1 เดือน น้ำมันรั่วระยอง นักสิ่งแวดล้อม ชี้ รัฐต้องเข้มงวดกับเอกชน กันเหตุเกิดซ้ำ

หนึ่งในคณะทำงานน้ำมันรั่วฯ กมธ.ที่ดิน ตั้งข้อสังเกต หน่วยงานรัฐอย่าง ‘กรมเจ้าท่า’ ที่ผ่านมาบังคับใช้มาตรการเข้มงวดหรือไม่ ด้าน กมธ. พลังงาน ลงพื้นที่ระยอง ดูแนวทางเร่งรัดเยียวยาผลกระทบ

วันนี้ (21 ก.พ. 2565) ที่ สำนักงานเทศบาลตำบลบ้านเพ อ.เมือง จ.ระยอง คณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร นำโดย กิตติกร โล่ห์สุนทร ประธาน กมธ. พรัอมคณะ ติดตามรับฟังปัญหาในพื้นที่เทศบาลตำบลเพ เกี่ยวกับมาตรการเยียวยา ซึ่งเทศบาลฯ ได้รวบรวมรายชื่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบไว้แล้ว

จ่าเอก สุทัศน์ แพทยา หัวหน้าสำนักปลัดเทศบาลตำบลบ้านเพ รายงานภาพรวมผลกระทบที่ผ่านมา นอกจากเกิดขึ้นกับกลุ่มประชาชนแล้ว ยังมีผลต่อกลุ่มผู้ประกอบการประมงพื้นบ้านและเรือเล็กอีกหลายกลุ่ม สำหรับภาพรวมที่ผ่านมานับจากการเปิดลงทะเบียน เฉพาะเทศบาลตำบลเพ มีประชาชนลงทะเบียนขอรับมาตรการเยียวยา ที่จะให้บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC รับผิดชอบแล้ว 4,674 คน และยังมีผู้ไม่ได้ยื่นลงทะเบียนอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีอีกเป็นจำนวนมาก เพราะหากเปรียบเทียบกับการยื่นขอเยียวยาที่ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ ระบุว่าขณะนี้มีรวมกว่า 8,400 คน แต่ยังไม่มีความคืบหน้าในมาตรการช่วยเหลือ

ขณะที่นายกิตติกร ระบุว่า กมธ. ต้องการมารับฟังข้อมูลสถานการณ์ว่า จะมีแนวใดที่จะช่วยเร่งรัดได้อีกบ้าง และเห็นว่าเรื่องเยียวยาเป็นมาตรการจำเป็นที่ต้องดำเนินการในขณะนี้

1 เดือน น้ำมันรั่ว นักสิ่งแวดล้อม ชี้ รัฐต้องเข้มงวดกับเอกชน ป้องกันเหตุเกิดซ้ำ

เหตุน้ำมันดิบรั่วที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ 25 มกราคม จนถึงวันนี้ (21 ก.พ.) บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียมฯ ยังไม่สามารถอุดรอยรั่วได้ รวมแล้ว 27 วัน สำหรับแผนที่บริษัทเสนอต่อที่ประชุมร่วมฯ ชุดใหญ่ ที่มี ภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านความปลอดภัยเป็นประธาน ร่วมกับ 10 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มี 3 ขั้นตอน คือ ฉีดน้ำยากันรั่วที่บอลวาล์ว จากนั้นดูดน้ำมันที่เหลือออกจากท่อ รวมถึงเปิดวาล์วปล่อยน้ำดันน้ำมันขึ้นไปแล้วดูดเพิ่ม และพันปิดรอยรั่วทั้ง 2 จุด โดยอุปกรณ์ชนิดพิเศษ และมีวิศวกรของบริษัท เข้าดูแล ควบคุม และรับผิดชอบ โดยบริษัท ได้ทำงานร่วมกับ ผู้เชี่ยวชาญทั้งไทยและต่างประเทศ

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ประเมินว่า แม้หลายฝ่ายกำลังช่วยกันจัดการคราบน้ำมันในทะเลและชายฝั่งได้อย่างรวดเร็ว แต่ยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังหลังจากนี้ ขณะเดียวกัน อาจจำเป็นต้องสร้างกลไก เพื่อให้ระเบียบ หลักเกณฑ์ต่าง ๆ ถูกนำไปปฏิบัติ เพื่อลดความเสี่ยงในอนาคต

สิ่งที่ คณะทำงานแก้ไขปัญหากรณีน้ำมันรั่วไหลจากท่อใต้ทะเลของทุ่นรับน้ำมันดิบกลางทะเล จ.ระยอง ซึ่งเป็นกลไกที่คณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ตั้งขึ้น ให้ความสนใจ นอกจากประเด็นการแก้ไขปัญหาของเอกชน ที่ต้องมั่นใจว่าจะไม่ทำให้น้ำมันดิบที่ยังค้างท่อกลับมารั่วซ้ำ รวมถึงการซ่อมบำรุงทุ่นและท่อส่งน้ำมันใต้ทะเล ได้ทำอย่างสม่ำเสมอตามวงรอบหรือไม่

อีกประเด็นที่น่าสนใจ และอาจสะท้อนถึงการเพิกเฉยต่อหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานภาครัฐกำหนดเอาไว้ คือ ประกาศกรมเจ้าท่า ที่ 134/2564 เรื่อง มาตรการความปลอดภัย การป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำ เนื่องจากน้ำมัน เคมีภัณฑ์ และสารที่เป็นอันตรายประจำท่าเรือ ซึ่งกรมเจ้าท่าระบุไว้ชัดเจน สำหรับท่าเรือที่มีความเสี่ยงสูง ต้องมีอุปกรณ์ เช่น ทุ่นกักครอบน้ำมัน หรือ บูม ที่มีขนาดไม่น้อยกว่า 3 เท่า ของความยาวเรือ เพื่อป้องกันเหตุหากน้ำมันรั่วไหล หรือการมีอุปกรณ์ สกิมเมอร์ เพื่อดูดเก็บคราบน้ำมัน เป็นต้น คำถามที่ตามมาคือที่ผ่านมาบริษัทเอกชน ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขเหล่านี้หรือไม่ และหน่วยงานรัฐอย่างกรมเจ้าท่าเอง ได้บังคับใช้เรื่องนี้อย่างเข้มงวดขนาดไหน

“ประกาศกรมเจ้าท่าระบุไว้ชัดเจนว่า ต้องมีอุปกรณ์ป้องกันความเสี่ยงอะไรบ้าง แต่กรมเจ้าท่าอาจปล่อยปละละเลย เพราะหากมีการเตรียมพร้อมตามที่กำหนด ก็จะสามารถจัดการได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมี”

สมนึก จงมีวศิน

สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการอิสระ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทำงานฯ ชุดดังกล่าว ตั้งข้อสังเกตอีกว่าทุ่นขนถ่ายน้ำมันกลางทะเลที่เกิดเหตุรั่วไหล เป็นไปได้หรือไม่ ที่อาจเป็นทุ่นเดียวกันกับที่เคยเกิดเหตุเมื่อ 9 ปีที่แล้ว เพราะหากพิสูจน์ได้ว่า ใช่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาจจำเป็นต้องดำเนินการเอาผิดอย่างถึงที่สุด เพราะนั่นอาจกำลังสะท้อนว่า ที่ผ่านมาไม่เคยนำบทเรียนมาแก้ไขปัญหาเลย

“ถ้าเป็นท่าเดียวกันกับที่ขึ้นน้ำมันเมื่อ 9 ปีก่อน อันนี้เรื่องใหญ่ แสดงว่าที่ผ่านมาเราไม่เคยทำอะไรให้ดีขึ้นมาเลย รัฐ เอกชน ต้องรับผิดชอบ ด้วยการสั่งปิด ถอนใบอนุญาต แล้วแก้ไขปัญหาจนทุ่นได้มาตรฐานสากล ค่อยมาเปิดใช้งาน”

ด้าน สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ประเมินไว้ว่า 1) เฝ้าระวังความเสี่ยงจะรั่วอีกครั้ง เพราะรอบนี้ จะต้องซ่อมแซมท่ออ่อน หรือ flexible hose ใต้ทะเล การที่บริษัทเข้าไปซ่อมท่ออ่อน จะใช้วิธีการนำอุปกรณ์พิเศษพันท่อกันรั่ว แต่จำเป็นต้องสูบน้ำมันที่ค้างอยู่ในท่อออกประมาณ 12,000 ลิตร ถ้าดำเนินการไม่มีประสิทธิภาพ อาจจะทำให้เกิดน้ำมันรั่วไหลได้อีกรอบ จึงต้องมีมาตรการป้องกันที่ดี และอาจจะเสี่ยงรั่วอีกครั้ง

2) การเยียวยาประชาชนที่เดือดร้อน ที่นักสิ่งแวดล้อมไม่อยากให้ซ้ำรอยปี 2556 ที่ชาวบ้าน ทั้งประมงพื้นบ้าน พ่อค้าแม่ค้า และกลุ่มนักท่องเที่ยว ฟ้องร้องค่าเสียหาย เพราะไม่ได้รับการชดเชย-เยียวยา

3) ร่องรอยการใช้สารเคมี ที่ทำให้คราบน้ำมันแตกตัว และไหลจมลงในทะเล ซึ่งยังคงพบผงสีดำ และก้อนน้ำมันหรือ ​Tarball พัดขึ้นฝั่งหาดแม่รำพึง และหาดแหลมแม่พิมพ์ ทำให้ชายหาดสกปรก จึงต้องเฝ้าระวังชายหาดด้วย

4) กังวลเรื่องการสำรวจผลกระทบ จากละอองน้ำมันจำนวนมากที่ไหลลงทะเลพร้อมสารเคมี ซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล ตัวอ่อน ไข่ของสัตว์น้ำ ​ดังนั้น ครบรอบ 1 เดือนที่ห้ามจับสัตว์น้ำ อาจจะต้องนำสัตว์น้ำตื้นในอ่าวดังกล่าวมาสุ่มตรวจ สารไฮโดรคาร์บอน โลหะหนัก ว่าสามารถกินได้หรือไม่ เกินค่ามาตรฐานหรือไม่

และ 5) เหตุการณ์ครั้งนี้ยังต้องเพิ่มมาตรการกำกับตรวจสอบที่เข็มงวด เพราะเหตุการณ์น้ำมันรั่วทำให้เกิดความไม่มั่นใจของการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่อื่น ขณะที่ระยองเอง ก็ต้องเร่งจัดการปัญหาเก่าให้จบ เพราะการประกาศเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ทับซ้อนในจังหวัดระยอง ทำให้เราเห็นปัญหาใหม่ที่กำลังจะทับซ้อนปัญหามลพิษเดิมในพื้นที่ เพราะที่ผ่านมาระยองก็ยังต้องเจอกับปัญหาผังเมืองไม่ชัดเจน คือไม่รู้ว่าเขตอุตสาหกรรมอยู่ตรงไหน เมื่อเกิดอุบัติภัยจึงยากที่จะสำรวจหรือประเมินผลกระทบในอนาคตได้

“จะพัฒนาได้ต้องเคลียร์ของเก่าให้มลพิษอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานให้ได้ ทำให้เป็น เขตควบคุมมลพิษ ให้ได้ก่อน จึงค่อยรับอุตสาหกรรมใหม่ แต่ถ้าเป็นนโยบายรัฐที่ต้องรับเข้ามา ก็ไม่เป็นไร คำถาม คือ มีมาตรการที่เข้มงวดหรือไม่

ฝากรัฐบาล ต้องดูผังเมือง และให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมเลือกอุตสาหกรรมที่จะมาอยู่ในพื้นที่ และควรมีบัฟเฟอร์โซนแยกอุตสาหกรรม กับชุมชน เพื่อให้อุตสาหกรรม เป็นโครงการพัฒนา ที่มีส่วนร่วมและยั่งยืน”

สำหรับ มาตรา 96 ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 กำหนดไว้ชัดเจนเรื่องของผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย โดยให้หน่วยงานราชการสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย สำหรับเหตุการณ์นี้ยังอยู่ระหว่างกระบวนการตรวจสอบ จึงยังไม่เกิดกรณีฟ้องร้อง ทั้งจากกรมควบคุมมลพิษ หรือกระทรวงคมนาคม ซึ่งยังต้องจับตาแนวทางของหน่วยงานราชการ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active