน้ากระทรวงเกษตรฯ และอาคารสำนักงานองค์การสหประชาชาติ นั่นคือ โครงการช่วยเหลือลูกหนี้ธนาคารของรัฐ 4 แห่ง ที่จะครอบคลุมเกษตรกรที่ควรได้รับการช่วยเหลืออีกจำนวนมาก ที่ยังไม่มีความชัดเจน ว่าจะได้รับการพิจารณาเมื่อใด เพื่อให้หนี้สินของเกษตรกร เข้าสู่การจัดการตามขั้นตอนของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้