กลุ่มหนุน-ค้านเหมืองอัคราฯ จ.พิจิตร เผชิญหน้าอย่างสันติ หาทางออกร่วมกัน

กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบเหมืองทอง จ.พิจิตร ยัน บริษัทต้องฟื้นฟูและเยียวยาก่อนเปิดเหมือง ด้าน รอง กมธ.ป.ป.ช.​ ระบุควรจัดประชาพิจารณ์ แนะ บ.อัคราฯ ไม่ควรทำเหมืองในพื้นที่ที่มีคนต่อต้าน เช่น จ.จันทบุรี พื้นที่เกษตรชั้นดี 

การได้รับใบประทานบัตรของบริษัทอัคราฯ ทั้งๆที่ยังมี ข้อพิพาทในชั้นศาลอนุญาโตตุลาการ ระหว่างรัฐบาลไทยกับบริษัทคิงส์เกต เป็นเหตุผลหนึ่งที่กรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎรลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงวันนี้ (ุ6 ก.พ.2565) โดยเรียกหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง และกลุ่มชาวบ้านที่สนับสนุนและคัดค้าน ให้ข้อมูล เพื่อหาทางออกร่วมกัน

กลุ่มหนุนการเปิดเหมืองแร่ทองคำกว่า 100 คน ยื่นหนังสือต่อ คณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎรที่ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง

ขณะที่อดีตพนักงานบริษัทอัคราฯ และกลุ่มประชาชนบางส่วน ในพื้นที่อำเภอทับคล้อจังหวัดพิจิตร ยืนถือป้ายที่มีข้อความสนับสนุนการกลับมาเปิดเหมืองทองคำอีกครั้ง ต้อนรับการลงพื้นที่ของ กรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ที่บริเวณที่ทำการอำเภอทับคล้อ ขณะกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำ ส่งตัวแทน เข้าร่วม โดยมีตำรวจ ดูแลสถานการณ์ไม่ให้เกิดการเผชิญหน้ากัน

(จากซ้าย) นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โฆษก กมธ.ป.ป.ช. – นายจารึก ศรีอ่อน ส.ส.จังหวัดจันทบุรี พรรคพลังท้องถิ่นไทย รองประธาน กมธ.ป.ป.ช. – นายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ​ ส.ส.กทม เขตดินแดง ห้วยขวาง พรรคเพื่อไทย เลขานุการ กมธ.ป.ป.ช.

จารึก ศรีอ่อน ในฐานะรองประธานกรรมาธิการฯ บอกว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้​ พบว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ต้องการให้เปิดเหมืองทองอีกครั้ง จากปัญหาปากท้องขณะที่ผู้ได้รับผลกระทบ ในพื้นที่ก็ไม่ได้คัดค้านการเปิดเหมือง แต่ต้องการหาทางออกร่วมกัน โดยบริษัทจะต้องแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ฟื้นฟู และไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำ และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรม​

จารึก บอกกับ The Active ว่าการจะกลับมาเปิดเหมืองควรทำประชาพิจารณ์ให้ชัดเจนเพราะจะสร้างความชอบธรรมในการประกอบกิจการเนื่องจากอาศัยเสียงคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ ในขณะเดียวกันสำหรับพื้นที่ที่คัดค้านการทำเหมืองโดยพบคำขออาชญาบัตรสำรวจแร่ บริษัทก็ไม่ควรไปทำ เช่นที่จังหวัดจันทบุรีซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกผลไม้เกษตรชั้นดี ชาวบ้านไม่ต้องการมีเหมืองแร่

“การลงพื้นที่ในครั้งนี้​ สืบเนื่องมาจากประชาชนในจังหวัดจันทบุรี พบว่ามีการขออาชญาบัตรสำรวจแร่เพื่อทำเหมืองของบริษัทลูกในเครือบริษัทอัคราฯ จึงเดินทางมาดูข้อเท็จจริงและผลกระทบก่อนหน้านี้ ว่าเป็นอย่างไร” 

ขณะที่ ฐิติณัฏฐ์ มุณีรัตย์ อุตสาหกรรมจังหวัดพิจิตร กล่าวว่า แม้บริษัทอัคราฯ จะได้รับการต่ออายุใบประทานบัตร แต่ยังต้องดำเนินการจนกว่าจะมีความพร้อม คาดว่าใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน ก่อนจะดำเนินการต้องแจ้งให้อุตสาหกรรมจังหวัดทราบ มีการขอพื้นที่อนุญาต พื้นที่ป่า จัดตั้งกองทุนประกันสุขภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิต ตั้งคณะกรรมการเพื่อเฝ้าระวังผลกระทบ โดยการต่อประทานบัตร 4 แปลงครั้งนี้เป็นพื้นที่เดิม ไม่ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA แต่ต้องมีรายงานฉบับย่อ และมีการรับฟังความเห็นจากคนในพื้นที่ก่อน ส่วนกรณีผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมา ยังไม่มีหน่วยงานใดชี้ชัดว่ามาจากเหมืองทอง

สื่อกัญญา ธีระชาติดำรง แกนนำชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ ยื่นหนังสือต่อ กมธ. เพื่อให้มีการตรวจสอบเหมืองแร่ทองคำ ว่าได้มีการแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพชาวบ้าน ตั้งแต่ตอนที่เหมืองแร่ทองคำยังเปิดอยู่หรือยัง เหตุใดเหมืองแร่ทองคำจึงได้รับการต่ออนุญาตใบประทานบัตร

สวนทางกับแกนนำชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ จากเหมืองทองคำ สื่อกัญญา ธีระชาติดำรง ระบุว่า เวลานี้ชาวบ้านที่คัดค้านเหมือง ยอมถอยหนึ่งก้าว ไม่คัดค้านการเปิดเหมือง เพราะเข้าใจคนในชุมชนเดียวกันที่มีปัญหาปากท้อง จากโควิด-19 แต่ขอให้มีการพิสูจน์ผลกระทบ กรณีพบชาวบ้านบางส่วนมีสารโลหะหนัก สารหนู แมงกานีส และไซยาไนด์ในเลือดเกินค่ามาตรฐานมาจากการทำเหมืองหรือไม่  เพราะงานวิจัยก็ยืนยันว่า บ่อทิ้งกากแร่ของบริษัทรั่วไหลสู่ภายนอกจริง แต่กลับไม่มีการเอาผิดสะท้อนถึงความไม่โปร่งใส ชาวบ้านต้องฟ้องศาลกันเอง

นอกจากลงพื้นที่ กรรมาธิการฯ ยังตั้งเป้าตรวจสอบอีกหลายประเด็น และเตรียมเรียกคณะกรรมการแร่แห่งชาติ ชี้แจงเหตุผลการอนุญาตต่ออายุประทานบัตรหลังเคยถูกสั่งปิดตามมาตรา 44 รวมถึงกรณีข้อร้องเรียนอื่น เรื่อง การย้ายบ่อทิ้งกากแร่โดยไม่ได้รับอนุญาตและการทำเหมืองนอกเขตประทานบัตร รุกล้ำถนนสาธารณะ​ 

ความโปร่งใสในการสำรวจความต้องเปิดเหมืองของชาวบ้าน

สื่อกัญญา กล่าวอีกว่า การกลับมาเปิดเหมืองทองไม่มีความโปร่งใส ตั้งแต่การสำรวจความคิดเห็นความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งบริษัทเป็นผู้สำรวจในรัศมี 500 เมตรถึง 3 กิโลเมตร ในพื้นที่จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ตั้งแต่ปี 2558-2564 จำนวน 5 ครั้งโดยวิธีการสุ่มตัวอย่าง และระบุว่าส่วนใหญ่ต้องการให้กลับมาเปิดเหมืองได้ ทั้งๆที่ยังมีประชาชนที่คัดค้านการทำเหมืองตกสำรวจ

และแม้คณะกรรมการแร่แห่งชาติ จะกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม ในการอนุญาตว่าต้องมีการตั้งคณะกรรมการควบคุมเฝ้าระวังผลกระทบจากการทำเหมือง ซึ่งอย่างน้อยต้องมีตัวแทนผู้มีส่วนได้เสีย​ แต่ สื่อกัญญา ยังกังวลว่า คณะกรรมการดังกล่าว จะมีเพียงตัวแทน และนักวิชาการจากบริษัทเหมืองทอง โดยที่ผ่านมากรณีเหมืองทองคำ มีการจัดตั้งคณะกรรมการหลายชุด แต่ความเห็น และข้อเสนอของผู้มีส่วนได้เสียแทบไม่ถูกนำไปปฏิบัติ​

ขณะที่ สำเริง มีแก้ว อดีตพนักงานเหมืองอัครา​ฯ ที่เคยอยู่ในห้องหลอมทองของบริษัทอัคราฯ​ เห็นด้วยกับการกลับมาเปิดเหมืองเพราะเชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจในชุมชน เดินหน้าต่อได้ หลังจากที่หลายคนก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างหนัก และเชื่อมั่นในกระบวนการอนุมัติอนุญาตจากภาครัฐ ว่าโปร่งใส ขณะที่ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพก็ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าเกิดจากเหมืองทองคำหรือไม่ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS