คืบหน้า #ม็อบชาวนา คาดเข้า ครม. สัปดาห์หน้าหวังช่วยชาวนาได้ 3 แสนราย

ที่ประชุมคณะทำงาน ‘กองทุนฟื้นฟูฯ’ ถกแก้ไขรายละเอียดก่อนส่งเข้า ครม. สัปดาห์หน้า เปิดตัวเลขชาวนาเสี่ยงถูกยึดทรัพย์-บังคับคดี กว่า 5 หมื่นราย ‘เกษตรกร’ หวัง นายกฯ เข้าใจปัญหาที่เผชิญ หากมีมติจะช่วยแก้หนี้ได้มากกว่า 3 แสนราย

The Active ติดตามการชุมนุมของเกษตรกรจาก 36 จังหวัดทั่วประเทศ ที่เดินทางเข้ามาเรียกร้องหน้ากระทรวงการคลัง และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2565 ที่ผ่านมา สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการประชุมหารือโครงการแก้ไขหนี้สินเกษตรกร สมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ก่อนนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ให้มีมติเห็นชอบโครงการดังกล่าว เพื่อจัดการหนี้สินตามขั้นตอนของกองทุนฟื้นฟูฯ

วันนี้ (7 ก.พ. 2565) ชรินทร์ ดวงดารา ที่ปรึกษาเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย หรือ คนท. เปิดเผยกับ The Active ว่า การประชุมครั้งที่ผ่านมา มีผลเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากคณะทำงานเห็นชอบในหลักการ เพียงแต่ต้องมีการปรับแก้ถ้อยคำสำนวนบางประการ ให้มีความชัดเจน และครอบคลุม เพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม. โดยหากไม่มีอะไรผิดพลาดคาดว่าน่าจะเป็นการประชุมสัปดาห์หน้า ซึ่งเกษตรกรจะยังคงปักหลักเพื่อรอคอยความชัดเจนจากมติดังกล่าว

ชรินทร์ กล่าวอีกว่า หลังมีมติ ครม. ออกมาเมื่อเดือนเมษายน 2563 เรื่องดำเนินไปค่อนข้างล่าช้า ซึ่งเจ้าภาพอย่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นประธานบอร์ดของกองทุนฟื้นฟูฯ ดูเหมือนจะไม่ได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องดังกล่าว การประชุมต้องมีการปรึกษากับกระทรวงการคลังว่าการใช้งบประมาณจะดำเนินการอย่างไร แต่เรื่องมาค้างอยู่ที่กระทรวงการคลัง ยังไม่ได้ให้ความเห็น เพราะไม่มีการจัดประชุม เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ต้องมาหน้ากระทรวงการคลัง อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่เหมาะสม สามารถรวมตัวพี่น้องเกษตรกรได้จำนวนมาก

โดยการประชุมคณะทำงานฯ ที่ผ่านมา กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ไม่ได้ความเห็นในเรื่องใดเป็นพิเศษ สามารถดำเนินการได้ โดยไม่ผิดระเบียบข้อบังคับ เพราะทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมายอยู่แล้ว หลังจากนี้เพียงจัดเตรียมเอกสาร และปรับแก้รายละเอียด เพื่อเตรียมเสนอเข้า ครม.

ม็อบชาวนา
ชรินทร์ ดวงดารา

เมื่อถามว่ามีความกังวลในเรื่องใดหรือไม่ ชรินทร์ กล่าวว่า จนถึงตอนนี้ยังมีความมั่นใจว่าจะสำเร็จในครั้งนี้ เนื่องจากการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะครั้งที่ประชุมกับ เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับปากว่าจะดำเนินการเรื่องนี้ให้สำเร็จ และหวังว่ารัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีจะมีความเข้าใจในปัญหา และความทุกข์ยากของเกษตรกรที่ต้องแบกรับภาระหนี้สิน ท่ามกลางวิกฤตมากมาย กองทุนฟื้นฟูฯ จึงเป็นความหวังเดียวในตอนนี้

ซึ่งหาก ครม. มีมติเห็นชอบโครงการในครั้งนี้ จะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้ในกลุ่มแรกที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน คือ เสี่ยงต้องการถูกยึดทรัพย์ บังคับคดีได้ จำนวน 50,621 ราย โดยกองทุนฟื้นฟูฯ จะชำระหนี้แทนเกษตรกรในอัตรา 50% ของหนี้เงินต้น จำนวน 4,600 ล้านบาทโดยประมาณ รวมค่าใช้จ่ายดำเนินคดี ซึ่งงบประมาณดังกล่าวจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล แต่เกษตรกรที่จะได้รับการชำระหนี้แทน ต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตากหลักเกณฑ์ และชำระหนี้ต่อกองทุนฟื้นฟูฯ ได้ครบถ้วน

และเนื่องจากโครงการดังกล่าว เป็นโครงการระยะยาวที่จะช่วยเหลือสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งหากมีมติ ครม. แล้วจะสามารถช่วยเหลือชาวนาได้ต่อเนื่องถึง 300,000 ราย โดยชรินทร์ กล่าวว่า แม้จะต้องใช้งบประมาณ แต่เมื่อเทียบกับงบประมาณพัฒนาในส่วนอื่นแล้ว ถือว่าน้อยมาก สิ่งนี้จะสามารถช่วยให้เกษตรกรมีอาชีพต่อไปได้ และเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูและแก้ปัญหาหนี้สินในระยะยาว ไม่ให้กลับมาเป็นวงจรหนี้สินแบบไม่รู้จบ อย่างที่เป็นอยู่


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้