#ม็อบชาวนา เคลื่อนขบวนใหญ่ครั้งแรกไปกองทุนฟื้นฟูฯ เร่งรัดเปลี่ยนสัญญา ยกดอกและเบี้ยปรับ

ชาวนานับร้อยเดินเท้า 10 กิโลเมตรมุ่งหน้ากองทุนฟื้นฟูฯ ขอให้เปลี่ยนสัญญาใหม่ เพื่อยกดอกเบี้ยและค่าปรับ พร้อมทำแผนฟื้นฟูอาชีพตามระเบียบฯ ‘เลขากองทุนฯ’ ยืนยัน พร้อมเดินหน้าจัดทำแผนภายใน 3 เดือน

วันนี้ (8 ก.พ. 2564) เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย หรือ คนท. และตัวแทนชาวนาจากทั่วประเทศ รวมตัวเดินเท้าไปยังสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เพื่อเร่งรัดการจัดทำแผนฟื้นฟูอาชีพ และให้กองทุนฯ เปลี่ยนแปลงสัญญาของเกษตรกรสมาชิกให้เป็นปัจจุบัน ตามระเบียบฯ ที่ออกมาเมื่อเดือนมกราคม 2564 ให้ยกเว้นดอกเบี้ยและค่าปรับ กรณีผิดนัดชำระหนี้ให้แก่ชาวนา แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง รวมถึงเร่งรัดให้มีการจัดทำแผนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เพื่อประกอบการปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันเจ้าหนี้ และเป็นแนวทางการแก้หนี้อย่างเป็นระบบ

ชาวนา

กลุ่มชาวนาเริ่มตั้งขบวน บริเวณหน้ากระทรวงการคลัง ตั้งแต่เวลา 9.30 น. ใช้เส้นทางถนนพระรามที่ 6 เดินผ่านองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ผ่านสถานีขนส่งหมอชิต เพื่อเข้าสู่ถนนวิภาวดี – รังสิต มุ่งหน้าสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ที่อยู่บริเวณวัดเสมียนนารี ถนนกำแพงเพชร 6 รวมระยะทางกว่า 10 กิโลเมตร ถือเป็นการเคลื่อนขบวนครั้งแรก หลังปักหลักค้างคืนนานกว่า 2 สัปดาห์

ปิ่นแก้ว สุกแก้วแท้ ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ กล่าวว่า เวลาผ่านมานานเป็นปีแล้ว แต่ชาวนายังไม่เห็นความชัดเจนของแผนฟื้นฟูฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ให้ชาวนามีความสามารถในการชำระหนี้เพิ่มได้ และต้องทำควบคู่กันเพื่อให้หนี้ของชาวนาได้รับการดูแลตามระเบียบที่กำหนด

ม็อบชาวนา

แต่อย่างไรก็ตาม ปิ่นแก้ว กล่าวว่า เป้าหมายสูงสุด ในการชุมนุมครั้งนี้ คือ การเสนอโครงการช่วยเหลือหนี้สินเกษตรกร เข้าสู่การประชุม ครม. ให้มีมติเห็นชอบโครงการ เพราะเกษตรกรรอมานานเกือบ 2 ปีแล้ว แต่เรื่องจากกองทุนฯ ยังไม่เสนอเข้า ครม. และยืนยันว่าชาวนาจะไม่กลับบ้าน หากยังไม่มีความชัดเจน

กลุ่มชาวนาเดินทางมายังสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ในเวลา 13.00 น. โดยประมาณ ซึ่งการเดินทางเป็นไปด้วยความลำบาก เนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ อีกทั้งไม่ได้เตรียมน้ำดื่มและอุปกรณ์ไว้เพียงพอ ทำให้ชาวนาหลายคนเกิดอาการหน้ามืด เป็นลมระหว่างทางด้วย

ม็อบชาวนา

เมื่อมาถึง เจ้าหน้าที่สำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ เปิดพื้นที่ห้องประชุม ชั้น 3 รองรับ โดยผู้ประสานงานกำหนดตัวแทนแต่ละจังหวัดเข้าร่วมประชุม พร้อมกับผู้บริหารสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ ที่มาให้คำชี้แจงต่อชาวนา นำโดย สไกร พิมพ์บึง เลขาธิการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ยืนยันว่า กองทุนฯ ไม่เคยนิ่งนอนใจต่อการดำเนินการดังกล่าว ได้สั่งการให้สำนักจัดการหนี้เกษตรกร และสำนักฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งจากการประชุมร่วมกันกำหนดกระบวนการสะสางทะเบียนองค์กร โดยเริ่มต้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมทั้งกำหนดระยะเวลาจัดทำแผนสนับสนุนการฟื้นฟูเกษตรกรกับสมาชิกและองค์กร ให้แล้วเสร็จใน 3 เดือน โดยต้องสรุปผลการปฏิบัติงานเป็นระยะๆ ทุก 1-2 สัปดาห์

เกษตรกร ชาวนา

ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่ยังไม่ได้ข้อสรุป คือ การเสนอเรื่องเข้าสู่ ครม. ว่าจะดำเนินการได้ในวันใด ซึ่งที่ประชุมคณะทำงานฯ ที่ประชุมร่วมกับปลัดกระทรวงเกษตรฯ แจ้งว่าต้องรอปรับถ้อยคำสำนวนให้ถูกต้องครบถ้วนก่อนเสนอ รวมถึงรับฟังความเห็น โดยเฉพาะ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ที่ว่าอาจกระทบต่อวินัยการเงินการคลัง


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้