ตรวจสอบขั้นตอนพิสูจน์ผลกระทบ เหตุน้ำมันรั่วระยอง ปี 65

ยังไร้ข้อสรุปปริมาณน้ำมันรั่วที่แท้จริง นักสิ่งแวดล้อมหวั่นกระทบกระบวนการพิสูจน์ผลกระทบ ชี้สารเคมีสลายน้ำมันแต่สารตกค้างยังอยู่  พร้อมเปิด 4 ความรับผิดชอบของเอกชน โยงอนาคต EEC ด้าน SPRC แถลงยันพร้อมเยียวยา

วันนี้ (1 ก.พ. 2565) ที่เกาะเสม็ด บริเวณอ่าวพร้าว สภาพชายหาดยังปกติ แม้ก่อนหน้านี้จะพบคราบเขม่าลอยขึ้นที่ชายหาด โดยเจ้าหน้าที่ได้เก็บซับ และเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง หลังเกิดเหตุน้ำมันรั่ว จ.ระยอง ซึ่งตั้งแต่วันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา กองทัพเรือ ยืนยันไม่พบคราบน้ำมันรั่วไหลกลางทะเลแล้ว แต่ยังคงตรวจสอบและติดตามใกล้ชิด 

ทั้งนี้ The Active ตรวจสอบย้อนกลับไปใกล้จุดที่มีปฏิบัติการกำจัดคราบน้ำมันที่รั่วไหลออกมา ซึ่งมีการใช้สารเคมี ที่ชื่อ dispersant เพื่อให้น้ำมันดิบแตกตัวและย่อยสลายได้เอง หากไม่มองจากมุมสูง หรือภาพถ่ายดาวเทียม แต่มองด้วยตาเปล่า ผิวน้ำทะเลแทบไม่เห็นความแตกต่าง

สารเคมีสลายน้ำมัน แต่สารตกค้างยังอยู่ 

ความพยายามก่อนหน้านี้ที่จะสลายคราบน้ำมันให้น้อยที่สุดก่อนเข้าถึงฝั่ง​ โดยใช้สารเคมีจำนวนมาก นำมาซึ่งความกังวลของชาวประมงว่าจะทำให้เกิดการปนเปื้อนตกค้างในทะเล และส่งผลกระทบต่อจำนวนสัตว์น้ำในระยะยาว​ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลก็กังวลเรื่องนี้เช่นกัน

ก่อนที่คราบน้ำมันจะพัดเข้าฝั่ง 1​ วัน​ เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2565 ไพฑูรย์ มกกงไผ่ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพาพร้อมทีมวิจัยได้ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำ ทราย และสำรวจสัตว์หน้าดิน เพื่อเปรียบเทียบ โดยหลังจาก คราบน้ำมันพัดเข้าฝั่งในวันที่​ 29​ มกราคม​ ทีมวิจัยได้กลับมาเก็บตัวอย่างในจุดเดิมอีกครั้ง​ เ​พื่อดูว่าเกิดความเปลี่ยนแปลง​ อย่างไร​ ซึ่งนี่จะเป็นหนึ่งในหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ที่จะยืนยันผลกระทบ ทั้งในมิติของวิถีชีวิตชาวประมง​ และสิ่งแวดล้อม​ 

ไพฑูรย์ อธิบายว่า ขณะที่น้ำมันดิบรั่วออกมาจากท่อ ยังเป็น​ของเหลวเหนียวข้น​ เมื่อถูกสารเคมีสลายคราบน้ำมัน ก็จะเกิดการเปลี่ยนรูปจากของเหลวเหนียวข้นไปเป็นของเหลวที่รวมเป็นเนื้อเดียวกับน้ำทะเล​  และบางส่วนก็ระเหย ซึ่งมีกลิ่น โดยสารประกอบในน้ำมัน ประกอบด้วย กลุ่มปิโตรเลียม ไฮโดรคาร์บอน สารโลหะหนัก ทองแดง​ ปรอท​ และกำมะถัน 

​“การเปลี่ยนรูปของน้ำมันดิบหลังโดนสารเคมีสลายคราบน้ำมัน​ จะทำให้มีอนุภาคเล็กลง จนกลายเป็นเนื้อเดียวกันกับน้ำทะเล​ แต่ไม่ได้หมายความว่าสารประกอบเหล่านี้จะหายไป​  ยังตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม เข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อาหาร”

ค่าออกซิเจนในน้ำ บ่งชี้ความอยู่รอดของสัตว์น้ำ

ขณะที่ วิชญา กันบัว อาจารย์ประจำภาควิชาวาริชศาสตร์ ม.บูรพา กล่าวกับ The Active ว่า​คราบน้ำมันที่ลอยอยู่บนผิวน้ำ​ อาจทำให้ออกซิเจนในน้ำลดลง​ ซึ่งสัตว์น้ำก็จำเป็นต้องใช้ออกซิเจนในการหายใจเช่นเดียวกับคน ทั้งนี้ออกซิเจนในน้ำเกิดจาก​ 1. การสังเคราะห์แสงของพืชในทะเล และ 2.การที่ออกซิเจนในอากาศแพร่ลงสู่ผิวน้ำ โดยคราบน้ำมันจะบดบังแสงอาทิตย์และอากาศไม่ให้ลงสู่ผิวน้ำได้​ กรมควบคุม​มลพิษ​ ระบุค่าออกซิเจนในน้ำของหาดแม่รำพึงมีค่ามาตรฐานอยู่ที่ 4 มิลลิกรัมต่อลิตร

นักวิทยาศาสตร์ได้มีการวัดออกซิเจนในน้ำก่อนที่คราบน้ำมันจะถึงฝั่งพบว่า มีค่าออกซิเจนในน้ำอยู่ที่ 5-6 มิลลิกรัมต่อลิตร ส่วนหลังจากที่คราบน้ำมัน ถึงฝั่งแล้ววัดค่าออกซิเจนในน้ำ ก็ยังอยู่ที่ค่าเดิมคือ 5-6 มิลลิกรัมต่อลิตร 

“ค่าออกซิเจนในน้ำที่ไม่ลดลงเป็นเพราะอัตราส่วนน้ำทะเลมากกว่าน้ำมันที่รั่วไหลออกมา และทะเลไม่ใช่แหล่งน้ำนิ่ง จึงยังไม่ใช่น้ำเสีย แต่ก็ต้องมีการวัดอย่างต่อเนื่อง”

อย่างไรก็ตามประเด็นที่ ชาวประมง และนักสิ่งแวดล้อม​ กังวลมากว่า​ ก็คือ​ สารตกค้างจากสารเคมีสลายคราบน้ำมันในทะเล​

บทเรียนการเยียวยาเหตุน้ำมันรั่ว ปี 56 

เหตุการณ์น้ำมันรั่วครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ถอดบทเรียนในปี 2556 น้ำมันรั่วที่จังหวัดระยอง บริษัทเอกชนแสดงความรับผิดชอบ ในการชดเชย ให้กับชาวประมงพื้นบ้านเป็นเวลา 1 เดือน ด้วยเงิน 1,000 บาทต่อวันเป็นเวลา 1 เดือนรวมเป็นเงิน 30,000 บาท หลังจากนั้นมีกลุ่มชาวประมงบางกลุ่มที่มองว่าการชดเชยเพียงเท่านี้ยังไม่เพียงพอ จึงมีการฟ้องร้องกันเป็นคดี ล่าสุดอยู่ในชั้นศาลฎีกาโดยเมื่อเดือน ก.ย.2563 ศาลอุทธรณ์ สั่ง pttcg จ่ายชดเชยเพิ่ม ชาวประมงรับคนละ 1.5 แสนบาทจากเดิมได้ 9 หมื่นบาท ผู้ประกอบการท่องเที่ยวรายละ 1.2 แสนบาทจากเดิมได้ 6 หมื่นบาท ซึ่งทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนนำชาวบ้านยื่นฎีกาขอค่าชดเชยเพิ่มขึ้นอีก คาดว่าศาลจะมีคำพิพากษาปลายปีนี้ 

4 ความรับผิดชอบของเอกชน กรณีน้ำมันรั่ว 

ส่วนเหตุการณ์น้ำมันรั่วในครั้งล่าสุด หลายฝ่ายก็ถามหา ความรับผิดชอบจากบริษัทเช่นกัน แบ่งออกเป็น 3 เรื่อง เรื่องแรกคือปฏิบัติการ เก็บกู้ และกำจัดคราบน้ำมัน ค่าสารเคมี ใช้งบประมาณของใคร บริษัทมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบมากน้อยแค่ไหน หรือ​ ใช้งบประมาณแผ่นดินโดยที่บริษัทผู้ก่อมลพิษ ควรจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเหล่านี้โดยตรงและทั้งหมดหรือไม่ 

เรื่องที่ 2 การชดเชยเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ผู้ประกอบการ ร้านค้าต่างๆ ริมหาดที่หยุดชั่วคราว และ ชาวประมง ที่จะหาสัตว์น้ำลดลงจากเดิม จะมีหลักเกณฑ์ในการช่วยเหลืออย่างไร 

เรื่องที่ 3 คือการฟื้นฟูธรรมชาติในระยะยาว บทเรียนในอดีตพบว่าบริษัทเอกชนผู้ก่อมลพิษ ไม่เคยมีแผนฟื้นฟู อยากจริงจัง เหตุน้ำมันรั่วคราวก่อนทำให้ เคย(กุ้งขนาดเล็ก) ซึ่งนำมาทำกะปิขึ้นชื่อของจังหวัดระยอง หายไป​ ชาวประมงหาจับไม่ได้อีก ซึ่งแผนการฟื้นฟูระยะยาวเป็นสิ่งที่ชาวประมงคาดหวังมากที่สุด เพราะหากทะเลมีความอุดมสมบูรณ์ จำนวนสัตว์น้ำก็จะเพิ่มมากขึ้นรายได้ของพวกเขาก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

เรื่องที่ 4 บทลงโทษทางกฎหมาย ล่าสุดมีเพียงกรมเจ้าท่าที่ดำเนินคดีกับบริษัทฐานกระทำการด้วยประการใดๆ ปล่อยให้สารเคมีหรือเคมีภัณฑ์รั่วไหลเข้าไปในทะเลน่านน้ำไทย มีความผิดตามมาตรา 119 ทวิ พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย ซึ่งความผิดมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

อัยการชี้รัฐมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย ชาวบ้านฟ้องแพ่งคดีกลุ่ม 

ขณะที่ ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการในหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานกระบวนการยุติธรรมสถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยผ่านทางเฟซบุ๊กกรณีน้ำมันรั่วที่ระยอง ว่าภาครัฐมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ ทรัพย์สินของรัฐ และค่าใช้จ่ายในการขจัดคราบน้ำมันที่รั่วไหลจากบริษัท SPRC ได้ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฯ มาตรา 96 ที่กำหนดว่า ในกรณีที่มีการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษทำให้ทรัพย์สินของรัฐเสียหาย ไม่ว่าการรั่วไหล หรือแพร่กระจายของมลพิษนั้นจะเกิดจากการกระทำโดยจงใจ หรือประมาทเลินเล่อของเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษหรือไม่ก็ตาม รวมทั้งในกรณีที่มีการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษและราชการต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการขจัดมลพิษที่เกิดขึ้นให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษนั้น มีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายที่เกิดขึ้นให้แก่รัฐด้วย ซึ่งเป็น “หลักความรับผิดโดยเคร่งครัด” กล่าวคือ เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษต้องรับผิดแม้จะไม่ได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อก็ตาม

นอกจากนี้ ยังมีมาตรา 97 ที่กำหนดให้บุคคลที่กระทำหรือละเว้นการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการทำลายหรือทำให้สูญหาย หรือเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นของรัฐ หรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายไปด้วย

สำหรับประชาชนที่ได้รับความเสียหายที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาวประมง ผู้ประกอบการต่างๆ และผู้อยู่อาศัยที่ได้รับผลกระทบ มีสิทธิเรียกร้องให้บริษัท SPRC ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นได้ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมาตรา 96 เช่นเดียวกัน ตามที่มาตรา 96 กำหนดไว้ว่า 

ในกรณีที่มีการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย หรือสุขภาพอนามัย หรือเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหายเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษนั้นมีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหาย ไม่ว่าการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษนั้นจะเกิดจากการกระทำโดยจงใจ หรือประมาทเลินเล่อของเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษหรือไม่ก็ตาม โดยยื่นฟ้องต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีแพ่งด้วยการดำเนินคดีแบบกลุ่ม

ข้อเท็จจริงปริมาณน้ำมันรั่ว สะท้อนขอบเขตความรับผิดชอบเอกชน

นอกจากปฏิบัติการเร่งกำจัดคราบน้ำมันแล้ว กระบวนการที่เดินไปพร้อมกัน คือการตรวจสอบ ความเสียหายที่แท้จริง ซึ่งก็มีข้อสังเกตจาก สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมจากกลุ่ม EEC Watch ว่า ข้อมูลการรั่วไหลของน้ำมัน ยังคงไม่มีความชัดเจนจากช่วงแรกที่ระบุว่าน้ำมันรั่ว 400,000 ลิตร บริษัทระบุว่า 50,000 ลิตร ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องนี้​ ซึ่งอาจต้องตรวจสอบเอกสารปริมาณนำเข้าน้ำมันที่บริษัทแจ้งกับกรมศุลกากร มาหักลบกับปริมาณน้ำมันที่เหลือเพื่อให้รู้ว่า น้ำมันรั่วออกไปเท่าใด ซึ่งขั้นตอนการตรวจสอบเหล่านี้ ได้มีการดำเนินการทันทีหลังจากเกิดเหตุหรือไม่​ หรือมีความพยายามในการปรับลดตัวเลขให้น้อยที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ 

สมนึก ระบุ ทราบว่ามีการใช้สารสลายคราบน้ำมันถึง 80,000 ลิตร โดยปกติสารชนิดนี้จะใช้สลายคราบน้ำมันในอัตราส่วน 1:10 นั่นหมายความว่าหากใช้สารสลายคราบน้ำมัน 80,000 ลิตร จะต้องมีน้ำมันรั่วถึง 800,000 ลิตร ซึ่งบริษัทก็ระบุจำนวนน้ำมันที่รั่วไหลลงมาเรื่อยๆ 

เหตุน้ำมันรั่วระยองซ้ำ โยงอนาคต EEC 

นักวิชาการสิ่งแวดล้อมยังมองอีกว่า ธุรกิจขนถ่ายน้ำมันของโรงกลั่นเป็นไปตามมาตรฐานสากลหรือไม่ ขณะที่เหตุน้ำมันรั่วที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งสะท้อนว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เคยนำสิ่งที่เกิดขึ้นมาเป็นบทเรียนเพื่อออกมาตรการควบคุมหรือหาทางแก้ไข

ดั้งนั้นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีมาอย่างต่อเนื่อง และซับซ้อน ในพื้นที่ของนิคมมาบตาพุด จังหวัดระยอง​ จึงนำไปสู่คำถามถึงนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC ที่มีหลายโครงการเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเช่นกัน​ เพราะในปัจจุบันปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้ และเกิดซ้ำซาก

บริษัทฯ พร้อมเยียวยา  ทั้งระยะสั้นและระยะยาว 

บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC ได้ออกแถลงการณ์เพิ่มเติมเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2565 โดยระบุว่า บริษัทฯ ยินดีที่จะรับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งระยะสั้น และระยะยาว บริษัทฯ ได้ร่วมมือกับทางจังหวัดในการจัดตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ในกรณีน้ำมันดิบรั่วไหล ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหล สามารถติดต่อและยื่นเรื่องได้ที่ จุดรับเรื่องราวร้องทุกข์ กรณีพบคราบน้ำมันดิบรั่วไหล ณ บริเวณชายหาด บ้านสบ๊าย สบาย รีสอร์ท ตำบลตะพง เวลา 9.00 – 15.30 น. ไม่เว้นวันหยุด หรือสามารถติดต่อได้ที่เบอร์ 1567

“บริษัทฯ ขอแสดงความเสียใจและขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและจะดำเนินการอย่างดีที่สุดเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลรวมถึงชายฝั่ง บริษัทฯขอขอบคุณที่ได้รับความสนับสนุนเป็นอย่างดีทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน”

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS