ห่วงเปิดผับถึงตี 4 ช่วงปีใหม่ เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุเพิ่ม

สคอ.-สสส.เร่งรณรงค์ลดเจ็บ-ตายช่วงเทศกาล “ยิ่งดื่มนาน สมองยิ่งเสี่ยง ดื่มไม่ขับ ปีใหม่ 2567” ชี้อุบัติเหตุมากกว่า 50% พบแอลกอฮอล์ในเลือด “หมอประชา” เผยเหล้าส่งผลต่อสมอง จับมือท้องถิ่นตรวจเข้มแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ทุกราย 

วันที่ 19 ธ.ค. 2566 พรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.)  กล่าวว่า เทศกาลปีใหม่นี้ได้วางแผนลงพื้นที่ติดตามกรณีอุบัติเหตุใหญ่ที่เกิดช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยที่น่ากังวล คือ ความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มขึ้น จากการอนุญาตให้เปิดสถานบริการได้ถึงตี 4  ขอให้ผู้เกี่ยวข้องยึดมั่นในเงื่อนไขตามกฎกระทรวงมหาดไทย และนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการห้ามขายคนอายุต่ำกว่า20 ปี – คนเมา ตรวจแอลกอฮอล์คนขับก่อนกลับ หากเกิน 50 mg% จัดที่พักคอยหากไม่รอให้ติดต่อเพื่อนหรือ ญาติพากลับ หรือจัดหารถส่งลูกค้า จะช่วยลดผลกระทบความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนได้

ขณะที่ นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส.  กล่าวว่า เตรียมร่วมกับภาคีเครือข่ายสร้างความปลอดภัยทางถนน พัฒนาเครือข่ายตำบลสุขภาวะรณรงค์ป้องกันปัญหาอุบัติเหตุทางถนนเข้มข้นใน 189 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน 35 อำเภอ 20 จังหวัด เครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับร่วม 100 เครือข่าย ทั่วประเทศ ร่วมรณรงค์ในพื้นที่ หนุนเสริมตรวจแอลกอฮอล์ในผู้ขับขี่ทุกรายที่ประสบอุบัติเหตุ และไม่สนับสนุนการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับเด็กและเยาวชน

5 แนวทางป้องกันอุบัติเหตุ 

วิทยา จันทร์เสนะ ผู้อำนวยการกองบูรณาการความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า สถิติอุบัติทางถนนจากศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) รายงานว่า ปีใหม่ 2566 ตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค. 2564 – 4 ม.ค. 2566 เกิดอุบัติเหตุรวม 2,440 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 317 ราย ผู้บาดเจ็บ 2,437 คน

สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ 

  • ขับเร็ว 37.5%  
  • ดื่มแล้วขับ 25.49% 
  • ตัดหน้ากระชั้นชิด 18.69% 

ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด

  • รถจักรยานยนต์ 82.11% 
  • รถกระบะ 5.56% 
  • รถเก๋ง 3.24% 

ศปถ. ได้มีแนวทางดำเนินการป้องกันลดอุบัติเหตุทางถนน 

  1. กำหนดเป็น “วาระแห่งชาติ” ขับเคลื่อนในพื้นที่อย่างจริงจังต่อเนื่องตลอดทั้งปีโดยใช้แผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2565 – 2570 เป็นกรอบดำเนินงาน 
  2. ระดับพื้นที่ใช้กลไก ศปถ.จังหวัด ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เน้นมาตรการชุมชน มาตรการทางสังคมอาทิ เคาะประตูบ้าน ด่านชุมชน ด่านครอบครัว ป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยง 
  3. จังหวัดร่วมกับตำรวจภูธรจังหวัด บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด จริงจัง และต่อเนื่อง ควบคู่กับการรณรงค์ให้มีความตระหนัก สร้างจิตสำนึก รับผิดชอบต่อสังคม
  4. ทุกภาคส่วนบูรณาการข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน 
  5. เสริมสร้าง ปลูกฝัง สร้างความตระหนักรู้ และจิตสำนึกอย่างจริงจัง เกิดวัฒนธรรมความปลอดภัย

ยิ่งดื่มยิ่งส่งผลต่อสมอง

ด้าน นพ.ประชา กัญญาประสิทธิ์ “หมอประชาผ่าตัดสมอง” ศัลยแพทย์ระบบประสาทและหลอดเลือดสมอง รพ.เชียงใหม่ราม กล่าวว่า 84% ของประชากรทั่วโลกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยการดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้สูญเสียความสามารถการตัดสินใจ ความมีเหตุผล การควบคุมการเคลื่อนไหว  สูญเสียความสามารถการรับรู้ มองเห็น ได้ยิน และความจำ ยิ่งดื่มยิ่งส่งผลต่อสมอง และเสี่ยงอุบัติเหตุสูง 

ทั้งนี้ระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 0.01-0.05% ทำให้เริ่มตื่นตัว 0.03 – 0.12% โดพามีน (Dopamine) เริ่มหลั่งจะรู้สึกสดชื่น มีความมั่นใจ รู้สึก Relax สดใส  0.08 – 0.25% เริ่มกดสมองส่วนต่างๆ เช่น กดสมองส่วนหน้าเกิดการยั้งคิด กดสมองส่วนทรงตัวทำให้ทรงตัวไม่ได้ กดสมองส่วนที่แปลประสาทตาทำให้ตาเบลอ กดสมองส่วนที่ใช้พูดก็จะพูดช้า กดสมองส่วนที่ทำให้ตัดสินใจส่งผลให้ตัดสินใจผิดพลาดได้ง่ายดาย 0.18 – 0.30% สับสน ความจำเริ่มเสื่อมลง มากกว่า 0.25% จะเริ่มซึมเริ่มหลับ มากกว่า 0.35% ก็ทำให้โคม่า  และมากกว่า 0.45%ทำให้เสียชีวิตได้   

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active