กทม.จ่อเตียงเต็ม แม้ สธ.ย้ำนโยบาย HI First

ผู้ติดเชื้อโอมิครอนส่วนใหญ่อาการน้อย แต่เตียงรักษาตัวใน กทม. ใกล้เต็ม เปิดสิทธิรักษาโควิด-19 ฟรี 4 กองทุน หลังปลดจากยูเซฟ เลิกรักษากับเอกชน ยกเว้นอาการหนักฉุกเฉิน

15 ก.พ.2565 กรุงเทพมหานคร พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,180 คน เสียชีวิต 8 คน เป็นจังหวัดที่พบการติดเชื้อสูดสุดอันดับหนึ่ง นอกจากนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-13 ก.พ.2565 พบการระบาดในสถานศึกษาตั้งแต่ระดับเตรียมอนุบาล – มัธยมศึกษาหลายแห่ง โดยพบผู้ติดเชื้อทั้งในกลุ่มครู นักเรียน และกลุ่มนักเรียนที่เก็บตัวฝึกซ้อมในโรงเรียน

ข้อมูลจากการสอบสวนโรคพบว่า สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงในการระบาด ได้แก่การติดเชื้อจากบุคคลในครอบครัว การติดเชื้อของครูผู้สอน การติดเชื้อจากจุดสัมผัสที่ใช้ร่วมกันในห้องน้ำ และการทำกิจกรรมร่วมกันโดยที่ไม่ใส่หน้ากากอนามัย และยังพบการติดเชื้อในแคมป์คนงานก่อสร้าง การติดเชื้อในศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ 

ขณะนี้มีอัตราผู้ป่วยครองเตียง

  • โรงพยาบาลสังกัด กทม. 94.38% 
  • โรงพยาบาลสนาม 83.68% 
  • Hospitel 100% 
  • ศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ 36.28 %

พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระบุว่า ที่ประชุมจึงได้มอบหมายให้ 50 เขตพิจารณาเปิดศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อเพิ่มเติมในกรณีที่ศูนย์พักคอยฯซึ่งเปิดดำเนินการอยู่แล้วมีจำนวนผู้ป่วยครองเตียงมากกว่า 80% และให้เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบช่องทางการติดต่อหากพบว่าตนเองติดเชื้อ โดยสามารถโทรแจ้งได้ที่สายด่วน สปสช.1330 กด 14 และศูนย์ EOC ของ 50 สำนักงานเขต ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

สธ. ร่อนหนังสือย้ำ HI First

หลังจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนพุ่งสูงเกินกว่า 1 หมื่นคนต่อวันต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหลายวัน และยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง รวมถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อที่มีอาการหนัก ทำให้ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุข ต้องเร่งปรับแผนเพื่อเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ทำหนังสือด่วนที่สุด ถึงผู้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล ทั้งในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑลและทั่วประเทศ เพื่อ เตรียมความพร้อมในการรับมือจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น โดยให้ปฏิบัติตามนโยบาย HI-CI-ATK first

หนังสือระบุ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทย ซึ่งมีรายงานผู้ป่วยสะสมเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในกลุ่มต่างๆทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่างๆ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการและจัดสรรทรัพยากรอย่างเหมาะสมในการบริหารจัดการการแพร่ระบาดจากเครือข่ายภาคเอกชนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และให้การดำเนินงานควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพนั้น

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จึงขอความร่วมมือให้ผู้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาลดำเนินการดังต่อไปนี้

  1. ดำเนินการการคัดกรองตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในผู้ที่มีความเสี่ยงให้ใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit หรือ ATK และใช้การตรวจ Real Time RT-PCR เฉพาะในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น
  2. ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในระดับสีเขียว ให้ดำเนินการแยกกักตัวและรักษาที่บ้าน Home Isolation หรือ Community Isolation

ทั้งนี้ จากคาดการณ์ในรูปแบบการจำลอง เชื่อว่าตัวเลขของผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นอาจถึงวันละ 30,000 คน ได้ติดตามข้อมูลเตียง ยา บุคลากรและเวชภัณฑ์ต่างๆกระทรวงสาธารณสุข เชื่อว่าจะสามารถรับมือไหว ที่วันละ 50,000 คน 

รักษาโควิด-19 รพ.ตามสิทธิ 4 กองทุน 

กรณีการเตรียมปลดโรคโควิด-19 ออกจากการรักษาสิทธิฉุกเฉินวิกฤตรักษาทุกที่ (UCEP COVID) มาเป็นการรักษาและเบิกจ่ายตามสิทธิสุขภาพปกติ นพ.ธเรศ กล่าวว่า เนื่องจากโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนมีความรุนแรงน้อยลง คณะอนุกรรมการการรักษาในพื้นที่ กทม. รวมถึงศูนย์ปฏิบัติฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข มีความเห็นตรงกันว่าควรปรับให้มีการรักษาโรคโควิด 19 ตามสิทธิการรักษาซึ่งคนไทยทุกคนมีอยู่เดิม ทั้งหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง สวัสดิการข้าราชการ และประกันสังคม

การประชุมกองทุนสุขภาพทั้ง 4 กองทุน คือ กรมบัญชีกลาง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานประกันสังคม (สปส.) และกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ เบื้องต้น 

  • สวัสดิการข้าราชการ เข้ารักษาโรงพยาบาลรัฐได้ทุกแห่งทั่วประเทศ
  • บัตรทอง เข้ารักษาสถานพยาบาลเครือข่ายบัตรทองทุกแห่งตามนโยบายบัตรทองรักษาทุกที่
  • ประกันสังคม ให้รักษาในเครือข่ายโรงพยาบาลประกันสังคมได้เช่นกัน
  • บัตรประกันสุขภาพต่างด้าว ให้รักษาในโรงพยาบาลตามสิทธิที่ขึ้นทะเบียน
  • ผู้ที่มีปัญหาไร้สิทธิและสถานะ ได้เตรียมโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขกทม. และโรงพยาบาลรัฐทุกแห่งไว้รองรับ

นพ.ธเรศ กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังสามารถเข้าระบบ HI ได้ตามปกติ ซึ่งทุกกองทุนสุขภาพจะทำระบบ HI รองรับ โดยบัตรทอง ติดต่อผ่านสายด่วน 1330, ประกันสังคม สายด่วน 1506, สิทธิสวัสดิการข้าราชการ โทร 02-2706400 และสิทธิประกันต่างด้าว โทร 02-5901578 

ทั้งนี้ ยืนยันว่าการปรับโควิด-19 มาสู่การรักษาตามสิทธิ ไม่กระทบในช่วงนี้ที่มีการติดเชื้อสูงขึ้น เนื่องจากเป็นการกระจายผู้ป่วยไปตามจุดต่าง ๆ ที่ขึ้นทะเบียนตามสิทธิ และหากผู้ติดเชื้อโควิดมีอาการเข้าข่ายฉุกเฉินวิกฤต ยังเข้ารักษาทุกที่ได้ตามแนวทางของสิทธิ UCEP โดยจะมีการเพิ่มเติมรายการที่ยังไม่ครอบคลุมเช่น ชุด PPE ชุดป้องกันโรค เครื่องช่วยหายใจบางชนิด เพื่อให้โรงพยาบาลเบิกจ่ายได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS