ม.เกษตรฯ ส่งทีมวิจัยเก็บข้อมูล ก่อนและหลัง น้ำมันดิบรั่วถึงหาดแม่รำพึง

คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ สั่งเรือวิจัย “เกษตรศาสตร์ 1” พร้อมปฏิบัติการ “ธรณ์” ชี้เพื่อเทียบ before/after วิเคราะห์ศึกษาเปรียบเทียบ ระบุถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน และเชื่อถือได้ หวั่น “ระบบนิเวศหาดทราย” กระทบหนักสุด 

26 ม.ค. 2565 เหตุน้ำมันดิบที่รั่วไหลปริมาณ 400,000 ลิตร พื้นที่ ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง แม้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะระบุเบื้องต้นว่า ใช้สารเคมีชื่อ dispersant กำจัดมวลคราบน้ำมัน และสามารถย่อยสลายไปแล้ว 80% คงเหลือคราบน้ำมันอีกประมาณ 21 ตัน (21,000 ลิตร) โดยสามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว ซึ่งจะไม่ให้พัดพาเข้าเขตชายฝั่ง

ขณะเดียวกัน บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) ออกแถลงการณ์ความคืบหน้าในการเก็บกู้เมื่อเวลา 19.00 ระบุพบว่ามีปริมาณน้ำมันดิบรั่วไหลอยู่ที่ประมาณ 20 – 50 ตัน (20,000 – 50,000 ลิตร) บริษัทฯ ได้ทำการฉีดพ่นน้ำยาขจัดคราบน้ำมัน โดยทางเรือและเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพเรือภาคที่ 1 หลังจากนั้นได้ทำการบินสำรวจพบว่า ขณะนี้บริษัทฯ สามารถควบคุมปริมาณคราบน้ำมันให้อยู่ในวงจำกัด และยังคงมีปริมาณน้ำมันอยู่ในทะเลประมาณ 5.3 ตัน (5,300 ลิตร)

แต่ภาพจากดาวเทียม ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เวลา 10.40 น. พบคราบน้ำมันลอยเป็นกลุ่มก้อนกลางอ่าวมาบตาพุด คิดเป็นพื้นที่ 11.65 ตารางกิโลเมตร (7,280 ไร่) หรือกว่า 2 เท่าของเกาะเสม็ด 

น้ำมันดิบรั่ว มาบตาพุด

GISTDA  ระบุว่า คราบน้ำมันดังกล่าวอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลของอำเภอเมืองระยอง ประมาณ 16.5 กิโลเมตร โดยทิศทางลมระหว่างวันที่ 26-28 มกราคม 2565 มีแนวโน้มเคลื่อนที่ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีระดับความเร็วลมเฉลี่ยอยู่ในช่วง 5-15 เมตร/วินาที ลักษณะดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชายฝั่งเมืองระยอง ชายหาดแม่รำพึง และพื้นที่ชายหาดใกล้เคียง 

เตรียมแจ้งความบริษัทฯ  

โสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ยอมรับว่าค่อนข้างกังวล เพราะคราบน้ำมัน 400,000 ลิตรค่อนข้างมาก ต้องรีบเก็บกู้และล้อมคราบน้ำมันไม่ให้เข้าใกล้ชายฝั่ง เพราะมีแนวปะการัง และเป็นแหล่งท่องเที่ยว กังวลจะซ้ำรอยเหตุคราบน้ำมันรั่วพัดเข้าเกาะเสม็ดเมื่อปี 2556 

ชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการระยอง กล่าวว่า บริษัทจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมายอย่างแน่นอน ซึ่งต้องมาดูว่ากระทบอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังรวบรวมข้อมูลหลักฐาน

คณะประมงฯ​ มก. ส่งทีมวิจัย

ขณะที่ รศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเล คาดว่าพื้นที่เกิดผลกระทบอาจต่างกันจากน้ำมันรั่วปี 2556 โดยครั้งนี้น่าจะกระทบชายฝั่งเมืองระยองบริเวณหาดแม่รำพึง มากที่สุดหากน้ำมันดิบมาถึงหาดทราย จะเกิดคราบดำบนหาดหรือเกิดก้อนน้ำมันดิบ ระบบนิเวศที่ได้ผลกระทบคือ “หาดทราย” ถึงก้นอ่าวส่วนหญ้าทะเลอยู่ที่บ้านเพ สวนสน อาจได้รับผลบ้างแต่คงน้อย เพราะช่วงนี้น้ำไม่ลงต่ำจนแห้ง คราบน้ำมันไม่น่าลงไปบนหญ้าโดยตรง

ล่าสุด คณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สั่งการให้ทีมนักวิจัยเข้าพื้นที่ พร้อมสั่งให้เรือวิจัย “เกษตรศาสตร์ 1” เตรียมพร้อมปฏิบัติการ เพื่อศึกษาผลกระทบด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เพราะเคยมีประสบการณ์ตั้งแต่ครั้งเกาะเสม็ด ต่อเนื่องถึงการสำรวจผลกระทบจากน้ำมันในชายฝั่งต่าง ๆ ของไทย 

การสำรวจแบ่งเป็น 3 ส่วน

  1. ตรวจสอบข้อมูลทางสมุทรศาสตร์ กระแสน้ำ คลื่นลม รวมทั้งการสำรวจชายฝั่งโดยใช้โดรน
  2. การใช้เรือเก็บตัวอย่างน้ำทะเล พื้นทะเล ฯลฯ ในบริเวณที่คาดว่าน้ำมันอาจผ่านเข้ามา
  3. การสำรวจข้อมูลตามชายหาดที่คาดว่าอาจได้รับผลกระทบ

การสำรวจชายหาดแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ศึกษา TPH (Total Petroleum Hydrocarbon) ทั้งในน้ำและในตะกอนทราย รูปแบบของการวิเคราะห์ต้องวางจุดสำรวจตามชายหาดให้ครอบคลุม เจาะท่อลงทราย แบ่งทรายออกมาทีละชั้นก่อนนำไปเข้าห้องวิเคราะห์ อีกส่วนคือการศึกษาสิ่งมีชีวิตที่เป็นตัวชี้บ่งตามธรรมชาติ  (Bio-marker) เช่น สัตว์ตามพื้นทราย ปูทหาร หอยเสียบ โพลีคีตฯลฯ

การเก็บข้อมูลก่อนที่น้ำมันจะเข้ามาเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อเทียบ before/after ถ้าน้ำมันไม่เข้าถึงฝั่ง ก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยเราก็มีข้อมูลไว้ ยังรวมถึงข้อมูลในทะเล

“วิทยาศาสตร์ต้องเก็บตัวอย่าง วิเคราะห์ศึกษาเปรียบเทียบ เพื่อระบุถึงผลที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนและเชื่อถือได้ ในส่วนของคณะประมง เราจะพยายามทำตรงนี้เท่าที่ได้ และจะประสานกับกรมทรัพยากรทางทะเลฯ รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ เพื่อช่วยกันทำงาน”

เช็คมาตรการ EIA

ด้าน สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์เฟซบุ๊กตั้งข้อสังเกต รายงานอีไอเอที่บริษัท สตาร์ ปิโตรเลี่ยม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) ต้องปฎิบัติ ทำครบหรือไม่?

กรณีเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลจากท่อขนส่งน้ำมันใต้ทะลที่แตกเป็นรูรั่วขนาด 0.9 ซม.บริเวณ SPM หรือทุ่นกลางทะลของ บริษัท สตาร์ ปิโตรเลี่ยม รีไฟน์นิ่งจำกัด (มหาชน)ในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยองส่งผลให้มีน้ำมันรั่วไหลในทะเลมากกว่า 400,000 ลิตรซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งระบบนิเวศวิทยาชายฝั่ง แหล่งท่องเที่ยวต่างๆตามมา

รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ของโครงการท่าเทียบเรือบริษัท สตาร์ปิโตรเลี่ยม รีไฟน์นิ่ง จำกัด(มหาชน) ที่ผ่านความเห็นชอบจาก สผ.เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2545 และฉบับเพิ่มเติมวันที่ 9 ก.ค.2552 มีข้อกำหนดให้ต้องปฎิบัติตามมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและถือเป็นเงื่อนไขการอนุญาตที่ผู้ประกอบการต้องปฎิบัติในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันท่อน้ำมันใต้ทะเลแตก คือ

  1. ท่อน้ำมันดิบใต้ทะเลต้องผ่านการลดการสึกกร่อนและการทดสอบทางด้าน Hydrostatic อย่างสม่ำเสมอกล่าวคือต้องได้รับตรวจสอบรอยรั่วของท่อโดยการทดสอบแรงดันที่มากกว่าแรงดันปรกติ 1.5 เท่า นาน 1 ชั่วโมง โดยทำการทดสอบปีละ1 ครั้ง
  2. ติดตั้งระบบป้องกันการผุกร่อนด้วยระบบ Cathodic protection(CP) ซึ่งเป็นระบบที่ป้องกันไม่ให้เหล็กเกิดการกัดกร่อนกลายเป็นสนิม
  3. ท่อใต้ทะเลต้องถูกพอกด้วยคอนกรีตเพื่อป้องกันการผุกร่อนป้องกันการกระแทกจากสมอเรือและป้องกันการทอด สมอเรือในแนวท่อ
  4. ตรวจสอบทุ่นรับน้ำมันเป็นประจำ เช่น ตรวจตา สายตา Checklist ทุกสัปดาห์ ตรวจสภาพทั่วไปโดยสายตาก่อนรับเรือตาม checklist โดยตรวจเป็นประจำทุกๆ เดือน
  5. ให้มีการฝึกซ้อมเตรียมรับสถานการณ์น้ำมันรั่วไหลปีละ1ครั้ง

นายสนธิ ระบุอีกว่า “บริษัทได้ดำเนินการดังกล่าวครบถ้วนหรือไม่ ทำไมจึงเกิดปัญหาท่อน้ำมันรั่วใต้ทะเลอีก”

ไม่ส่งผลกระทบต่อการจัดหาน้ำมัน

สมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน ระบุภาพรวมประเทศไทยมีกำลังการกลั่นน้ำมันประมาณ 1.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในส่วนของโรงกลั่น SPRC มีกำลังการกลั่นประมาณ 175,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งการผลิตของโรงกลั่น SPRC  ยังสามารถดำเนินการได้ และหากมีกรณีที่มีเหตุที่ไม่สามารถดำเนินการผลิตได้ ก็สามารถเพิ่มการผลิตของโรงกลั่นที่ไม่ได้รับผลกระทบ หรือ นำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเข้ามาได้ โดยปริมาณน้ำมันดิบสำรองของประเทศสามารถใช้ได้ประมาณ 28 วัน ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป 

SPRC คือใคร ?

บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC เป็นหนึ่งในผู้ดำเนินธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมชั้นนำของประเทศที่มีส่วนร่วมในการผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจไทยมาอย่างยาวนานร่วม 20 ปีเกิดจากการร่วมทุนระหว่างบริษัท เชฟรอน ผู้ผลิตพลังงานและน้ำมันรายใหญ่ของโลก ถือหุ้น 64% และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 36% โรงกลั่นน้ำมัน SPRC ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

SPRC เป็นเจ้าของและดำเนินธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันแบบที่มีหน่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน (Complex Refinery) ซึ่งมีกำลังการกลั่นน้ำมันดิบ 165,000 บาร์เรลต่อวัน สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมคุณภาพสูงหลากหลายประเภทเช่น ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันเตา และยางมะตอย รวมทั้งผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี เช่น โพรพิลีนเกรดโพลิเมอร์ แนฟทา ก๊าซผสม C4 (Mix C4) และรีฟอร์เมท ด้วยขบวนการผลิตที่เน้นการผลิตน้ำมันเบนซินทำให้ SPRC สามารถผลิตน้ำมันเบนซินในปริมาณเกือบหนึ่งในสามของความต้องการใช้ภายในประเทศ


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS