มติ กมธ. เห็นชอบนิยาม ‘ประมงพื้นบ้าน’ ตามที่เครือข่ายฯ เสนอ

เครือข่ายประมงพื้นบ้าน ชี้สัญญาณดี เชื่อสกัดนายทุนแทรกแซง แต่ไม่ประมาท จับตาแก้กฎหมายประมง ม.32 ใกล้ชิด ขณะที่ ตัวแทน กมธ. ไม่กลัว EU ขู่ให้ใบเหลือง มั่นใจแก้กฎหมายสอดคล้องอนุสัญญาระหว่างประเทศ

วันนี้ (28 มี.ค. 67) ตัวแทนประมงพื้นบ้าน 18 จังหวังชายทะเล ในนามสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ยื่นหนังสือต่อตัวแทนกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ระบุถึงข้อกังวลต่อการพิจารณาแก้ไข พ.ร.ก.ประมง

โดยเฉพาะการนิยาม ประมงพื้นบ้าน ที่เป็นประเด็นสำคัญในวาระการพิจารณาของกรรมาธิการวิสามัญพิจารณากฎหมายดังกล่าว ซึ่งพวกเขามองว่านิยามใหม่ ไม่ต้องมีการสนับสนุนประมงท้องถิ่นประมงขนาดเล็ก และอาจเปิดช่องเอื้อให้กลุ่มประมงที่มีประสิทธิภาพสูง เข้ามาทำประมงในเขตชายฝั่งทะเล เกิดความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียมในการทำประมง และมากไปกว่านั้นคืออาจกระทบต่อฐานทรัพยากรความยั่งยืนทางทะเลด้วย

ตัวแทนประมงพื้นบ้าน ยังได้จัดเสวนาออนไลน์ที่รัฐสภา สะท้อนข้อกังวลต่อการแก้ไข พ.ร.ก.ประมง พ.ศ. 2558 พวกเขา ย้ำว่าเห็นด้วยในหลักการที่จะมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายประมงเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำของประเทศซึ่งมีมูลค่าหลายแสนล้านบาทต่อปี ให้เกิดความยั่งยืน

แต่เป็นไปได้ว่าการแก้ไข อาจทำให้นิยามประมงพื้นบ้าน ถูกบิดเบือนจากข้อเท็จจริง ด้วยการลบวัตถุประสงค์เพื่อการคุ้มครองชาวประมงพื้นบ้าน และชุมชนประมงท้องถิ่นออกไป ดังนั้นจึงขอให้ทบทวนเรื่องนี้ พร้อมด้วยข้อกังวลอื่น ๆ รวม 5 ประเด็นสำคัญ

  1. ข้อกังวลที่มีการยกเลิก ข้อกำหนดวัตถุประสงค์ “เพื่อปกป้องคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือ หรือสนับสนุนชาวประมงพื้นบ้าน และชุมชนประมงท้องถิ่น” ถือเป็นการลดความสำคัญในการช่วยเหลือการประมงพื้นบ้าน หรือการประมงขนาดเล็กลง

  2. การกำหนดให้สามารถลดเขตทะเลชายฝั่งลงได้อีก ให้น้อยกว่า 1.5 ไมล์ทะเล ซึ่งเท่ากับ เปิดให้ประมงพาณิชย์สามารถเข้ามาทำการประมงใกล้เขตทะเลชายฝั่งมากขึ้น และการแก้ไขเขตทะเลชายฝั่งให้หดแคบลงน้อยกว่า 1.5 ไมล์ทะเล เป็นการถดถอยล้าหลัง ยิ่งกว่า ปี พ.ศ. 2515

  3. การกำหนดให้กรรมการภาคประชาชนในคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด มาจากการแต่งตั้ง โดยให้เป็นอำนาจโดยตรงของผู้ว่าราชการจังหวัด ทำให้ไม่มีหลักประกันว่า จะมีการสรรหาคัดสรรอย่างไรให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรม และครอบคลุมผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้จริง

  4. การเปิดช่องให้กลุ่มทุนประมงพาณิชย์ สามารถแทรกแซงครอบงำ “ประมงพื้นบ้าน” ได้ โดยฝ่ายบริหารไม่สามารถกำกับควบคุม หรือปกป้องสิทธิประโยชน์ของชุมชนประมงท้องถิ่นได้อีก ปัจจุบันได้เปิดช่องให้ “อวนลากคู่ อวนลากเดี่ยว อวนล้อมจับ อวนปั่นไฟจับปลากะตัก อวนล้อมจับกะตัก เรือคราดทุกชนิด ที่ใช้กับเรือต่ำกว่า 10 ตันกรอส ซึ่งเดิม เป็นประมงพาณิชย์ กลายเป็น “ประมงพื้นบ้าน” แทน

  5. ร่างกฎหมาย มีลักษณะ เอื้อประโยชน์ให้ผู้ที่ต้องการละเมิดกฎหมาย ทำลาย กอบโกยทรัพยากรธรรมชาติ ได้อย่างสะดวกมากขึ้น โดยนอกจากยกเลิกการจำคุกแล้ว ยังลดอัตราค่าปรับในการทำผิดให้น้อยลง และให้ประกันเรือออกไปทำประมงผิดได้ซ้ำอีก

ตัวแทนชาวประมงพื้นบ้าน ย้ำทั้งน้ำตา หวังว่า ฝ่ายต่าง ๆ โดยเฉพาะกรรมาธิการฯ จะนำข้อกังวลเหล่านี้ไปประกอบการพิจารณาทบทวน เพราะเป็นประเด็นสำคัญที่จะส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำทางทะเล และฐานทรัพยากรทางทะเลที่อาจถูกทำลายมากขึ้น

มติ กมธ. ย้ำให้นิยาม ‘ประมงพื้นบ้าน’ ตามที่ภาคประชาชนเสนอ

ล่าสุด The Active ได้รับรายงานว่า กรรมาธิการฯ เสียงส่วนใหญ่ มีมติให้นิยาม ประมงพื้นบ้าน ตามที่เครือข่ายประมงพื้นบ้านเสนอ โดยให้ หมายความว่า “การทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่ง และทะเลนอกชายฝั่ง ไม่ว่าจะใช้เรือประมง หรือใช้เครื่องมือโดยไม่ใช้เรือประมง ในกรณีที่ใช้เรือประมง บุคคลในครอบครัว จะต้องเป็นผู้ลงเรือประมงด้วยตนเอง ทั้งนี้ที่มิใช่เป็นการประมงพาณิชย์”

ตัวแทนประมงพื้นบ้าน มองว่า มติดังกล่าวถือเป็นสัญญานที่ดี ทั้งนี้เพื่อป้องกันการเข้ามาแทรกแซงกลุ่มนายทุน ที่จะมาทำประมงพื้นบ้านแทน แต่ก็ต้องติดตามการพิจารณาแก้ไขกฎหมายดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการพิจารณา มาตรา 32 ในการขออนุญาตเรือประมงพื้นบ้าน ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ออกมาล่าสุด ให้เรือต่ำกว่า 10 ตันกลอส ที่ติดเครื่องมือประมงประสิทธิภาพสูง เช่น อวนลากคู่, อวนล้อมจับ, เรือคราดทุกชนิด และการให้นิยามประมงพาณิชย์ ที่ยังให้อำนาจฝ่ายบริหารสามารถกำหนดให้เรือขนาดต่ำกว่า 10 ตันกลอส ที่เคยเป็นประมงพาณิชย์ เปลี่ยนมาเป็นประมงพื้นบ้าน ซึ่งจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการทำประมง และส่งผลกระทบต่อการทำประมงในเขตทะเลชายฝั่ง และฐานทรัพยากรทางทะเลที่อาจถูกทำลาย

ขณะเดียวกัน ปลอดประสพ สุรัสวดี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 พ.ศ….. ได้พบกับกลุ่มประมงพื้นบ้าน พร้อมยืนยันว่า พื้นที่การทำประมงไม่ควรมีข้อจำกัด ควรเปิดกว้าง และการดูแลความปลอดภัยซึ่งกันและกัน ควรเปิดโอกาสให้กับทุกคน ว่าแต่ละคนทำได้แค่ไหน ให้คำนึงถึงความจำเป็น และความเป็นไปได้ในการประกอบอาชีพประมง และการใช้พื้นที่

ส่วนกรณีความขัดแย้ง มองว่า ไม่ควรทะเลาะกันโดยมีความแข่งขันกันได้เป็นเรื่องธรรมดา แต่ให้มีความประนีประนอมซึ่งกันและกัน ทั้งเรือประมงพาณิชย์ และประมงชาวบ้าน

สำหรับการแก้ไขกฎหมายประมง (ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 255) ไม่เพียงแต่คนไทยที่จะต้องจับตามอง นานาชาติเองก็กำลังจับตามองอยู่เช่นกัน โดยเฉพาะสหภาพยุโรป หรือ EU ที่ขู่ให้ใบเหลือง หรือ มาตรการคว่ำบาตรอื่น ๆ ต่อประมงไทย เพราะกังวลว่าการแก้กฎหมาย จะไปลดการควบคุมประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่มีการจัดทำรายงาน และไร้การควบคุม หรือ IUU Fishing

‘ก้าวไกล’ ไม่กังวล EU เล็งให้ใบเหลืองประมงไทย

วรภพ วิริยะโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ตัวแทนจากฝ่ายค้าน ระบุว่า ไม่ได้กังวลเรื่องนี้ เพราะว่า กฎหมายที่แก้ไขนี้ในสภาฯ ทุกพรรคการเมืองต่างโหวตเห็นชอบทั้งหมด เนื่องจากเห็นตรงกันว่ากฎหมายฉบับเก่ามีปัญหาจริง ๆ เช่น บทลงโทษที่มีความรุนแรง หากมีเรือประมงทำผิด 1 ลำ เรือลำอื่น ๆ ที่มีในครอบครองก็จะถูกลงโทษด้วย ซึ่งมองว่าไม่เป็นธรรม

วรภพ วิริยะโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล

“ยืนยันว่าทุกพรรครวมถึงก้าวไกล ไม่ได้มีเจตนาย้อนกลับไปในช่วงก่อนปี 2558 ที่ไม่มีการควบคุมการทำประมงที่ดีพอ ดังนั้นการแก้ไข เพื่อทำให้มีความเหมาะสมมากขึ้น”

วรภพ วิริยะโรจน์

ส่วนที่นานาชาติกังวลเรื่อง IUU นั้น วรภพ ยืนยันว่า การแก้กฎหมายนี้สอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ไทยทำข้อตกลงไว้ในเรื่องการประทำประมง ซึ่งอนุสัญญานั้นยังคงให้สิทธิไทยในการออกแบบบทลงโทษกับการกระทำความผิดร้ายแรง

“มั่นใจว่าการแก้กฎกมายจะไม่ทำให้กลับไปโดนใบเหลือง IUU การควบคุมการขึ้นทะเบียนเรือ การป้องกันการค้ามนุษย์ ยังมีอยู่ครบถ้วน”

วรภพ วิริยะโรจน์

‘สมาคมการประมงฯ’ โต้แก้กฎหมาย ริดรอนสิทธิ ‘ประมงพื้นบ้าน’

ด้าน มงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมาธิการฯ ตัวแทนจากฝ่ายเอกชน กล่าวถึงข้อกังวลของชาวประมงพื้นบ้าน ว่า ได้ทำความเข้าใจกันแล้ว เรื่องการการลดเขตชายฝั่ง ซึ่งมีปัญหาเพียง 2 จังหวัดเท่านั้น เพราะมีเกาะติดกันที่ไม่สามารถประกาศเขตได้ และมีประมงขนาดเล็กใช้เครื่องมือประมงพาณิชย์เข้าไปทำประมงจึงทำให้เกิดปัญหา กรมประมงจึงเสนอออกข้อยกเว้นไว้ แต่ชาวบ้านกลัวว่าจะนำไปใช้เป็นการทั่วไป โดยได้หารือกับกรรมาธิการฯ ชุดก่อนแล้ว ไม่ได้มีปัญหา เพียงต้องระบุพื้นที่ให้ชัดเจนว่าตรงไหน

มงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย

สำหรับข้อกล่าวหาการริดรอนสิทธิประมงพื้นบ้าน ก็ไม่เป็นความจริง ในกฎหมายเก่ามาตรา 34 ที่ให้ชาวประมงพื้นบ้านสามารถทำประมงได้เฉพาะเขตชายฝั่ง ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ออกประกาศแล้วว่าอนุญาตให้ออกนอกเขตชายฝั่งได้

ทั้งนี้ข้อกังวลคำนิยามประมงพื้นบ้าน ถ้าหากชาวประมงไม่เห็นด้วย ก็จะนำไปพูดคุยกันในที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ ยืนยันว่าพยายามช่วยเหลือประมงพื้นบ้านให้ประกอบอาชีพได้ เพียงแต่กฎหมายเดิมยังไม่มีมาตราไหนที่บังคับใช้กับประมงพื้นบ้าน และในคำนิยาม ตามมาตรา 4 ที่ตัดคำว่าชุมชนประมงพื้นบ้านออกไป ความจริงเขียนว่าคุ้มครองทั้งหมดทั้งประมงพื้นบ้าน และพาณิชย์ที่ถูกกฎหมาย

“ร่างกฎหมายที่แก้ไขอยู่นี้ จะช่วยปลดล็อกให้กับประมงพื้นบ้าน อย่างมองว่าทำเพื่อใคร เราทำเพื่อภาพรวมประเทศ ปัญหาเก่าสะท้อนเรื่องเอกสารต่าง ๆ เพราะเราไปดูงานมาเจอว่า ประมงพื้นบ้าน จะขายสินค้าไม่ได้ถ้าไม่ทำเอกสารการตรวจสอบย้อนกลับ ซึ่งเป็นเรื่องยาก แต่ในกฎหมายใหม่ เราต้องทำให้ง่ายต่อชาวบ้านมากขึ้น”

มงคล สุขเจริญคณา

ส่วนประเด็นที่ EU จะให้ใบเหลืองไทยนั้น มงคล มองว่า ยุโรปไม่ได้เข้าใจกฎหมายไทยอย่างแท้จริง และไทยก็เป็นประชาธิปไตยแล้ว อีกทั้งร่างกฎหมายนี้ไม่มี สส. คนไหนคัดค้านในสภาฯ เชื่อมั่นว่า รัฐบาลนี้เข้าใจประมงไทยดีกว่ารัฐบาลก่อน และสามารถชี้แจงให้ยุโรปเข้าใจได้ 

พร้อมทั้งมั่นใจว่าไทยจะไม่โดนใบเหลือง เพราะไทยไม่ได้แก้หลักการ IUU เพียงแต่ต้องตีความให้ชัดเจน เนื่องจากกฎหมายฉบับเก่า ตีความบทลงโทษเรือประมงให้มีความร้ายแรงทั้งหมด

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active