กรมสุขภาพจิตพบอายุน้อยลง ซึมเศร้า-ฆ่าตัวตายเพิ่ม ช่วงโควิด -19

จิตแพทย์แนะสถาบันการศึกษา-สร้างภูมิคุ้มกันใจ หลังพบแนวโน้มคนอายุน้อยลง ป่วยซึมเศร้า และฆ่าตัวตาย เพิ่มขึ้นช่วงโควิด-19 เฉพาะปี 2563 อยู่ที่ 7 คนต่อแสนประชากร

หลังสถานการณ์โควิด- 19 เด็กๆ ต้องเจอกับแรงกดดันรอบด้าน ล่าสุดเพิ่งมีข่าว นิสิต ป.โท ม.เกษตร คณะวิศวกรรม กระโดดตึกเสียชีวิต เวลานี้อาจจะเร็วเกินไปถ้าจะสรุปว่า สาเหตุมาจาก เพราะเครียดจากการเรียน หรือสาเหตุอื่น แต่ต้องยอมรับว่า หลังการระบาดของโควิด-19 อัตราการฆ่าตัวตายเริ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากการรวบรวมข้อมูลของกรมสุขภาพจิต ยังพบด้วยว่า ส่วนใหญ่มาจากโรคซึมเศร้า และอายุของคนที่ฆ่าตัวตายก็น้อยลง

สอดคล้องกับข้อมูล 5 ปีย้อนหลังจากการขอเข้ารับบริการปรึกษาเชิงจิตวิทยา ม.เกษตรศาสตร์บางเขน ช่วงปี 2560-2564 พบนิสิตขอเข้ารับคำปรึกษา เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะหลังโควิด- 19 โดยเฉพาะปี 2563-2564 ที่พบตัวเลขนิสิตขอเข้ารับคำปรึกษามากกว่า 800 คน

ที่มา : ศูนย์สุขภาวะนิสิต KU Happy Place มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

อ.เอื้ออนุช ถนอมวงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยา คณะสังคมศาสตร์ และคณะกรรมการดูแลศูนย์สุขภาวะนิสิต KU Happy Place มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า ช่วงวัยรุ่น เป็นวัยที่คาบเกี่ยวสู่ความเป็นผู้ใหญ่ ปัญหาส่วนตัว ทั้งเรื่องครอบครัว ความรัก และการปรับตัวกับเพื่อน ล้วนเกี่ยวโยงและกระทบกับเรื่องเรียนซึ่งเป็นภารกิจหลัก จากการเก็บข้อมูล ม.เกษตรฯ พบว่าเกือบครึ่ง หรือ ประมาณ 48% เป็นปัญหาเรื่องเรียน และช่วงที่พบความเครียดหนักหน่วงที่สุดเป็นช่วงที่เรียนอยู่ปี 3 ปี 4 เพราะเป็นช่วงรอยต่อวัยเรียนกับวัยทำงาน การสอบ และภาวะกดดันจึงเป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้นความเครียดของเด็กๆด้วย โดยมองว่า แต่ละชั้นปี ก็มีปัญหาไม่ต่างกัน โดย ม.เกษตรฯ มี KU Happy Place ศูนย์ดูแลช่วยเหลือเด็กด้านสุขภาพจิต ที่นิสิตสามารถ walk-in เข้ามาได้โดยเฉพาะกรณีเร่งด่วน เช่น มีอาการทางจิตชัดเจน อย่างหูแว่ว ประสาทหลอน หรือมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย ต้องช่วยเหลือให้ทันท่วงที ซึ่งกลไกนี้ ถือเป็นภารกิจหลักของมหาวิทยาลัย ที่ต้องดูแลคุณภาพชีวิตควบคู่กับการให้ความรู้ เพราะถ้านิสิตเรียนอยู่ในสถาบันอย่างไม่มีความสุข หรือเรียนแล้วเจ็บป่วย ก็ถือว่าไม่ใช่ความสำเร็จของสถาบันการศึกษาด้วย

ขณะที่ ผศ. รัชด ชมภูนิช รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิตและพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า วิกฤตการณ์จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ต่อเนื่องเป็นระยะ เวลานาน ส่งผลให้นิสิตได้เรียนรู้ และพัฒนาศักยภาพตนเองในหลากหลายมิติ เพื่อปรับตัวให้สามารถดำเนินชีวิตภายใต้อุปสรรคต่าง ๆ เช่น การปรับตัวด้านการเรียนการสอน การดูแลสุขอนามัย การบริหารจัดการ ค่าใช้จ่าย รวมถึงการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งการปรับตัวอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้นิสิตเกิดภาวะความเครียดต่อเนื่องสะสม การปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงนี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่อาจก่อให้เกิดจุดวิกฤต หากไม่ได้รับการสร้างภูมิคุ้มกัน

โดยเตรียมปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินการในอนาคต เน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพจิตของนิสิตมากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมให้นิสิตสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจได้ด้วยตนเอง สามารถสังเกตและให้คำปรึกษาเบื้องต้น เพื่อช่วยเหลือกันและกันได้ตลอดจนประสานจิตแพทย์จากภายนอกมหาวิทยาลัยมาดูแลด้านสุขภาพจิตของนิสิตอย่างใกล้ชิด ในระยะแรก กำหนดจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาวะเชิงรุก “KU Happy Fair 2022”รูปแบบออนไลน์ ให้แก่นิสิต คณาจารย์ บุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านการดูแลนิสิต และผู้ปกครอง ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ – 18 มีนาคม 2565 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชิญชวนให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการดูแล สุขภาพใจ เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเรื่องการดูแลสุขภาพใจ การดูแลช่วยเหลือจิตใจซึ่งกันและกัน พร้อมแนวทางการดำเนินชีวิตในมหาวิทยาลัยได้อย่างมีความสุข ประชาสัมพันธ์ให้นิสิตทราบช่องทางติดต่อ เพื่อรับบริการด้านการดูแลสุขภาพใจ จากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายใน และภายนอก มหาวิทยาลัย KU Happy Fair 2022 จัดขึ้นภายใต้กรอบแนวคิด “การสร้างความสุขจากภายในสู่ภายนอก” ภายในงาน ประกอบด้วยกิจกรรม 5 กิจกรรม ในรูปแบบออนไลน์ ดังนี้

  1. Real You (รักในสิ่งที่เราเป็น)
  2. Real Beauty (ความสุขในชีวิตจริงที่สวยงาม)
  3. Real Club (พักกาย หย่อนใจ ผู้ดูแลใจนิสิต)
  4. Real Love(สร้างแรงบันดาลใจจากภายในสู่ภายนอก)
  5. Real Friends (เพื่อนกันในยามฉุกเฉิน)

โดยในทุกกิจกรรมได้รับ เกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิเชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพใจหลากหลายท่าน ทั้งจากหน่วยงานภายใน และภายนอกมหาวิทยาลัย ได้แก่ จิตแพทย์ นักจิตวิทยา คณาจารย์ ศิษย์เก่า และบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านการ ดูแลใจนิสิตจาก KU Happy Place Center ทุกวิทยาเขต มาร่วมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจร่วมกัน

The Active สัมภาษณ์ประเด็นนี้กับ นิสิต ปี 1 ม.มหาสารคาม เพื่อดูว่า เด็กช่วงวัยนี้กำลังเจอกับความเครียดมิติใดบ้าง “วิศิษ กองคำ นิสิต ปี 1 ม.มหาสารคาม” สะท้อนว่า ช่วงรอยต่อระหว่างมัธยม กับมหาวิทยาลัย เป็นช่วงที่ควรจะได้พูดคุย ปรึกษากับเพื่อนเกี่ยวกับวิชาเรียน และการเตรียมความพร้อม แต่โควิด-19 ซ้ำเติมและทำให้พวกเขา ขาดการติดต่อสื่อสารระหว่างเพื่อน และครู เพิ่มความเครียด และสร้างแรงกดดันให้กับพวกเขามากขึ้น

แม้มหาวิทยาลัยจะมีระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษาที่มีปัญหา แต่เขาก็ยังมองว่าเป็นกลไกสำคัญที่ควรจะเกิดขึ้นในทุกสถาบัน เสียงสะท้อนจากนิสิต ปี 1 ชัดเจนว่า หลังสถานการณ์โควิด-19 ที่ต้องเรียนออนไลน์ ก็ยิ่งทำให้ความเครียด และความกังวลเพิ่มสูงขึ้น และเป็นประเด็นที่สถานศึกษาต้องเร่งรับมือ เพราะถ้าเจอปัญหาหลายด้านรุมเร้าและกระทบการเรียนแบบเรื้อรังก็มีแนวโน้มที่เด็กๆ จะกลายเป็นภาวะซึมเศร้าได้ง่าย และหากเป็นเช่นนั้นจริงก็ยิ่งน่าห่วงมากขึ้น

ขอบคุณภาพจาก : เพจวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ผศ.นพ. พนม เกตุมาน ผู้ชำนาญด้านจิตเวชศาสตร์ เด็กและวัยรุ่น ยืนยันว่า ปัจจัยที่ทำให้เด็กฆ่าตัวตายโดยส่วนใหญ่มาจากภาวะซึมเศร้ามากที่สุด และมีแนวโน้มที่จะเกิดกับเด็กที่อายุน้อยลงเรื่อยๆ สาเหตุสำคัญมาจากการเลี้ยงดูของครอบครัว และสิ่งแวดล้อมในสถานศึกษา ที่กดดัน แข่งขัน และไม่เอื้อต่อการสร้างภูมิคุ้มกันทางใจ โดยมีข้อเสนอเร่งด่วนให้ สถานศึกษา เน้นการสร้างภูมิคุ้มกันทางใจ ให้ความสำคัญต่อสุขภาพจิตของเด็กให้มากที่สุดในช่วงที่สังคมกำลังเผชิญกับปัญหาในหลายมิติ

ขณะที่ ข้อมูลของกรมสุขภาพจิต จะพบว่า อัตราการฆ่าตัวตายในไทยย้อนหลัง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสาเหตุหลักจากโรคซึมเศร้าสูงถึง 6 คนต่อแสนประชากร และทะลุ 7 คนต่อแสนประชากรไปเมื่อปี 2563 หลังการระบาดของโควิด-19 ขณะที่โรคซึมเศร้า ก็เป็นกันเร็วขึ้น มีเด็กมัธยมที่เริ่มเป็นกันมากขึ้น ส่งผลต่ออัตราการฆ่าตัวตายของเด็กที่เพิ่มขึ้นตามไปได้วย โรคซึมเศร้า นอกจากปัจจัยทาง พันธุกรรมแล้ว อีกปัจจัยสำคัญ คือ สภาพจิตใจ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งกลุ่มคนที่ฆ่าตัวตายมากที่สุด คือ คนวัยทำงาน 30-39 ปี แต่ที่ไล่ตามมาติดๆใน 2-3 ปีที่ผ่านมาของไทย และเพิ่มสูงขึ้นคือ เด็ก ที่สาเหตุส่วนใหญ่มาจากความเครียดกับรูปแบบการเรียนที่เปลี่ยนไปหลังโควิด-19 ระบาด

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ