อุโมงค์ลอดใต้ถนน ทางเลือกเดินเท้าปลอดภัย เลี่ยงอุบัติเหตุ แต่ลงทุนสูง

นักวิชาการชี้ อุโมงค์ทางเดินช่วยลดอุบัติเหตุจากจุดตัดบนถนนได้จริง แต่ใช้งบประมาณสูง ขณะที่สะพานลอยเดินขึ้นลำบาก ทางม้าลายจึงเป็นตัวเลือกที่ดีรองลงมา แต่ต้องทำควบคู่กับการกวดขันวินัยจราจรและวัฒนธรรมความปลอดภัยให้ “รถ” ระวัง “คน” มากขึ้น

จากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับ แพทย์หญิงวราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย ขณะกำลังเดินข้ามทางม้าลายจนเป็นเหตุให้เสียชีวิต เหตุเกิดเมื่อวันที่ 21 ม.ค. 65 นำมาสู่ความพยายามหาทางแก้ไขป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียในลักษณะเดียวกันนี้ในอนาคต

รศ.สมชาย ปฐมศิริ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า การลดจุดตัดบนถนนมีสองรูปแบบ คือลดจุดตัดระหว่างรถกับรถ และจุดตัดระหว่างรถกับคน ในส่วนของรถกับรถ จะใช้วิธีการทำไฟเขียว-ไฟแดง แต่ถ้าเป็นจุดตัดระหว่างคนกับรถ จะมี 3 รูปแบบหลัก คือ สะพานลอย ทางม้าลาย และอุโมงค์ลอดใต้ถนน

“ช่วงหนึ่งจะเห็นสะพานลอยเยอะมาก สิบปีก่อนกรุงเทพฯ เคยเป็นเมืองที่มีสะพานลอยมากที่สุดในโลก แต่ปัจจุบันหาที่สร้างได้ยากแล้ว เพราะบดบังทัศนียภาพ จึงมีโครงการก่อสร้างน้อยลง และหันไปใช้วิธีการทำทางม้าลายให้คนเดินแทน”

ทางม้าลาย เข้าถึงง่ายที่สุด แต่อันตรายมากที่สุด

รศ.สมชาย อธิบายเพิ่มเติมว่า ข้อดีของทางม้าลายมีมากกว่า สะพานลอย หรืออุโมงค์ เนื่องจากเข้าถึงได้ง่าย สะดวก ไม่ต้องขึ้นสะพานลอยที่คนสูงวัยหรือคนพิการอาจเข้าถึงได้ยาก ส่วนการลงอุโมงค์อาจดูน่ากลัวในช่วงเวลากลางคืน แต่อีกด้านหนึ่งทางม้าลายก็เสี่ยงมากที่สุดเช่นกัน เพราะปะทะกับรถได้ง่าย จึงต้องส่งเสริมทางม้าลายให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย เช่น การบังคับใช้กฎหมายอย่างเอาจริงเอาจัง รณรงค์ให้คนเคารพกฎจราจร เห็นความสำคัญของวัฒนธรรมความปลอดภัยบนท้องถนน

“ในทางวิศวกรต้องเลือกทำเลที่เห็นเด่นชัด สังเกตได้ง่าย สีอย่าซีด ต้องดำเนินการซ่อมแซมทาสีใหม่ให้เป็นมาตรฐาน ไม่สร้างทางม้าลายในช่วงตอนกลางของถนน เพราะปกติแล้วพฤติกรรมคนขับรถเมื่อหลุดจากทางแยกหนึ่งก็จะเร่งสปีดขึ้น จนกระทั่งเห็นทางแยกข้างหน้าก็จะชะลอตัว ดังนั้นช่วงกลางถนนจึงจะเป็นช่วงที่รถวิ่งเร็ว และความรุนแรงเยอะ ในแง่การเข้าถึงจึงไม่ค่อยมีทางม้าลายอยู่กลางถนน แต่ละเลี่ยงไปอยู่ทางแยกเพราะความเร็วต่ำกว่า”

นอกจากนี้ รศ.สมชาย ยังยกตัวอย่างของทางม้าลายที่ดี เช่น กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ที่มีการจัดพื้นที่ชุมทางม้าลายให้คนสามารถเดินข้ามสัญจรได้เป็นจุดใหญ่ สะดวกต่อการเดินเท้า และปลอดภัยต่อการเกิดอุบัติเหตุด้วย

อุโมงค์ทางเดินลอดถนน ปลอดภัยที่สุด แต่ใช้งบประมาณสูง

รศ.สมชาย ระบุว่า การทำอุโมงค์ลอดถนนให้คนเดินพบเห็นได้มากในต่างประเทศ แต่ในประเทศไทยคาดว่ามีไม่ถึง 10 แห่ง หากไม่รวมกับอุโมงค์ทางเดินในโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินที่จัดทำขึ้นเพื่อบริการขนส่งมวลชน เนื่องจากการทำอุโมงค์เป็นโครงการใหญ่ที่ต้องพิจารณาในหลายปัจจัยประกอบ

“อุโมงค์ไม่ใช่ขุดกันง่ายๆ เพราะใช้งบประมาณสูง ถ้าใช้งบประมาณในส่วนตรงนี้อาจทำให้งบประมาณที่ใช้ทำอย่างอื่นน้อยลง ผู้บริหารเมืองจึงต้องคิดว่าถ้าจะมีการขุดจะคุ้มค่า เช่น รองรับนักท่องเที่ยวได้ด้วย อย่างอุโมงค์มหาราช หน้าพระบรมมหาราชวัง และการขุดอุโมงค์ยังต้องขุดในพื้นที่กรรมสิทธิ์ ไม่ใช่จะขุดที่ไหนก็ได้ ดังนั้นจึงไม่อาจทำอุโมงค์ได้โดยทั่วไป ทั้งยังต้องมีการดูแลรักษาเฝ้าระวัง โดยเฉพาะในช่วงตอนกลางคือ การเกิดอันตรายและคนไม่กล้าใช้บริการ”

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้