บ.ประกันฯ ชี้รักษาแบบผู้ป่วยนอก (OPD) เคลมประกันโควิด-19 ไม่ได้

ระบุหากผู้ป่วยมีแผนประกันสุขภาพตามปกติ ก็ครอบคลุมการรักษาแบบ OPD เช่นเดียวกับโรคทั่วไป ด้าน“คปภ.”ยันรักษา HI ถือเป็นผู้ป่วยในเคลมประกันได้เฉพาะกรณีจำเป็น ขณะที่“สปสช.”ย้ำรักษาตามสิทธิ 3 กองทุนสุขภาพฟรี ส่วน“กทม.”เปิดแอปรักษาโควิดทางไกล แก้ระบบสาธารณสุขล้น 

4 มี.ค.2565 ตัวเลขติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่อยู่ที่ 23,834 คน และมีผลตรวจเข้าข่ายจาก ATK อีก 31,571 คน รวม ๆ ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตทำสถิตินิวไฮ 54 คน โดยกรุงเทพมหานครยังเป็นพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในประเทศ 

ขณะที่สายที่โทรเข้ามาที่สายด่วน สปสช. 1330 ยังมีปริมาณมาก ทั้งในระบบสายด่วน และระบบ Non Voice (ไลน์และเฟซบุ๊ก สปสช.) แต่ละวันยังคงอยู่ที่ระดับ 60,000-70,000 สาย เพราะทำหน้าที่ทั้งลงทะเบียนเข้าระบบ HI และช่วยคัดกรองเข้าระบบ เจอ แจก จบ  แต่เจ้าหน้าที่รับสายได้เพียงบางส่วน ยังต้องรอการติดต่อกลับ 

ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่กว่า 90% ไม่มีอาการ หรือ อาการเล็กน้อย จึงถูกจัดเข้าสู่ระบบการรักษาทั้ง HI CI และ OPD ผู้ป่วยนอก แบบ “เจอ แจก จบ” แต่ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อวันละหลายหมื่นคน โดยเฉพาะ กทม. ซึ่งพบผู้ติดเชื้อสูงที่สุดในประเทศ ทำให้บุคคลากรในระบบสาธารณสุขไม่เพียงพอรองรับจำนวนผู้ติดเชื้อในขณะนี้ 

เปิดวอล์กอิน รพ. 14 จังหวัดแก้ระบบสาธารณสุข กทม.ล่ม 

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข สั่งการให้โรงพยาบาลในสังกัด 14 จังหวัดรอบ กทม.เข้ามาช่วยบรรเทาปัญหาอย่าง นนทบุรี,ปทุมธานี,พระนครศรีอยุธยา, นครนายก, สิงห์บุรี, นครปฐม, สมุทรสงคราม, สุพรรณบุรี, สมุทรปราการ, ชลบุรี,ฉะเชิงเทรา,รวมถึง โรงพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิตและสังกัดกรมควบคุมโรค โดยผู้ติดเชื้อสามารถ “วอร์กอิน” เข้าไปได้ทันที เมื่อพบผลตรวจ ATK เป็นบวก หวังเพิ่มศักยภาพให้การดูแลผู้ป่วยนอกแบบ เจอ แจก จบ เพิ่มขึ้น เริ่มตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป คาดว่าจะรองรับได้อีก18,650 คนต่อวัน

การวอล์กอินเข้าไปที่โรงพยาบาลเหล่านี้ แพทย์ขอให้สวมหน้ากากอนามัย 2 ชั้นและปฏิบัติตัวตามมาตราการป้องกันโรค ซึ่งเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวจะดีที่สุด เมื่อไปถึงคลินิกโรคทางเดินหายใจของโรงพยาบาล จะได้พบแพทย์เพื่อประเมินอาการและความเสี่ยง ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นกลุ่มสีเขียว คือ ไม่มีอาการหรืออาการน้อยมาก แพทย์จะพิจารณาจ่ายยา ซึ่งอาจเป็นฟ้าทะลายโจร ยาฟาวิพิราเวียร์

“ผู้ป่วยนอก”เคลมประกันโควิด-19 ไม่ได้ 

แต่อีกคำถามที่ตามมาคือการรักษาแบบ “ผู้ป่วยนอก” หรือ OPD จะสามารถเคลมประกันได้หรือไม่ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า ได้พูดคุยกับ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือคปภ.สัปดาห์ที่ผ่านมา หลักๆต้องดูว่าประกันของผู้ป่วยครอบคลุมกรณีเป็นผู้ป่วยนอกหรือไม่ หากไม่ครอบคลุมก็ให้เข้าสู่ระบบ HI เพราะ HI มีการประกาศเป็นทางการว่าเป็น “ผู้ป่วยใน” สามารถประเมินเป็นรายๆ ได้ 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 มี.ค.2565 คปภ.มีข้อสรุปแนวปฏิบัติเคลมประกันทั้งค่ารักษาพยาบาล และหรือ ชดเชยรายวัน กรณีผู้ป่วยในระบบ คือโรงพยาบาล สถานพยาบาล Hospitel และโรงพยาบาลสนามให้จ่ายทุกกรณี แต่กรณี HI และ CI มีข้อสรุปเบื้องต้นให้อนุโลมจ่ายในกรณีจำเป็นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้เอาประกันโดยจะมีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง 

The Active ลองโทรศัพท์ไปสอบถามข้อมูลจากคอลเซ็นเตอร์ของบริษัทประกันภัยหลายแห่งได้รับการยืนยันว่า หากรับการรักษาโควิด-19 แบบ “ผู้ป่วยนอก” จะอยู่นอกเงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันโควิด-19 แต่หากผู้ป่วยมีแผนประกันสุขภาพตามปกติ ก็ครอบคลุมเช่นกัน 

ข้อมูลจากเว็บไซต์บริษัทประกันแห่งหนึ่ง ระบุว่า กรมธรรม์ประกันโควิด-19 จะให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล “ผู้ป่วยใน” ที่รักษาตัวในโรงพยาบาลตามเงื่อนไขความจำเป็นทางการแพทย์โดยต้องมีอาการ 1 ใน 5 ข้อนี้ ตามมาตรฐานการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข

  • มีไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส นานกว่า 24 ชั่วโมง
  • หายใจเร็วกว่า 25 ครั้งต่อนาที (สำหรับผู้ใหญ่)
  • ค่าออกซิเจนในเลือดน้อยกว่า 94%
  • โรคประจำตัวมีการเปลี่ยนแปลง หรือจำเป็นต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิดตามดุลยพินิจของแพทย์
  • มีอาการหายใจลําบาก ซึมลง ดื่มนม หรือทานอาหารน้อยลง (สำหรับเด็ก)

สปสช. ย้ำ 3 กองทุนรักษาฟรี เปิด ‘ฟาสต์ แทร็ค‘ กลุ่มเสี่ยง 608

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า หลังจากกระทรวงสาธารณสุขปรับแนวทางการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 รูปแบบใหม่ คือ ให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอกได้ในส่วนของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบการรักษาที่บ้านกับสายด่วน 1330 รวมถึงช่องทางไลน์และเว็บไซต์ สปสช. หากยังไม่ได้รับการติดต่อกลับจากหน่วยบริการภายใน 6 ชั่วโมง ขอให้ดูแลตัวเองเบื้องต้นไปตามอาการ หากมีไข้หรือไอ กินยาลดไข้ ยาแก้ไอ 

หากไปโรงพยาบาล แนะนำให้โทร.นัดหมายก่อน เพื่อเข้าระบบการรักษาแบบผู้ป่วยนอก เจอแจก จบ ได้ และกลับมากักตัวที่บ้านอีก 7-10 วัน ตามที่แพทย์แนะนำ โดยแต่ละกองทุนสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น สปสช. สำนักงานประกันสังคม และกรมบัญชีกลางจะตามจ่ายให้กับผู้ป่วยตามสิทธิการรักษาที่มี

  • สิทธิบัตรทอง 30 บาท (สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ไปได้ที่หน่วยปฐมภูมิทุกที่ ไม่ใช้ใบส่งตัว หน่วยบริการปฐมภูมิ เช่น สถานีอนามัย, รพ.สต., หน่วยบริการปฐมภูมิของโรงพยาบาล, ศูนย์สุขภาพชุมชน ศูนย์บริการสาธารณสุข รวมถึง คลินิกชุมชนอบอุ่นเป็นต้น
  • สิทธิประกันสังคม เข้ารับบริการ รพ.ตามสิทธิที่ลงทะเบียนหรือสถานพยาบาลใกล้บ้านได้ เช่น ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม., รพ.สต. ฯลฯ 
  • สิทธิข้าราชการ ไป รพ.หรือสถานพยาบาลภาครัฐ 

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า ในส่วนของผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ หรือประชาชนที่ตรวจ ATK 2 ครั้งแล้วขึ้น 2 ขีด นั้น หากท่านเป็นกลุ่มเสี่ยง 608 คือ ได้แก่ 

  1. กลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป 
  2. กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 โรค คือ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคไตวายเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคอ้วน, โรคมะเร็งและโรคเบาหวาน และ 
  3. กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป 

กลุ่มนี้ให้โทร.มาที่ สายด่วน 1330 กด 14 เพื่อประเมินอาการเบื้องต้นและเข้ารักษาตามระบบต่อไป เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยง

แต่หากไม่ใช่กลุ่ม 608 และไม่มีอาการ-อาการเล็กน้อย รักษาตามอาการและกักตัวอยู่ที่บ้านได้ ไม่จำเป็นต้องแจ้งภาครัฐหรือ โทร.1330 ทุกราย เนื่องจากรักษาตามอาการได้ตามแนวทางใหม่ของกระทรวงสาธารณสุขเช่นกัน 

แต่หากต้องการรักษาตามแนวทางเจอ แจก จบ ของกระทรวงสาธารณสุขสามารถไปสถานพยาบาลตามสิทธิ-ใกล้บ้านได้เช่นกัน แนะนำโทร.นัดหมายก่อน หรือยืนยันต้องการลงทะเบียนรักษาที่บ้าน (Home Isolation) ลงทะเบียนที่https://crmsup.nhso.go.th/#TicketHI หรือไลน์ สปสช. โดยเพิ่มเพื่อน พิมพ์@nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 ได้เช่นกัน 

“อัศวิน” เปิดแอป “หมอ กทม.” รองรับผู้ติดเชื้อเพิ่ม 

จำนวนผู้ติดเชื้อในกรุงเทพมหานครที่ล้นระบบสาธารณสุข วันนี้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดตัวแอป “หมอ กทม.” เพิ่มความสะดวกในการรับบริการในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร ทั้ง 11 แห่งสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันได้แล้วตั้งแต่วันนี้ กำลังเร่งเปิดให้บริการต่างๆ ในแอปพลิเคชันเพิ่มเติมให้ครบและครอบคลุมโรงพยาบาลทั้ง 11 แห่งภายในสิ้นเดือน มี.ค. นี้ หรืออย่างช้าไม่เกินต้นเดือน เม.ย. 65 

แอปพลิเคชัน “หมอ กทม.” ในโครงการ Smart OPD เป็นช่องทางในการเชื่อมโยงข้อมูลด้านสุขภาพและเป็นการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์และการรักษาพยาบาลได้อย่างสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

ผู้ป่วยสามารถใช้บริการด้วยตนเองผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะช่วยลดความแออัด ลดระยะเวลาการเข้ารับบริการ และระยะเวลารอคอย อีกทั้งยังสามารถแจ้งเหตุกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินที่สามารถแสดงพิกัดจุดเกิดเหตุได้อย่างรวดเร็วตลอดจนให้คำแนะนำและส่งเสริมความรู้ด้านสุขภาพผ่านสื่อในรูปแบบต่างๆโดยความสามารถของแอปพลิเคชัน “หมอ กทม.” ประกอบด้วย 

  1. ตรวจรักษาออนไลน์ ด้วยระบบโทรเวชกรรม (Tele-medicine) สามารถตรวจรักษา ติดตามอาการตลอดจนได้รับคำแนะนำในการใช้ยาจากแพทย์ผ่านระบบวิดีโอคอล (VDO Call) โดยไม่ต้องมาโรงพยาบาล ผู้ใช้บริการสามารถรับยาผ่านไปรษณีย์ หรือรับด้วยตนเองที่ร้านยาใกล้บ้าน 
  2. แจ้งเหตุฉุกเฉินกับศูนย์เอราวัณ รับการช่วยเหลือเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง โดยระบบจะประสานงานไปยังหน่วยงานที่อยู่ใกล้เคียงพิกัดของผู้ใช้งาน ณ ขณะแจ้งเหตุผ่าน แอปพลิเคชัน เพื่อส่งทีมปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินเข้าไปให้การช่วยเหลือ ดูแลรักษา และนำส่งผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินนั้นไปยังสถานพยาบาลที่เหมาะสมต่อไป 
  3. ตรวจสอบประวัติการรักษา เชื่อมโยงข้อมูลด้านสุขภาพส่วนบุคคลกับระบบระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล (Personal Health Record : PHR) ทั้งผลวินิจฉัยโรค ประวัติการแพ้ยา/วัคซีน ประวัติรับยา ผลแลป การผ่าตัด ทำให้ผู้ใช้บริการสามารถรับบริการจากสถานพยาบาลอื่นได้อย่างสะดวก โดยสามารถเรียกดูข้อมูลการรักษาได้เองโดยไม่ต้องมาโรงพยาบาล ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ก็ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนประกอบการรักษา 
  4. บริการทั่วไป เช่น นัดหมายแพทย์ล่วงหน้า ตรวจสอบจำนวนคิวรอตรวจ การชำระเงิน ตรวจสอบสิทธิ์รักษา ลงทะเบียนตรวจรักษา ฯลฯ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS