เชื่อคืนความยุติธรรมให้ชาวบ้านบางกลอย ใบเบิกทางไปสู่การแก้ปัญหาเรื่องอื่น ๆ ขณะที่นัดแรกประชุมคณะกรรมการอิสระฯ แค่กำหนดกรอบทำงาน ยังไร้แนวทางแก้ปัญหา ที่ทำกิน ความยากลำบากการใช้ชีวิต
วานนี้ (8 ก.พ.65) คณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย หมู่ที่ 1 ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี นัดประชุมครั้งแรก ภายหลังจากสัปดาห์ก่อน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามแต่งตั้ง ซึ่งเป็นไปตามข้อเรียกร้องของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) โดยมี อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน บอกว่า เป็นเรื่องดีที่มีคณะกรรมการอิสระฯ กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นเอกภาพ มีแนวคิดเรื่องประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ และเกิดประโยชน์ต่อประชาชน จึงถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่จะแก้ปัญหาบางเรื่องที่คาราคาซังและเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ
“เจตนาของผมคือทำอย่างไร ที่จะแก้ปัญหาที่คาราคาซังยืดเยื้อให้สำเร็จลงได้ด้วยพวกเรา จะหนึ่งเดือน ครึ่งเดือน 2 เดือน ถ้าเราสามารถทำให้สำเร็จได้ก็จะเป็นแบบอย่างของประเทศที่จะแก้ไขปัญหาที่เรื้อรังได้ ผมมีเจตนาจริงใจให้เป็นแบบอย่างการแก้ไขปัญหาที่แท้จริง ไม่ใช่นำปัญหาขึ้นมาคุยเป็นวันๆ ต่อแล้วต่ออีก ปัญหาเกิดขึ้นชั่วลูกหลานก็ไม่สามารถแก้ไขได้ ผมอยากเห็นว่าพวกเราที่มาร่วมประชุม ณ ที่นี้ จะเป็นตัวอย่างในการแก้ไขปัญหาที่แท้จริงของประเทศ แล้วสามารถทำให้ทุกอย่างบรรลุตามวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนได้“
ส่วนการประชุมที่เกิดขึ้นนั้น ได้หารือ กรอบการแก้ไขปัญหา เช่น คดีความของชาวบ้านบางกลอย รวม 29 คน, ปัญหาถิ่นที่อยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์, ปัญหาความเดือดร้อนที่ชาวบางกลอยกำลังเผชิญ ทั้งการอยู่อาศัยในภาวะที่กำลังประสบกับความยากลำบาก, การขาดสารอาหาร และความเดือดร้อนอีกหลายด้าน ซึ่งทางคณะกรรมการอิสระฯ ก็ได้กำหนดกรอบการทำงาน เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง โดยให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นตัวชี้นำ เพื่อให้สังคมได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
“เร่งด่วนเราจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ไปช่วยในการที่จะดูแลพี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหาเรื่องของ การอยู่อาศัย สุขภาพและเรื่องสารอาหารต่างๆที่จำเป็นที่จะต้องได้รับ“
ส่วนคดีความของชาวบ้านบางกลอย 29 คนนั้น ประธานคณะกรรมการอิสระฯ บอกว่า ยังไม่ได้คุยกันถึงขั้นว่าจะชะลอ หรือ ไม่ชะลอคดี แต่ได้นำประเด็นปัญหาที่เกิดเป็นคดีคความ ปรึกษาหารือกันกับผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม เพื่อหาบทสรุป
นักกฎหมาย แนะแนวทางชะลอคดี “ชาวบ้านบางกลอย”
ด้าน สมชาย หอมลออ อดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมาย หนึ่งในกรรมการอิสระฯ แก้ไขปัญหาบางกลอย แสดงความเห็นส่วนตัว โดยมองว่า ถ้ารัฐบาลสามารถยุติการดำเนินคดีชาวบ้าน 29 คนได้ จะถือเป็นนิมิตรหมายที่ดี ของการแก้ปัญหาให้กับชาวบางกลอย เพราะตอนนี้ชาวบ้านถูกดำเนินคดีหลายข้อหา โดยเฉพาะข้อหาบุกรุก แพ้วถางป่า อุทยานฯ แก่งกระจาน ซึ่งคดีอยู่ในชั้นพิจารณาของพนักงานอัยการ
แต่โดยหลักแล้ว ในแง่ของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย ทั้งจากหลักฐานต่าง ๆ และ สิ่งที่พวกเขาก็ยืนยัน ในความเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ใจแผ่นดิน – บางกลอยบน มาเป็นเวลานับร้อยปี ก่อนประกาศเขตอุทยานฯ แต่สุดท้ายพวกเขาถูกบังคับให้อพยพโยกย้ายออกมาจากพื้นที่ เมื่อพยายามขอกลับไปใช้ชีวิตตามวิถีดั้งเดิม ก็ติดขัด เจ้าหน้าที่ไม่ยินยอม จนถูกดำเนินคดี แต่ถ้ามองในมุมการสร้างความเป็นธรรมทางกฎหมาย เพื่อความสงบสุขของประชาชน ก็ถือว่าเรื่องนี้ยังพอมีทางออก
“ผมยกตัวอย่างในกรณีนี้ ทางพนักงานอัยการ โดยคำสั่งของอัยการสูงสุด ก็สามารถจะใช้บทบัญญัติในพ.ร.บ.องค์กรอัยการ ตามมาตรา 21 วรรค 3 ที่อัยการสูงสุด สามารถที่จะสั่งไม่ฟ้อง ชาวบ้านทั้ง 29 คนได้ อันนี้จะถือว่า นอกจากจะเป็นการดำเนินการเพื่อให้เกิดมนุษยธรรมกับคนเหล่านี้แล้ว จะทำให้เป็นช่องทางในการที่จะเกิดความสมานฉันท์ ในการที่จะทำให้คนเหล่านี้สามาถที่จะอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข ดังนั้นจึงเป็นประเด็นแรก ที่ตนก็มีความเชื่อมั่นว่า ทางคณะกรรมการนี้จะพยายามหาทางออกให้กับชุมชนในส่วนนี้“
สำหรับวาระการประชุมเพื่อพิจารณาเกี่ยวกับกรอบการทำงาน คณะกรรมการอิสระฯ ยังมีมติรับรองการรายงานโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ให้ชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย เป็นชุมชนกะเหรี่ยงดั้งเดิม ตามหลักฐานเอกสารทางราชการ และหลักฐานเชิงกายภาพ ตลอดจนขอบเขตการทำงานแก้ไขปัญหาที่ไม่ได้หมายถึงเพียงชุมชนบ้านบางกลอยล่างในพื้นที่อพยพ แต่รวมถึงพื้นที่บางกลอยบน และใจแผ่นดิน อันเป็นถิ่นฐานดั้งเดิมด้วย