เตือน ‘ไพโรไลซิส แก๊สโซลีน’ เผาไหม้ สารก่อมะเร็ง

นักวิชาการเคมี-นักสิ่งแวดล้อม ประสานเสียง ‘ไพโรไลซิส แก๊สโซลีน’ จากเหตุไฟไหม้ในนิคมฯ มาบตาพุด จ.ระยอง อันตรายถึงชีวิต ย้ำต้องบอก ประชาชนป้องกัน ใส่หน้ากาก N95 ขึ้นไป ตั้งคำถาม ไฟไหม้ซ้ำซาก มาจากระบบป้องกันไม่ดีพอ ขาดการตรวจสอบหรือไม่

วันนี้ (9 พ.ค. 2567) จากกรณีไฟไหม้ บริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินอล จำกัด ภายในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ตั้งแต่เวลาประมาณ 10.45 น. ทำให้ทางจังหวัดระยองประกาศภาวะฉุกเฉินระดับ 2 พร้อมอพยพคนงานและประชาชนออกจากพื้นที่ โดยเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นกับถังเก็บวัตถุดิบ สารไพโรไลซิส แก๊สโซลีน (Pyrolysis gasoline)

เหตุไฟไหม้ถังเก็บวัตถุดิบ สารไพโรไลซิส แก๊สโซลีน (Pyrolysis gasoline) บ. มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินอล จำกัด
ภายในนิคมฯ มาบตาพุด จ.ระยอง (วันที่ 9 พ.ค. 67 ณ เวลาประมาณ 15.00 น.)

บริษัท เผย ‘สารไพโรไลซิส แก๊สโซลีน’
ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม-มีผลต่อสุขภาพระดับต่ำ

ประชาสัมพันธ์จังหวัดระยอง เผยว่า บริษัทได้ออกแถลงการณ์ 2 ฉบับ ฉบับแรก ระบุว่า บริษัทฯ ได้ระดมทีมเพื่อควบคุมสถานการณ์ในทันทีที่เกิดเหตุตามแผนรับมือเหตุฉุกเฉิน โดยได้ตัดแยกระบบ และหยุดกิจกรมต่าง ๆ ภายในโรงงานตามขั้นตอนความปลอดภัย ขณะนี้อยู่ระหว่างการหาสาเหตุเบื้องต้น ได้รับแจ้งว่ามีผู้ใด้รับบาดเจ็บ 4 ราย ซึ่งได้นำส่งโรงพยาบาลและอยู่ในความดูแลของแพทย์เรียบร้อยแล้ว โดยเหตุดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ สารไพโรไลซิส แก๊สโซลีน เป็นสารที่อาจจะส่งผลต่อสุขภาพในระดับต่ำ

ขณะที่ฉบับที่ 2 ได้ชี้แจง เพิ่มเติมว่า มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวน 4 คน ได้นำส่งโรงพยาบาลและอยู่ในความดูแลของแพทย์ ต่อมาได้รับแจ้งว่ามีพนักงานเสียชีวิต 1 คน โดยบริษัทฯ ได้ดูแลและให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บและผู้เสียชีวิตอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ สารประกอบไฮโดรคาร์บอน C9+ เป็นผลิตภัณฑ์พลอยได้ (by product) จากการผลิตสารตั้งต้นในการผลิตเม็ดพลาสติก โดยได้แยกเบนซีน โทลูอีน มิกซ์ไซลีน ออกหมดแล้ว ซึ่งใช้เป็นตัวทำละลายในอุตสาหกรรมต่าง ๆ (Solvent) บริษัทฯ ขออภัยในเหตุที่เกิดขึ้น และจะพยายามอย่างเต็มที่ในการควบคุมสถานการณ์

นักเคมีเห็นแย้ง ชี้ ‘สารไพโรไลซิส แก๊สโซลีน’ เผาไหม้ อันตรายถึงชีวิต 

ด้าน รศ.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยกับ The Active ว่า สารไพโรไลซิส แก๊สโซลีน มีอันตรายต่อสุขภาพในระดับต่ำถ้าอยู่เฉย ๆ เมื่อไปสัมผัส สูดดม อาจส่งผลต่อสุขภาพในระดับต่ำ แต่ถ้าเผาไหม้ก็จะเกิดเป็น “ไฮโดรคาร์บอน” ที่ก่อให้เกิดเขม่าควัน ฝุ่น PM2.5 ที่มีขนาดเล็กเท่าเม็ดเลือดแดง ซึ่งควันสีดำที่เกิดจากไฟไหม้จะมีสารเคมีเหล่านี้ เมื่อหายใจเข้าไปจะเกิดการระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ และสารเคมีที่เข้าสู่กระแสเลือด เข้าสู่ปอด

ต่อมาคือทำให้เกิด “ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์” ที่มาจากการเผาไม้ เกิดไอน้ำ ซึ่งจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อมนุษย์ ถ้าขาดอากาศหายใจจะทำให้เสียชีวิตได้เช่นกัน และหากในระหว่างที่เกิดเหตุออกซิเจนไม่เพียงพอ จะเกิดการเผาไหม้ที่เรียนว่า “การเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์” ที่เกิดเป็น “ก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์” เป็นก๊าซพิษที่ทำให้เฮโมโกลบิน ไม่สามารถไปเลี้ยงสมองได้ จะเกิดอาการเวียนศีรษะ สมองขาดออกซิเจน ทำให้เสียชีวิตได้

รศ.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

“เป็นการให้ข้อมูลที่ตัวเองได้ประโยชน์ คือข้อมูลมี 2 ด้าน ภาวะปกติก็มีพิษต่ำต่อมนุษย์ แต่ไม่พูดถึงเมื่อเกิดการเผาไหม้ คุณให้ข้อมูลเพื่อซัพพอร์ต ที่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายตน ให้ดูเบา แต่ตอนนี้ไม่ใช่ มันเกิดการเผาไหม้ ระเบิด ยังดีที่เขามีระบบปล่อยแรงดันออก ไม่งั้นอาจจะระเบิดแรงกว่านี้ เพราะไวไฟมาก เพราะฉะนั้น ควรจะบอกถึงมาตรการเยียวยา การอพยพรัศมี 1 กิโลเมตร การแจกหน้ากากที่ป้องกัน PM2.5 ซึ่งราคาสูง บริษัทต้องกระจายให้กับชุมชน รวมทั้งการรับบผิดชอบผลกระทบทั้งหมด ถึงจะถูกต้อง”

รศ.วีรชัย พุทธวงศ์

รศ.วีรชัย ย้ำว่า สารเคมีกลุ่มนี้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต่อระบบนิเวศน์ ทำให้ต้นไม้เหี่ยวตาย หากลงแม่น้ำก็จะทำให้ปลาตาย การปนเปื้อนลงสู่ผิวดิน ซึ่งบริษัทต้องพูดให้หมด พร้อมแนะนำประชาชน ให้สวมหน้ากาก N95 หากมีอาการต้องรีบพบแพทย์ และหากบ้านเรือนอยู่ในทิศทางลมให้อพยพออกจากพื้นที่

ตั้งคำถามระบบป้องกัน เคยถูกตรวจสอบหรือไม่ ?

ขณะที่ สมนึก จงมีวศิน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย EEC Watch ระบุว่า เหตุที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ถือว่าเกิดขึ้นซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ของบริษัทดังกล่าว มองว่า เกิดจากความหย่อนยาน ไม่ตรวจสอบ เพราะที่จริงจะมีระบบที่ป้องกันไม่ให้เกิดไฟไหม้ “ไม่ใช่ไฟไหมได้ มันต้องห้ามไหม้” คือ ต้องมีระบบที่ป้องกันไม่ให้เกิดประกายไฟ ไม่ให้เชื้อเพลิงและออกซิเจนมาเจอกัน ซึ่งระบบนี้ทุกแห่งต้องออกแบบอยู่แล้ว

สมนึก จงมีวศิน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย EEC Watch

“ซึ่งแทงก์ฟาร์ม หรือ ถังเก็บสารเคมีขนาดใหญ่ ต้องมีระบบ Ex ป้องกันการระเบิด ซึ่งถ้าเกิดประกายไฟที่ไฟฟ้ากระแสต่ำ หรือไฟฟ้ากำลังในโรงงานประกายไฟจะไม่สามารถออกมาในพื้นที่ที่มีสารเหล่านี้อยู่ได้ ซึ่งก็คือ ระบบป้องกันการระเบิด ที่เรียกว่า Explosion Proof หรือย่อว่า Ex ต้องไปดูว่าระบบของเขาดีหรือไม่”

สมนึก จงมีวศิน

สมนึก ระบุอีกว่า หากจะมองเรื่องอากาศร้อน ทำให้เกิดเพลิงไหม้ แต่สารนี้เป็นแก๊ส ไม่สามารถจุดไฟได้ด้วยตัวมันเอง และวันนี้อากาศไม่ได้ร้อนมาก จึงไม่น่าใช่สาเหตุที่ว่าแก๊สมีปัญหาเอง พร้อมตั้งข้อสังเกตกรณีคนงานเสียชีวิต 1 คน และได้รับบาดเจ็บ ว่า อยู่บริเวณนั้นทำอะไรอยู่ เช่น ไปซ่อมบำรุง หรือไปทำอะไรที่ทำให้เกิดประกายไฟหรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องพิสูจน์ เพราะอยู่ดี ๆ แทงก์ฟาร์มจะติดไฟไหม้ง่ายขนาดนี้ บริษัทที่ดีต้องมีการตรวจสอบตลอดเวลา

“เหตุเกิดเป็นครั้งที่ 2 ในไม่กี่ปี ครั้งที่แล้วปี 2564 ครั้งนี้ปี 2567 ต้องถามกลับไปว่ารัฐกำกับดูแลเขาอย่างไร ปล่อยปละละเลยหรือเปล่า ระบบเขาโอเคไหม เช่น มันต้องมีการชัตดาวน์ ตรวจสอบระบบ ตัวแทงก์ฟาร์มต้องทำความสะอาด ตรวจสอบรอยรั่ว ระบบไฟ ตรงไหนมีปัญหาต้องซ่อม ตู้ที่ป้องกันการระเบิดเก่าเกินไปหรือไม่ อันนี้เป็นเรื่องของ Human Error” 

สมนึก จงมีวศิน

อย่างไรก็ตามได้แสดงความเป็นห่วงว่า ไพโรไลซิส แก๊สโซลีน แม้จะอยู่เฉย ๆ ก็อันตราย เพราะอาจจะยังมีอะโรมาติก สารเคมีระเหยง่ายค้างอยู่ แม้ C9 จะมีการสะกัดออกไปแล้ว แต่เชื่อว่ายังมีตกค้าง

“ต้องยืนยันว่าไม่ปลอดภัย และพอเกิดการไหม้ยิ่งอันตรายหนักขึ้น กรณีไม่มีอะโรมาติก เมื่อไหม้จะทำให้เกิดอาการ แสบคอ แสบตา แสบจมูก และยิ่งหายังมีอะโรมาติก ตกค้าง ก็สามารถก่อเกิดโรคมะเร็งได้”

สมนึก จงมีวศิน

การพัฒนาอุตสาหกรรม แลกมาด้วยผลกระทบ ?

ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย EEC Watch ย้ำว่า ในต่างประเทศไม่เป็นแบบนี้ มีแต่ในประเทศโลกที่สาม ที่ยอมถูกย่ำยี เพราะกฎหมายไทยอ่อนแอ และคำนึงถึงทุนมากไป 

“ถามว่าเคยมีกรณีไหนที่ถูกจับแล้วประหารชีวิตไหม คนที่จงใจให้เกิดเหตุ เช่น เผา หรือทำให้เกิดอุบัติเหตุโดยไม่จงใจ จำคุกตลอดชีวิตหรือไม่ มันคือการใช้กฎเกณฑ์ที่เข้มข้น อีกเรื่องคือเจ้าหน้าที่หย่อนยาน ทั้งเจ้าหน้าที่ในโรงงานตรวจสอบกันเองหรือไม่ เจ้าหน้าที่ผ่านรัฐตรวจสอบหรือเปล่า อย่างที่นี่เป็นนิคมอุตสาหกรรม ตรวจสอบหรือเปล่า เพราะจำได้ว่ามีการทบทวน EIA มาตรการก็ต้องทันสมัย ทำไมยังมีเหตุการณ์เกิดขึ้น”

สมนึก จงมีวศิน

สมนึก บอกอีกว่า มาตรฐานอุตสาหกรรมของไทยดีจริงหรือไม่ แล้วการต้องแลกมาด้วยความเสียหายมหาศาลอย่างที่เกิดขึ้นหรือไม่ ที่สำคัญคือตอนนี้โรงงานอุตสาหกรรมมีเยอะเกินไป เกินศักยภาพของมาบตาพุดแล้วหรือยัง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active