“บันไดเลื่อนไม่มีหลังคาใช้กันทั่วโลก” แต่ต้องมีโครงสร้างทางวิศวกรรมที่เหมาะสมกับการใช้งาน

วิศวกรรมสถานฯ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ข้อมูลสังคม พร้อมชวนสังเกต 3 ปัจจัยของการติดตั้งบันไดเลื่อนนอกอาคาร “โครงสร้างความปลอดภัย ระบบกันน้ำ ระบบการดูแลรักษาที่เหมาะสม และการระบายน้ำออก”

วันนี้ (11 ก.พ. 2565) วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) แถลงข่าว “การใช้บันไดเลื่อนภายนอกอาคาร ที่ไม่มีหลังคาคลุม ปลอดภัยหรือไม่” ณ ห้องประชุม อาคาร วสท. กรณีสังคมตั้งคำถามถึง “บันไดเลื่อนกลางแจ้ง” ที่ติดตั้งบริเวณทางลงไปสู่อุโมงค์ด้านล่าง โครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางเดินลอด ถนนหน้าพระลาน และถนนมหาราช

บุญพงษ์ กิจวัฒนาชัย ประธานสาขาวิศวกรรมเครื่องกล วสท. ให้รายละเอียดว่า บันไดเลื่อนและทางเลื่อนอัตโนมัติ เป็นเครื่องจักรกลที่สามารถใช้งานได้ทั้งภายในและภายนอกอาคาร โดยบันไดเลื่อนทั้งสองแบบจะมีกลไกการทำงานเหมือนกัน แต่จะแตกต่างกันที่สถานที่ติดตั้ง วัสดุ อุปกรณ์ การป้องกันน้ำ และการบำรุงรักษา โดยเฉพาะราคาซึ่งบันไดเลื่อนที่ใช้ภายนอกอาคารจะต้องป้องกันน้ำ ทนต่อสภาพอากาศมากกว่าและต้องการการบำรุงรักษามากกว่าบันไดเลื่อนที่ใช้ภายในอาคารบันไดเลื่อนภายนอกอาคารแบ่งลักษณะการติดตั้งออกเป็น 4 แบบ ดังต่อไปนี้

  1. มีหลังคาและผนังกันฝนข้างบันได รองรับอุณหภูมิอากาศโดยรอบ 2 ถึง 40 องศาเซลเซียส
  2. มีหลังคาแต่ไม่มีผนังกันฝนข้างบันได รองรับอุณหภูมิอากาศโดยรอบ 2 ถึง 40 องศาเซลเซียส
  3. ไม่มีทั้งหลังคาและผนังกันฝนข้างบันได รองรับอุณหภูมิอากาศโดยรอบ 2 ถึง 40 องศาเซลเซียส
  4. ไม่มีทั้งหลังคาและผนังกันฝนข้างบันได รองรับอุณหภูมิอากาศโดยรอบ -10 ถึง 40 องศาเซลเซียส

ความแตกต่างของบันไดเลื่อนภายในอาคารและภายนอกอาคาร แบ่งเป็น 3 เรื่อง ดังต่อไปนี้ 1. ระบบและอุปกรณ์ไฟฟ้าต้องออกแบบและใช้วัสดุป้องกันน้ำ ทดสอบความสมบูรณ์ของฉนวนหุ้มสายไฟ ขั้วต่อสายไฟ และระบบสายดินตามหลักวิศวกรรมไฟฟ้า 2. โครงสร้างบันไดและอุปกรณ์ทางกลต้องออกแบบและเลือกวัสดุให้ทนต่อสภาพอากาศและความชื้น

วัสดุของบันไดเลื่อน เช่น ราวมือจับ ภายนอกอาคารต้องใช้ยางป้องกันน้ำ ชั้นบันได ต้องเป็นอลูมิเนียมหล่อ รางบังคับล้อและมอเตอร์ มีฝาครอบมิดชิด ป้องกันน้ำ ล้อบันไดเลื่อน เป็นพลาสติกแข็ง ขั้วต่อไฟฟ้า เป็นระบบป้องกันน้ำ

และ 3. การป้องกันน้ำและการใช้งานอย่างปลอดภัยของบันไดเลื่อนภายนอกอาคาร ได้แก่ 3.1 ยกระดับบันไดเลื่อนให้สูงกว่าระดับน้ำท่วม 3.2 ที่บ่อบันไดเลื่อนทั้งบนและล่างจะต้องติดตั้งสวิทช์ตรวจระดับน้ำเพื่อหยุดการใช้บันไดเลื่อน หากมีน้ำเกินระดับที่กำหนดเพื่อป้องกันอันตรายจากการใช้งาน 3.3 บ่อบันไดเลื่อนด้านล่างจะต้องมีเครื่องสูบน้ำเพื่อระบายไปยังจุดระบายน้ำทิ้งของอาคาร 3.4 ฝาครอบบันไดเลื่อนทั้งด้านบนและด้านล่างจะต้องใช้เป็นลายกันลื่นและออกแบบให้ระบายน้ำจากรองเท้าและร่มกันฝน 3.5 แผ่นปิดข้างบันได ขอบข้างบันได และทางเข้าราวมือจับของบันไดเลื่อนที่ใช้ภายนอกอาคารปิดมิดชิดเพื่อป้องกันน้ำ 3.6 การตั้งค่าความปลอดภัยระหว่างซี่บันไดเลื่อน ระยะห่างระหว่างขอบบันไดเลื่อนและขั้นบันไดระยะห่างระหว่างบันไดเลื่อนและฝาครอบบันไดเลื่อน จะต้องได้มาตรฐาน 3.7 เปลี่ยนขั้นบันไดเลื่อนที่สึกหรอ 3.8 ตรวจบันไดเลื่อนทุกครั้งก่อนเปิดใช้งาน 3.9 ใช้งานและบำรุงรักษาตามคู่มือผู้ผลิต

สิ่งที่สำคัญในการพิจารณาใช้บันไดเลื่อนภายนอกอาคาร มี 3 เรื่อง คือ ความปลอดภัยด้านไฟฟ้าตามหลักวิศวกรรมไฟฟ้า เช่น ความสมบูรณ์ของฉนวนไฟฟ้า การป้องกันน้ำ และการต่อลงดิน เป็นต้น ลำดับถัดมาเป็นการเลือกวัสดุ อุปกรณ์ ที่ใช้เป็นชิ้นส่วนของเครื่องกล จะต้องทนต่อสภาพอากาศ ป้องกันน้ำ และอายุการใช้งาน และลำดับสุดท้าย คือ การป้องกันน้ำไหลเข้าบันไดเลื่อน เช่น การยกระดับบันไดเลื่อนให้สูงกว่าระดับน้ำท่วมที่บันไดเลื่อนที่ติดตั้ง การระบายน้ำออกกจากบันไดเลื่อน การเลือกแผ่นฝาครอบบันไดเลื่อนแบบกันลื่น น้ำจากรองเท้า และร่มกันฝน

บุญพงษ์ กิจวัฒนาชัย ยังกล่าวเพิมเติมว่า นอกจากนี้การใช้งานบันไดเลื่อนภายนอกอาคาร จะต้องใช้งาน บำรุงรักษา และเปลี่ยนชิ้นส่วนที่สึกหรอตามคำแนะนำของผู้ผลิตอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อการใช้งาน

บันไดเลื่อน

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้