เกือบ 1 เดือน #ม็อบชาวนา เรื่องยังไม่เข้า ครม. ผุดแคมเปญผ่าน Change.org

โครงการแก้หนี้สินชาวนายังไม่คืบ ไร้กำหนดเข้า ครม. ‘แกนนำ’ พ้อ อยู่มานานนับเดือน เหมือนเพิ่งเริ่มนับหนึ่งใหม่ ขณะที่กองทุนฟื้นฟูฯ ชี้แจงส่งรายงานประกอบโครงการครบถ้วนแล้ววันนี้ รอเพียงการรับรองจากฝ่ายนโยบาย

นับถอยหลัง อีก 3 วัน จะครบกำหนด 1 เดือน ของการปักหลักชุมนุมของม็อบชาวนา เกษตรกรที่เผชิญกับปัญหาหนี้สิน และเป็นลูกหนี้กับธนาคารของรัฐทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคาร ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคาร SME D Bank เดินทางมาจาก 36 จังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งขณะนี้มีชาวนาปักหลักชุมนุมกัน 3 กลุ่ม ได้แก่ บริเวณสำนักงานองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) หน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน้าธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อเรียกร้องให้ ครม. มีมติเห็นชอบโครงการแก้ปัญหาหนี้สินชาวนา แต่จนถึงตอนนี้เรื่องก็ยังไม่เข้าสู่ที่ประชุม

The Active สอบถามความคืบหน้าไปยัง ชรินทร์ ดวงดารา ที่ปรึกษาเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย หรือ คนท. หนึ่งในกลุ่มชาวนาที่ชุมนุมหน้าสำนักงานยูเอ็น เปิดเผยว่า เท่าที่มีการติดตามข้อมูลพบว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการจัดทำเอกสารชี้แจงโครงการ โดยกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ซึ่งมองว่าการทำงานแบบ ‘ระบบราชการ’ ส่งผลให้เกิดความล่าช้า ตั้งแต่บอร์ดบริหารของกองทุนฟื้นฟูฯ มีมติเห็นชอบไปในเดือนเมษายน 2564 แล้ว กองทุนฟื้นฟูฯ ควรจะมีการเตรียมการ ศึกษา และจัดทำเอกสารให้ครบถ้วน แต่ตอนนี้เหมือนยังอยู่ในขั้นเตรียมเอกสารเท่านั้น

“สรุปว่าตั้งแต่เรามา เพิ่งจะเริ่มนับ 1 ทั้งที่บอร์ดฯ กองทุนฟื้นฟูฯ มีมติตั้งแต่เมษายน 2564 มัวแต่ตามกันไปมา เรื่องทั้งหมดช้าอยู่ที่กองทุนฯ ทั้งที่เป็นหน้าที่ และภารกิจของกองทุนฯ เมื่อมีมติแล้ว ก็ต้องเตรียมทุกอย่างให้พร้อม จนตอนนี้ยังไม่ทำอะไรเลยได้อย่างไร ดีที่เรามา ไม่อย่างนั้นก็ไม่เริ่มนับ เรื่องคงแช่ไว้อยู่อย่างนั้น”

ชรินทร์ ดวงดารา
ม็อบชาวนา

The Active สอบถามเพิ่มเติมไปยัง กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร หรือ กฟก. ในฐานะเจ้าของเรื่อง ที่ต้องเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ว่าเหตุใดจึงไม่สามารถดำเนินการได้ โดย เลขาธิการ กฟก. ได้มอบหมายให้ มนัส วงษ์จันทร์ ผู้อำนวยการสำนักจัดการหนี้สินของเกษตรกร เป็นผู้ชี้แจงรายละเอียด โดยยืนยันว่าในวันนี้ (21 ก.พ. 2565) กฟก. ได้ส่งเอกสารชี้แจงข้อสังเกตของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ครบถ้วนแล้ว และได้ส่งกลับคืนไปยังกระทรวงเกษตรฯ เพื่อให้รัฐมนตรีลงนามรับรอง ก่อนนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม.

โดย มนัส อธิบายเพิ่มเติมว่า เหตุที่ใช้ระยะเวลาดำเนินการจนถึงตอนนี้ ด้วยเหตุว่าตั้งแต่มีมติของบอร์ด กฟก. เห็นชอบโครงการในเดือนเมษายน 2564 ไปแล้วนั้น กฟก. ได้ทำหนังสือขอความเห็นไปยังสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง ทันที เพื่อให้พิจารณาภาระทางการคลังของรัฐที่จะเกิดขึ้น เพราะรัฐบาลต้องรับภาระค่าใช้จ่ายอันเกิดจากหนี้สินของเกษตรกร โดยกำหนดให้ สศค. ส่งความเห็นกลับมาภายใน 30 วัน ปรากฏว่า กฟก. ได้รับความเห็นจาก สศค. ในเดือนตุลาคม 2564

ม็อบชาวนา

จากนั้น กฟก. ได้ดำเนินการตอบข้อสังเกตของ สศค. อย่างครบถ้วนใน 5 ประเด็นสำคัญ และต้องใช้เวลาในการปรึกษา หารือร่วมกับสถาบันการเงินเจ้าหนี้ โดยเฉพาะ ธนาคาร ธ.ก.ส. ที่มีลูกหนี้ส่วนใหญ่กว่า 90% ของโครงการดังกล่าว เพื่อตกลงแนวทางการจัดการหนี้สิน โดยไม่สร้างความเสียหายให้กับเจ้าหนี้ และเร่งรัดการจัดการหนี้ให้เร็วที่สุด

“การแก้ปัญหาหนี้ ไม่ได้อยู่ที่กองทุนฯ ฝ่ายเดียว เราเอากฎหมายไปบังคับหน่วยงานอื่นไม่ได้ จึงต้องไปขอความช่วยเหลือ และหารือกัน ให้ทุกหน่วยงานเข้าใจตรงกัน โดยเฉพาะสถาบันการเงิน เราจึงต้องกำหนดกฎ กติกาให้นำไปสู่การแก้ปัญหาจริง ที่เจ้าหนี้ไม่เสียหายมากนัก และสามารถแก้ปัญหาเกษตรกรได้เร็วที่สุด”

มนัส วงษ์จันทร์

เมื่อดำเนินการจัดทำรายงานชี้แจงให้กับ สศค. รับทราบแล้ว และเห็นว่าคำชี้แจงฟังขึ้น กฟก. ยังต้องส่งรายงานเพื่อให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะที่กำกับดูแล กฟก. ตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งด้วย และกระทรวงเกษตรฯ ก็ได้มีความเห็นเพิ่มเติมกลับมาอีก 3 ข้อ ตามหนังสือลงวันที่ 18 ก.พ. 2565 โดยมีสาระสำคัญ คือ ให้ชี้แจงหลักเกณฑ์ แผน และตัวชี้วัดการบริหารจัดการหนี้ การผ่อนชำระหนี้คืนของลูกหนี้ กฟก. และเรื่องวินัยการก่อหนี้ของลูกหนี้ ทั้ง 3 ข้อ กฟก. ได้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน และครบถ้วนจนได้ส่งคำชี้แจงไปยังกระทรวงเกษตรฯ แล้วในวันนี้ หลังจากนี้จึงเป็นขั้นตอนของฝ่ายนโยบายที่จะพิจารณาต่อไป

นอกจากนั้น กฟก. กับสถาบันเจ้าหนี้ ยังได้ตกลงกันไว้ว่า จะชะลอการฟ้องบังคับคดี ยึดทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์สินของสมาชิก ทุกราย เว้นแต่จะขาดอายุความ

ขณะที่ความเคลื่อนไหวล่าสุด คนท. ได้เปิดแคมเปญรณรงค์ แก้ปัญหา #ม็อบชาวนา เร่งโอนหนี้ชาวนาจากธนาคารมาเป็นของรัฐ ผ่านเว็บไซต์ change.org เพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาหนี้สินชาวนาอย่างเป็นระบบ โดยเร่งรัดให้ ครม. มีมติเห็นชอบโครงการโดยเร็วที่สุด


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้